xs
xsm
sm
md
lg

Bualuang House View : Brand Image กับการเติบโตอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
ทีมจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม และดูเหมือนจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น วิถีการดำเนินชีวิตและความต้อง การของผู้บริโภคเอเชียกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคชาวเอเชียมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น แทนที่จะซื้อเพียงเพราะประโยชน์ของตัวสินค้า แต่กลับยอมจ่ายเพิ่มเพราะ Brand Image ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพ และภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสถานะทางสังคม

การที่หยิบยกเรื่อง Brand Image มาพูดถึงในบทความนี้ เนื่องจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558 จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีความชำนาญและเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

แต่สิ่งที่ยังขาดในสินค้าประเทศไทย คือ การสร้างแบรนด์สินค้าที่จะนำไปสู่การเติบโตในตลาดระดับสากล

ทุกวันนี้ Brand และกิจกรรมทางการตลาดเกิดขึ้นและกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังเลือกซื้อ Brand ของสินค้าเพราะคิดว่า Brand นั้นๆ มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า เอามาเสริมเอกลักษณ์ในตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของดีไซด์คุณภาพหรือแม้กระทั่ง Brand Positioning ด้วย ดังนั้น การมี Brand จึงเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านราคาและก่อให้เกิดความจงรักภักดีของลูกค้าต่อ Brand นั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโดยรวมแล้ว Brand จากประเทศฝั่งตะวันตกมักเป็นที่นิยมอย่างกว้างขว้างมากกว่า ซึ่งเป็นเพราะเขามีการศึกษาวิจัยและลงทุนสร้าง Brand มากกว่าประเทศฝั่งะวันออก

ในการทำธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในสังคมทุนนิยม นักธุรกิจจึงต้องตระหนักว่า ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าเพียงเพราะชื่อ Brand ของสินค้า นอกจากนี้ การมี Brand ที่ดียังเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวสินค้ามีความโดดเด่นออกมาจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี และการมี Brand ยังเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดันบริษัทให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เหมือนบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNCs : Multinational Corporations) อย่างเช่น NIKE, Starbucks, Siemens, McDonalds และ Gillette เป็นต้น

บริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจาก Brand ของตัวเอง ถึงแม้ว่า Brand จะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่อาจจับต้องได้ก็ตาม ซึ่งผลที่ได้จากการที่บริษัทสามารถสร้าง Brand ระดับโลกได้ก็คือ บริษัทจะมีรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทที่อยู่ในตลาดทุนเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตในอนาคตอันใกล้แล้วจะพบว่าการเปิด AEC มีประโยชน์แก่บริษัทที่มี Brand Image ที่แข็งแรง เพราะเมื่อ Brand เป็นที่รับรู้แล้ว บริษัทจะสามารถเพิ่มรายได้ผ่านการเปิดตลาด AEC ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นได้

ดังนั้น แม้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะมีคู่แข่งจำนวนมากท่ามกลางการเปิด AEC แต่เราก็เชื่อมั่นว่าบริษัทที่มี Corporate Brand ชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก AEC และจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าจากการเปิด AEC ได้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มี Brand Image ที่แข็งแกร่งบวกกับมีธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของ Brand

ถึงแม้ว่าเราจะเพิ่งผ่านวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่ไทยก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านการค้าปลีกที่เติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นรองก็เพียงอินโดนีเซีย เห็นได้จากอัตราการเติบโตที่ 7% ในปี 2554 และแม้ว่าจะเป็นค่านิยมของคนไทยที่มองว่า Brand จากฝั่งยุโรปมีภาพลักษณ์ดีกว่า Brand ภายในประเทศ แต่เราก็ยังเชื่อว่าผู้ผลิตคนไทยสามารถพัฒนาคุณภาพของสินค้าและ Brand ไทยให้เทียบเท่ากับ Brand ต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในบริษัทไทยในปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพาณิชย์

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงมองเห็นโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัททั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยแทนที่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เราพบว่าในการผลิตนั้นบริษัทไทยสามารถสร้าง Brand ของตนเองซึ่งจะเพิ่มมูลค่าของตัวบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของกำไรสุทธิ หรือการเพิ่มมูลค่าของ Intangible Asset จากการสร้าง Brand Value

ที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ การที่นักลงทุนลงทุนในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่เขาเชื่อว่าจะเติบโตได้จากการขยายฐานการผลิตและการลงทุนในการทำการตลาดผนวกกับการสร้าง Brand ถึงแม้หุ้นเหล่านั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อดูจาก P/E Ratio ที่สูงแล้วก็ตาม

ประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายยุค 1980 เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตซึ่งได้รับผลบวกจากค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำของภาคอุตสาหกรรม ไทยเริ่มก้าวเข้าสู้การค้าระดับสากลในบทบาทของผู้ส่งออกข้าว ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ ณ เวลานั้น ผู้บริโภคภายในประเทศยังไม่มีกำลังซื้อ อีกทั้งการบริโภคในประเทศยังไม่เติบโต เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่ได้รับความสะดวกในด้านการใช้จ่ายจากทั้งภาครัฐและเอกชนก่อนเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ยุคบริโภคนิยมจึงไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น

เมื่อความต้องการภายในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นเพราะลักษณะการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามกำลังซื้อที่มากขึ้น ผู้บริโภคจึงเริ่มคำนึงถึง Brand มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความสะดวกในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การมีเครดิตการ์ด การผ่อนจ่ายเป็นงวดในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการคนไทยก็เริ่มสร้าง Brand กันมากขึ้น เป็นการสะท้อนถึงการรับรู้ว่าความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ บวกกับแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เราจึงมองเห็นว่าการมี Brand และ Brand Image ที่ดีของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มพาณิชย์ โรงพยาบาล หรือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จะสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

บลจ.บัวหลวง จึงมีความมั่นใจในเชิงบวกต่ออนาคตของบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เราจึงเลือกเฟ้นหาหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรและเติบโตที่ส่วนหนึ่งมาจากการสร้าง Brand Image และสามารถได้มาซึ่งความจงรักภักดีต่อแบรนด์และสินค้าของบริษัทในที่สุด ดังนั้น พอร์ตการลงทุนของกองทุนบัวหลวง จึงได้สะท้อนถึงมุมมองของการลงทุนที่คำนึงถึงผลตอบแทนระยะยาวจากการคัดสรรหุ้นที่มีคุณภาพที่จะทำให้เราเติบโตไปกับหุ้นนั้นๆ อย่างมั่นคงและยั่งยืน เหมือนสโลแกนของ Gucci ที่ว่า “Quality is remembered long after the price is forgotten”


กำลังโหลดความคิดเห็น