xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อที่ทำให้ผู้นำไม่ก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปจากเเฟ้มภาพ
โดยอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร
บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com
ติดตามข้อคิดในการบริหารเพิ่มเติมได้ที่ twitter@apiwutp

การเป็นผู้นำที่ดีมีปรัชญาและคำสอนมากมายที่ควรปฏิบัติตาม แต่รู้หรือไม่ว่ามีความเชื่อบางอย่างที่หากยึดถือมากเกินไป อาจทำให้ความก้าวหน้าในฐานะผู้นำต้องหยุดชะงักลง

ลองมาดูว่าความเชื่อเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

ความจริงคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์และสัมผัสจับต้องได้ - การจะสร้างองค์กรให้เติบโตได้สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงต้องมีคือวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและการมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้อย่างชัดเจน เฉกเช่นเดียวกันกับสถาปนิกหรือนักออกแบบที่ต่างก็ “มองเห็น” บ้านหรือสิ่งที่กำลังจะสร้างในจินตนาการได้อย่างชัดเจนก่อนที่จะลงมือสร้างด้วยซ้ำ ผู้นำต้องมองเห็นผลลัพธ์และต้องเชื่อในสิ่งที่เห็นนั้นก่อน จากนั้นจึงนำมาสร้างให้เป็นรูปธรรม หัวหน้าต้องเป็นเสมือนกัปตันที่คอยควบคุมทิศทางการเดินขององค์กรให้ไปในแนวทางที่วาดฝันไว้ ดังนั้นหากผู้นำเชื่อว่าความจริงคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์และสัมผัสจับต้องได้เท่านั้น องค์กรคงไม่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน

ไม่เสียอย่าซ่อม - ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การค่อย ๆ ก้าวตามคนอื่นไปหรือหยุดอยู่กับที่ จะทำให้เราอยู่ตรงกลางหรือรั้งท้ายกลุ่มเสมอ หากต้องการจะเป็นผู้นำของกลุ่ม สิ่งสำคัญคือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องมีอย่างสม่ำเสมอ หากรอจนกว่าองค์กรแย่แล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยนอาจสายเกินไป ดังนั้นลองซ่อมสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นจะดีกว่าไหมเพราะนั่นจะทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ - ผมยอมรับว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ หากมีชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ในโลกของธุรกิจ ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ ๆ พนักงานต้องไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันไอเดียใหม่ ๆผู้นำต้องทำให้เห็นว่าความผิดพลาดไม่ใช่การฝังศพตัวเอง แต่ความผิดพลาดเป็นหน้าต่างที่ทำให้ได้เห็นในมุมมองที่ไม่เคยเห็น นักกีฬาทุกคนกว่าจะประสบความสำเร็จต่างเริ่มต้นจากความพ่ายแพ้และความผิดพลาดเหมือนกันทั้งนั้น

ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี- ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงขององค์กร หากองค์กรรับความเสี่ยงได้น้อยโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดก็เป็นไปได้ยาก เราต้องไม่ลืมว่าความเสี่ยงสูงก็หมายถึงผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ความเสี่ยงไม่ใช่สิ่งไม่ดี หากผู้นำเชื่อว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี โอกาสที่เขาและองค์กรจะเติบโตก็คงจะจำกัดมาก

เมื่อพบแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว จงมุ่งมั่นทำตามนั้นไม่เปลี่ยนแปลง- บางทีสิ่งที่ปฏิบัติกันมาในอดีตอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ประเพณีโบราณบางอย่างอาจเหมาะที่จะเก็บรักษาไว้ แต่ในโลกของธุรกิจการทำแบบเดิม ๆ อาจจะหมายถึงจุดจบก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ได้ยินมาจากเพื่อน เขาเล่าให้ฟังว่าลูกสาวตัวเล็กถามแม่ว่า ทำไมต้องตัดปลาออกเป็นสองซีกก่อนทอดเสมอ แม่ตอบว่า ‘ไม่รู้ซิ ก็เห็นคุณยายทำมาแต่ไหนแต่ไร น่าจะเป็นเคล็ดลับความอร่อยของคุณยาย’ หลานจึงไปถามคุณยายด้วยคำถามเดียวกัน ยายตอบว่า ‘ไม่รู้เหมือนกันเพราะเห็นคุณทวดทำมาแต่ไหนแต่ไร’ สุดท้ายเหลนคนนี้เลยไปถามคุณทวด คุณทวดตอบว่า ‘ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคุณแม่กับคุณยายของหนูถึงต้องตัดปลาออกเป็นสองท่อนแต่ที่ทวดต้องตัดเพราะกระทะมันเล็กมาก ทอดทั้งตัวไม่ได้’ แม่และยายถึงกับอึ้งไป

ไอเดียดีๆ มาจากการมีส่วนร่วมของทุกคน- บางทีความคิดบางอย่างที่เกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกัน ช่วยให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของ ข้อดีก็คือความคิดนั้นมีโอกาสที่จะทำสำเร็จได้ง่ายเพราะต่างคนต่างช่วยกันเนื่องจาก “เป็นความคิดของพวกเรา” แต่ในทางกลับกันการที่ “เป็นความคิดของพวกเรา” อาจนำมาซึ่งผลเสียหากยึดติดมากเกินไป หลายไอเดียดีๆ ไม่ประสบความสำเร็จในหลายองค์กรเพียงเพราะ “ไม่ใช่ความคิดของพวกเรา” (Notinvented here) ดังนั้นจงเปลี่ยนความคิดเสียใหม่หากอยากประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปต้องเชื่อว่าไอเดียดีๆ มาจากไหนก็ได้ แต่จะทำให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน

ทุกอย่างในโลกมีความพอดีเสมอ ความเชื่อก็ไม่ต่างกัน หากไม่เชื่อเลยก็กลายเป็นคนดื้อด้านทรนงตัว แต่หากเชื่อมากไปกลายเป็นการยึดติด ลุ่มหลง งมงาย ดังนั้น...ความเชื่อบางอย่างที่มากเกินไป กลับกลายเป็นปัจจัยขวางกันความสำเร็จของคนหลายคน !


กำลังโหลดความคิดเห็น