โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
•Guy Ryder ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศแถลงในเวทีการประชุมประจำปีของ World Bank และ IMF ว่า อัตราการว่างงานทั่วโลกในปัจจุบันยังสูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการเงินในปี 2551 ถึง 30 ล้านคน และยังมีอีกเกือบ 40 ล้านคนที่เลิกคิดจะหางานทำแล้ว โดยในจำนวนคนว่างงานทั่วโลกกว่า 200 ล้านคนนั้นมีอายุต่ำกว่า 25 ปีมากถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ แม้ตลาดแรงงานทั่วโลกจะมีแรงงานเพิ่มขึ้น 40 ล้านคนต่อปี แต่กลุ่มคนที่มีงานทำ 900 ล้านคนกลับไม่สามารถหาเงินให้พอที่จะพ้นจากเส้นความยากจนที่วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐได้ และเมื่อมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลกระทบมากกว่าที่เคยคาด จึงต้องเร่งทบทวนกรอบเวลาของการทำให้งบประมาณสมดุลโดยด่วนและขยายเวลาให้ยาวขึ้น
ถ้อยแถลงของเขาสอดคล้องกับที่ Christine Lagarde ผอ. IMF กล่าวในวันเดียวกัน แต่ Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี ยืนยันว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดลดหนี้ลงเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP สูง ส่วนแรงต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติของโลกประชาธิปไตย
•Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เห็นสัญญาณเชิงบวกและมุมมองในแง่ลบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นกว่าเมื่อหลายเดือนก่อน เนื่องจากยูโรโซนมีเครื่องมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจยุโรปที่มีประสิทธิภาพแล้ว และธนาคารในยูโรโซนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ กับมีความคืบหน้าในการจัดตั้งสหภาพธนาคารยุโรปซึ่งสำคัญมากที่จะต้องตกลงกันได้ในวันแรกของปีหน้า แต่กว่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น
•ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของฝรั่งเศสในเดือน ส.ค.แตะระดับ 4 พันล้านยูโร จาก 2.6 พันล้านยูโรในเดือน ก.ค. ส่วนยอดขาดดุลด้านสินค้าเดือน ส.ค.อยู่ที่ 5.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ระดับ 4.3 พันล้านยูโร
•ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีเปิดเผยว่า โครงการรับซื้อพันธบัตรในยูโรโซนของอีซีบีส่งผลต่อตลาดแม้จะยังไม่ได้เริ่มทำจริง เพราะข่าวดังกล่าวได้คลายความกังวลในวิกฤตหนี้ของภูมิภาคได้บ้าง โดยเห็นได้จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสมาชิกที่ลดลง
•สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและเดินหน้าใช้นโยบายเงินหยวนตามกลไกตลาด เนื่องจากการส่งเสริมความต้องการภายในประเทศให้แข็งแกร่งจะเป็นผลดีต่อจีนและเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง โดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีการพัฒนาไปในเชิงบวก จากตัวเลขการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
•ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 4.7% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2543 อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนี PPI จะสูงขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนนัก และสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับภาวะซบเซาในตลาดแรงงาน
•Paul Krugman กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีมุมมองเชิงบวกเกินไปต่อเศรษฐกิจ โดยทีมงานของโอบามาไม่สามารถเล็งเห็นถึงสิ่งที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างยอมรับกันว่าวิกฤตการเงินที่รุนแรงได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวได้ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องการการใช้จ่ายของภาครัฐมาช่วยกระตุ้น
•IMF เปิดเผยว่า การขยายตัวของ GDP เอเชียในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 เป็นผลจากวิกฤตในยุโรปและปัญหาทางการคลังส่งผลกระทบไปยังช่องทางการค้า ขณะที่การฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประสบภาวะทรุดตัว ทั้งนี้ คาดว่าการขยายตัวจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต และเอเชียน่าจะยังคงเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยจะขยายตัวเร็วกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของโลกอยู่ 2%
•รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นเดือนที่ 3 (เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ที่ลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจ) เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงยอดการส่งออกชะลอตัวลง พร้อมกับเตือนเรื่องความไม่แน่นอนที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน และวิกฤตหนี้ยูโร
•จีนมีแนวโน้มจะขาดดุลการท่องเที่ยวกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อยลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจีนจะลดลง 2.2% เหลือ 132 ล้านคน
•ยอดส่งออกของจีนเดือน ก.ย.เท่ากับ 1.8635 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นผลมาจากการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของจีนเพิ่มขึ้น 9.1% ขณะที่การค้ากับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นลดลง
•รัฐบาลและธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียจะขยายตัว 2% ในปีหน้า โดยมีความกังวลมากขึ้นในเรื่อง 1. เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจเข้าสู่ช่วงที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ 2. วิกฤตหนี้สินในยูโรโซนคงยังไม่คลี่คลายในเร็วๆ นี้ และ 3. การปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงและการเพิ่มภาษีในสหรัฐฯ
•GDP ไตรมาส 3 ของสิงคโปร์หดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิคซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัวลง โดยสิงคโปร์เคยเผชิญกับภาวะถดถอยดังกล่าวมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1.5-2.5% ในปีนี้
•ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2.7% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ แม้การลงทุนจะหยุดชะงัก เนื่องจากมีแรงหนุนจากกิจกรรมในภาคธุรกิจเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น
•สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ในปีหน้าจะมีผู้ว่างงานที่จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 1.6-1.7 แสนคน จากปัจจุบันที่มีบัณฑิตจบใหม่ตกงานประมาณ 1.45 แสนคน โดยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกับการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท จะทำให้นายจ้างไม่จ้างคนใหม่เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อผู้จบปริญญาตรีในเดือน ก.พ.ปีหน้า
•กรมการค้าภายในพบว่า ราคาผักสดช่วงเทศกาลกินเจสูงกว่าปกติ เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์
•ธปท.จัดงานครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งในวันที่ 14 ต.ค. เวลา 20.00 น. ที่ ธปท. โดย Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี จะแสดงปาฐกถาเรื่อง “Asia and Europe What we can learn from each other : Towards aneconomic policy model for the future”
Equity Market
•SET Index ปิดที่ 1,296.98 จุด เพิ่มขึ้น 2.08 จุด หรือ 0.16% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34,581.45 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 455.85 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนบวก-ลบสลับกันตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย
•ไพบูลย์ นลินทรางกูร CEO บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ และมีสภาพคล่องในตลาดโลกจำนวนมากที่ต่างหาโอกาสเข้ามาลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน โดยตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากที่สุดในอาเซียนในสายตานักลงทุนต่างชาติ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปได้ต่อ และอาจทำให้ดัชนีเป้าหมายในปีหน้าขึ้นไปถึง 1,450 จุด
•บล.กสิกรไทยคาดว่า หุ้นไทยระยะสั้นในสัปดาห์หน้ามีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยต้องติดตามผลการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป ตัวเลขการส่งออก กับผลการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท.
•บล.เอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นไทยฟื้นเพื่อฟุบ จึงแนะนำให้ทยอยลดพอร์ตหุ้นที่อยู่ในข่ายปรับฐานแรงกว่าตลาด เพราะแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยจะขึ้นน้อยกว่าตลาดโลกหลังจากดีดขึ้นมามากถึง 26.3% ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสทดสอบระดับแนวรับ 1,237 จุด ซึ่งมีนัยสำคัญ ส่วน บล.ไทยพาณิชย์มองว่าข่าวดีมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และยังคงเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 1,300 จุด แต่หากมีเงินต่างชาติไหลเข้ามามากอาจจะหนุนให้ดัชนีขึ้นไปถึงระดับ 1,350 จุดได้ โดยคาดว่าหุ้นจะบวกต่อไปในเดือนนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและกำไรบริษัทจดทะเบียน ส่วนเดือน พ.ย.จะผันผวน และเดือน ธ.ค.จะมีเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเข้ามาซื้อหุ้น และมองแนวโน้มในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงขาลงในช่วงครึ่งปีแรก
Fixed Income Market
•อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ในช่วงระหว่าง 0.00% ถึง 0.02% มูลค่าการซื้อขายรวม 80,269 ล้านบาท