xs
xsm
sm
md
lg

CIMBชวนลุยบอนด์อิงเงินหยวน เชื่อดีมานด์-รัฐบาลมังกรหนุนแข็งค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ซีไอเอ็มบี ชวนลงทุน"เงินหยวน"เปิดขาย"ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล CNH ลิงค์ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น"ไอพีโอถึงวันนี้เท่านั้น มั่นใจดีมาน์ และการผลักดันเงินหยวนเป็นสกุลหลักของโลกหนุนแข็งค่าขึ้นอีก ระบุผลตอบแทนสูงสุดถึง 5.50% ต่อปี

นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนบลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลจำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเห็นว่าในช่วงนี้เป็นโอกาสที่เหมาะจะลงทุนใน “เงินหยวน” หรือ “ตราสารหนี้สกุลเงินหยวน” หรือ ตราสารทางเลือกอื่นเช่น structure note อ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ทำการเสนอขายกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล CNH ลิงค์ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น (CIMB-PRINCIPAL CNHLINK) อายุ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมนี้

สำหรับกองทุนนี้จะลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้และstructure note ที่มีการอ้างอิงกับการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลตอบแทนจากการลงทุนมีโอกาสรับสูงสุดถึง 5.50%ต่อปีเมื่อค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไป 0.25%ในช่วงระยะเวลาการลงทุน 6 เดือนนี้ หรือในกรณีที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าไม่ถึงตามเงื่อนไขผลตอบแทนขั้นต่ำที่ลูกค้าจะได้รับคือ 0.50%ต่อปี

“ย้อนหลังไป15 เดือน ที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นประมาณ 3.9% หรือจากประมาณ 6.35 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์มาที่ประมาณ 6.1 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นคือเกิดจาก 3 ตัวแปรหลักคือ 1) ความต้องการเงินหยวนที่แท้จริงจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 2)นโยบายจากภาครัฐที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลก และ 3)ปัจจัยบวกระยะสั้นจากนอกภูมิภาค"นายเจษฎากล่าว

นายเจษฎา กล่าวอีกว่า การที่ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเงินหยวนได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากหรือเรียกว่ามีความต้องการซื้อขายกันล้นหลามโดยบริมาณการใช้เงินหยวนนั้นเพิ่มขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ความต้องการใช้เงินหยวนจะมาจากหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อของจากจีนมาขายในประเทศซึ่งต้องจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินหยวน กลุ่มวัยกลางคนที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศจีนมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้านที่ซื้อทัวร์ไปไหว้พระสวดมนต์ในประเทศจีน ซึ่งเราเรียกรวมๆว่าการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง การค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการสะพัดของเงินหยวนที่มากขึ้น (Capital Flow) ซึ่งดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจากการติดต่อซื้อขายกับต่างชาติ เมื่อเงินหยวนเป็นที่ต้องการของต่างชาติมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการแข็งค่าของค่าเงิน มากไปกว่านั้นการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในสกุลหยวนและดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของการลงทุนในติ่ม ซำ บอนด์ เป็นอีกแรงหนุนที่ส่งผลบวกต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน

อีกปัจจัยสำคัญคือการที่รัฐบาลจีนได้สนับสนุนการใช้เงินหยวนในรูปแบบต่างๆโดยมีความมุ่งหมายให้เงินหยวนเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เงินหยวนมีความผันผวนต่ำและเหมาะสมต่อการค้าการลงทุน การสนับสนุนการลงทุนในประเทศจีนในด้านกฏหมายและการสร้างแรงจูงใจต่างๆเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้บริษัทต่างชาติระดมทุนในสกุลเงินหยวนเพื่อสร้างปริมาณการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น