ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงแม้จะเกษียณไปแล้วแต่ก็ยังสามารถทำงานต่อไปได้ และค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณจะคงอยู่ที่ประมาณ 2 ใน 3 ของเงินเดือนปัจจุบัน ทัศนคติต่อการเกษียณอายุของนักลงทุนชาวเอเชียโดยทั่วไปจึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความมั่นอกมั่นใจมากกว่าความวิตกกังวล
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนชาวเอเชียของแมนูไลฟ์ครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการเกษียณอายุว่า เป็นเวลาแห่งการพักผ่อน การเดินทาง และการใช้เวลากับครอบครัว ตลอดจนการใช้เวลาบางส่วนทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงคาดหวังที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนด 2-3 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังเหล่านี้เป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป และในหลายๆ ด้านก็ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง
ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่กะเกณฑ์ผิดพลาดในเรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุ โดยเฉพาะระยะเวลาที่แท้จริงของวัยเกษียณ ค่าใช้จ่ายประจำวันในวัยเกษียณ และขีดความสามารถในการทำงาน
นักลงทุนหลายคนมักจะประเมินช่วงระยะเวลาของการดำรงชีวิตต่ำเกินไป โดยเห็นได้ชัดจากข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งบ่งบอกว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามของการสำรวจมักจะมีอายุยืนยาวมากกว่าที่เขาคาดคิดถึง 5 ปี สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เงินออมสำหรับวัยเกษียณของแต่ละคนจะถูกใช้จนหมดเกลี้ยงก่อนถึงวาระสุดท้าย
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายคนตั้งเป้าหมายไว้ผิดๆ และมาตระหนักถึงความผิดพลาดตอนที่สายเกินไปแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ หลายคนพยายามที่จะเลื่อนการเกษียณอายุออกไป” นาย Robert A. Cook, President และ CEO ของ Manulife Financial ในเอเชียกล่าว “เราพบเห็นจากการสำรวจครั้งนี้ว่าผู้ที่อยู่ในวัย ยี่สิบต้นๆ คาดหวังที่จะเกษียณตอนอายุ 58 แต่จังหวะเวลาดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปถึง 65 เมื่อเขาเหล่านั้นอายุย่างเข้าสู่ 60 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อคนเหล่านี้อายุมากขึ้น พวกเขาก็จะตระหนักว่าสามารถดำรงชีวิตได้ยาวนานมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งกลุ่มที่ตั้งใจลงทุนอย่างเต็มที่สำหรับการเกษียณอายุต่างบอกว่าพวกเขาน่าจะเริ่มวางแผนออมเงินเร็วขึ้น หรือออมเงินมากขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น”
ยกเว้นในกรณีของประเทศมาเลเซีย ผลสำรวจครั้งนี้ยังบ่งบอกว่านักลงทุนในตลาดอื่นๆ ทุกตลาดให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยเกือบสองในสามของนักลงทุนเหล่านี้เชื่อว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ในวัยเกษียณที่น่าพอใจ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การประมาณการโดยนักลงทุนเองบ่งชี้ถึงช่องว่างส่วนต่างระหว่างเงินออมกับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณเป็นระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี
ผู้ตอบแบบสอบถามของการสำรวจในครั้งนี้คาดหวังว่า ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณจะตกอยู่ที่ประมาณ 64% ของรายได้ปัจจุบัน แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านั้นมาก นักลงทุนชาวเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยยังคงมองวัยเกษียณว่าเป็นระยะเวลาที่มีอิสรเสรีในการทำอะไรก็ได้ (48%) ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเงินที่หามาได้ (41%) และใช้เวลามากขึ้นกับครอบครัวและเพื่อนฝูง (40%) ส่วนใหญ่จะคิดในแง่ดีต่อวัยเกษียณ ยกเว้นนักลงทุนในประเทศอินโดนิเซีย (40%) และฮ่องกง (34%) ซึ่งมีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับเรื่องความชราภาพและปัญหาสุขภาพ
“นักลงทุนชาวอินโดนีเซีย และฮ่องกง เล็งเห็นความสำคัญในการวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล” นาย Michael Dommermuth ประธานฝ่ายบริหารสินทรัพย์ระหว่างประเทศของ Manulife Asset Management กล่าว “ผมคิดว่าพวกเราคงตระหนักดีจากประสบการณ์ในครอบครัวและแวดวงมิตรสหายว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขต่อคนในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าในประเทศสิงคโปร์ และมากกว่า 5 เท่าในอินโดนิเซีย เรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นบริการที่แพงมาก และพวกเราก็มีความจำเป็นในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน”
การสำรวจของแมนูไลฟ์ครั้งนี้ยังบ่งบอกว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของนักลงทุน (54%) คาดหวังที่จะทำงานต่อเนื่องโดยเฉลี่ยไปอีก 6 ปีหลังเกษียณอายุ หรือจนถึงอายุ 66 ปี โดยนักลงทุนในสิงคโปร์ตั้งใจที่จะทำงานต่อเนื่องยาวนานที่สุดจนถึงอายุ 70 ปี และในขณะเดียวกัน นักลงทุนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มองการทำงานในวัยเกษียณเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการทำให้ชีวิตกระฉับกระเฉง มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม และมีสุขภาพดี คนส่วนน้อยบอกว่าจำเป็นต้องทำงานเพราะไม่มีทางเลือก แต่โดยสภาพที่แท้จริงแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถทำงานได้ไม่ว่าตัวเองจะชอบหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากไม่สามารถหางานที่เหมาะสมหรือมีปัญหาสุขภาพ