xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติตั้งได้ แต่ต้องโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย พิชญา ซุ่นทรัพย์
ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง

นอกจากเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และนโยบายช่วยเหลือสินค้าเกษตรแล้ว ประเด็นการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติก็เป็นอีกเรื่องที่แต่ละภาคฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกันมาตลอด แต่มีประเด็นหนึ่งที่ดูเหมือนว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ได้กล่าวเน้น คือ ประเด็นเรื่องความโปร่งใส

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า Sovereign funds (SWFs)เป็นกองทุนที่จัดตั้งและจัดการโดยภาครัฐหรือองค์กรที่รัฐมอบหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปได้ เช่น SWFs บางกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสะสมเงินออมสำหรับลูกหลานในอนาคต  ในขณะที่ SWFs บางกองทุนเป็นเครื่องมือในการกระจายโครงสร้างรายได้จากความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ (เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของรายได้ในการส่งออก) เป็นต้น

เม็ดเงินของ SWFs ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนที่มาจากรายได้จากการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศผู้ค้าน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่เหลือเป็นเม็ดเงินจากเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเพื่อดูแลควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เงินที่รัฐได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  เงินเกินดุลงบประมาณ และเงินจากการขายสินทรัพย์อื่นๆ  (สำหรับประเทศไทยนั้นกล่าวกันว่าจะจัดตั้งกองทุน SWF ด้วยเงินกองทุนระหว่างประเทศ)  ซึ่งแต่ละที่มาก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป แต่จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้

โดยทั่วไปกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น หุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงิน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยจะลงทุนกระจายไปทั่วโลก และเนื่องจากการลงทุนของ SWFs ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่มีระยะเวลายาวนาน (ลงทุนเพื่อให้ลูกหลานในอนาคต) และไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ ทำให้สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

SWFs มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เช่นในช่วงวิกฤต Subprime 2008 บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Citigroup และ Merrill Lynch ที่ประสบปัญหาล้มละลาย ก็ได้ความช่วยเหลือจาก SWF ของจีน และคูเวต นอกจากนี้ SWF ยังเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทที่ขาดเงินทุนในการพัฒนา และมีส่วนช่วยลดกำแพงการค้า กับช่วยสนับสนุนการค้าขายระหว่างประเทศอีกด้วย

แต่ในมุมมองของประเทศอื่นที่ SWFs นำเงินไปลงทุน ก็คือ “SWFs ของประเทศอื่นที่มาลงทุนในประเทศเรา ต่างถูกควบคุมโดยรัฐบาลต่างชาติ รัฐบาลท้องถิ่นจึงจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะรับเม็ดเงินของ SWFs ที่เข้ามา เพราะการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทท้องถิ่นก็มีความเสี่ยงเรื่องการถูกขโมยความลับทางการค้า ซึ่งจะส่งผลเสียในเชิงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหรือของประเทศได้”

ดังนั้น เรื่องความโปร่งใสจึงเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างหนัก เพราะมี SWFs จำนวนมากที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ วัตถุประสงค์การลงทุน ผลการดำเนินงาน ฯลฯ ซึ่งการไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สร้างความกังวลใจเกี่ยวกับ SWF อย่างมาก

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก ข้อมูล กันยายน 2013

และเพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนของประเทศที่ SWF เข้าไปลงทุน สถาบันกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจึงจัดทำแผนภาพที่แสดงถึงระดับความโปร่งใส กลยุทธ์การลงทุน และขนาดกองทุนของ SWFs ขึ้นมา โดยจะเห็นได้ว่า SWF ที่มีระดับความโปร่งใสสูงเป็นของประเทศที่มีกฎข้อบังคับที่เข้มงวด อย่าง นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ในขณะที่ SWF ของประเทศที่มีระดับความโปร่งใสต่ำ ตกเป็นของ แอลจีเรีย จีน ลิเบีย และซาอุดีอาระเบีย

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน  มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คอยดูแลกฎข้อบังคับเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน  แต่การตระหนักถึงความโปร่งใสยังมีไม่มาก แม้จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการผลักดันของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)  สำนักงาน ก.ล.ต. และองค์กรเอกชนบางแห่ง

เมื่อดูถึงดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จัดทำล่าสุดเมื่อปี 2012  ไทยอยู่ที่อันดับ 88 จาก 176 ประเทศ ด้วยคะแนนเพียง 37 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน  ต่ำกว่าซาอุดีอาระเบียและจีนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความโปร่งใสต่ำและอยู่ที่อันดับ 66 และ 80 ตามลำดับ  จึงเป็นปัจจัยด้านลบต่อการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ ในการยอมรับให้ SWFs ของประเทศไทยที่มีความโปร่งใสน้อย และมีการคอร์รัปชันของคนในประเทศสูง เข้าไปลงทุนในประเทศของตน

นอกจากนี้ การที่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขในโครงการจำนำข้าวได้อย่างน่าเชื่อถือด้วยมาตรฐานการทำบัญชีสากลอย่างที่บริษัทจดทะเบียนไทยและบรรดากองทุนต่างๆ เขาจัดทำกัน ก็เป็นประเด็นหลักที่ส่งผลลบต่อประเทศไทยในเรื่องความโปร่งใสและความจริงใจของภาครัฐในการไม่เอาคอร์รัปชัน

เพราะฉะนั้น ในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ นอกจากจะพิจารณาถึงเรื่องความเหมาะสมของการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศมาตั้งกองทุน กับพิจารณาถึงเรื่องประโยชน์กับข้อเสียของกองทุนแล้ว ความพร้อมในเรื่องความโปร่งใสของกองทุนและของประเทศก็เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้วย

เพราะถึงแม้จะมีเงินทุนมากมาย แต่ถ้าไม่มีใครไว้วางใจให้เข้าไปลงทุนในประเทศของเขาแล้ว กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาก็คงจะไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะเป็นแหล่งทุนที่ให้คนบางกลุ่มนำไปฉกฉวยผลประโยชน์เข้าตนเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น