xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนอย่างมีความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ชวนคนไทยใช้กองทุนรวม
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง
www.bblam.co.th

จะลงทุนอย่างไรให้มีความสุข เริ่มเป็นคำถามที่เข้ามาเรื่อยๆ แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดตก วันนี้จึงขอปัดฝุ่นเรื่องที่อยากให้ผู้ลงทุนทบทวนตนเองกันหน่อยว่าลงทุนอย่างไรถึงจะมีความสุข และพ้นจากความเป็นแมลงเม่ากัน

1. Enjoy กับ Process การลงทุน คำว่า Process คือกระบวนการลงทุนทั้งหมด และ Process คือส่วนประกอบใหญ่อันเป็นที่มาของผลตอบแทน
    
Process หรือกระบวนการลงทุนนี้ ได้แก่ การเรียนรู้ การสะสมความรู้ กระบวนการคิด การวิเคราะห์ การสังเกต การปฏิบัติ (การปฏิบัติก็คือการลงทุนจริง ไม่ว่าจะซื้อหรือขาย) และการสำรวจข้อผิดพลาดกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อลงทุนไปแล้ว
    
ปัญหาของผู้ลงทุนรายย่อยไม่ว่าที่ไหนๆ ก็เหมือนกันคือ ไม่มี Process ใครเขาว่าอะไรดีก็กระโดดลงไปลงทุน บางที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองลงทุนอะไร และลงทุนไปแล้วไม่ว่าได้กำไรหรือขาดทุนก็ไม่เคยไปหาเหตุผลให้ตนเองเรียนรู้ว่ามันเกิดเพราะอะไร เพราะการคาดการณ์ผลการดำเนินงานผิดตรงไหน ฯลฯ
    
ถ้าเราไม่เคยมี Process หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน ข้ามขั้นตอน แล้วไปมัวแต่หมกมุ่นกับผลตอบแทนมากเกินไป มันก็ไม่สร้างสรรค์
    
โดยปกติกะโหลกคนมีสมองเต็ม  แต่เวลาคิดเรื่องลงทุน เรื่องหุ้น สมองหดจู๋เหลือแค่เม็ดถั่วเขียว เหตุผลไม่มี มีแค่อารมณ์
    
ดังนั้น การควบคุมเงินตนเองอย่างเดียวยังไม่พอ  ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ด้วย  ต้องเป็นนายของใจตนเองให้ได้

2. เรียนรู้อยู่เสมอ อย่าตั้งตนเป็นศาสดา อย่างในปีที่ตลาดหุ้นเป็นใจใครๆ เก่งกันไปหมด เพราะในปีที่ตลาดหุ้นดีมากๆ อย่างปี 2546 ที่ดัชนีหุ้นขึ้นไปเกินกว่า 100% และปี 2555 ที่ดัชนีขึ้นไปเกือบจะ 40% ถ้าเราขาดทุนในปีแบบนี้มันไม่ใช่โชคร้ายแล้ว เพราะเราห่วยจริงๆ ห่วยอย่างไม่ต้องให้อภัยตนเองเลย ดังนั้น หากยังรักที่จะลงสนาม ก็ต้องไปค้นหาใน Process ตามข้อ 1 ก่อนว่าเราห่วยเพราะอะไร คิดผิดตรงไหน หรือไม่ได้คิดอะไร คือไม่มี Process อะไรเลยด้วยซ้ำ
    
ในปีดีๆ ใครๆ ก็ได้กำไร แต่เมื่อได้กำไรแล้วอย่าไปคิดว่าเราเก่ง อย่าไปหลงผิดคิดว่าเราเป็นกูรู เพราะเมื่อใดที่หลงก็จะเหลิง พอเหลิงก็เริ่มตั้งตนเป็นศาสดาแล้ว
    
รอให้ผ่านวงจรเศรษฐกิจทั้งดี ทั้งแย่หลายๆ รอบก่อน หากผ่านได้ด้วยดีคนอื่นเขาจะเรียกว่าเราเป็นกูรูเอง คือเหมือนได้สายสะพายจากความสามารถ ไม่ใช่ตั้งตัวเอง ดังนั้น ตอนนี้ควรจะเป็น กูไม่รู้ ไปพลางๆ ก่อน
    
การทำตนเป็นนักเรียน ไม่เป็นครู มีข้อดีที่เราจะได้เรียนรู้อย่างไม่มีอะไรมาปิดกั้น ไม่มีอคติ ดังนั้น จงเรียนรู้อยู่เสมอ

3. ในการทำความรู้จักและเข้าใจตลาด เราต้องรู้จักและเข้าใจตนเองก่อน นั่นก็คือเราควรลงทุนในวิธีที่เหมาะกับตัวเรา ในสิ่งที่เรามีความถนัด มันจะสบายใจกว่าลงทุนนอกกรอบความรู้ของเรา และผลลัพธ์ก็จะดีกว่าด้วย แต่ก็ต้องขยายกรอบความรู้ออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน

4. กำหนดกรอบความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ไว้ก่อนจะลงทุน จะได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าเวลาที่อะไรมันไม่ได้เป็นไปตามที่คาด และจะรู้ได้เร็วว่าเมื่อไหร่ที่เราผิด เมื่อไหร่ที่เรายังถูกอยู่ การรู้สถานะตัวเองเป็นปัจจัยสำคัญของความสบายใจในการลงทุน

5. การขาดทุนเล็กน้อยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำกำไร อย่าไปตื่นเต้นมากเวลาหุ้นลง คุณไม่สามารถ    ได้กำไรทุกครั้งที่ลงทุนหรอก  และอย่าโลภเกินความรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะไม่ได้เงินกับสิ่งที่เราไม่เข้าใจ

6. แยกให้ออกระหว่างสิ่งที่เราอยากให้เป็น กับสิ่งที่มันน่าจะเป็น เพราะทำให้เรามีสติรู้ทันความโลภมากขึ้น

7. ต้องสามารถปล่อยวางกับความผิดพลาดได้ แล้วหาทางแก้ไขแทน เพราะการลงทุนไม่ใช่ Perfect game มัวแต่เจ็บปวดกับตลาดก็ไม่ได้ช่วยอะไร

8. จงเชื่อมั่นแนวคิดของตนเองในการลงทุน และอย่าหลงเชื่อคนอื่นเพียงเพราะว่าเขามีประสบการณ์หรือความรู้ที่มากกว่า เพราะไม่มีใครในตลาดหุ้นที่เป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะตลอดกาล

9. อย่าไปเปรียบเทียบกับนักลงทุนคนอื่นว่าเขาทำกำไรได้มากกว่า  โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น เพราะการที่เราเน้นการ trading นั้น เรื่องอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น อย่าทำอะไรแล้วเป็นการเพิ่มความตึงเครียด

10. ไม่จำเป็นต้องซื้อที่จุดต่ำสุดและขายที่จุดสูงสุด เพราะเป็นการเพิ่มความกดดันให้แสวงหาจุดที่ไม่มีวันเจอ

11. ตลาดเป็นที่รวมของนักลงทุนหลากหลาย ดังนั้น การที่เราเข้าใจว่าคนอื่นคิดอย่างไรจะช่วยให้เราออกรบได้ถูกจังหวะ ให้เกาะกระแสตลาด แต่อย่าไปพยายามทำนายพฤติกรรมในอนาคตของผู้เล่น

12. เปิดใจกว้าง เพราะจิตใจเหมือนร่มชูชีพ มันจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเปิดกว้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น