คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น …
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่อธิบายถึงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IFF) เพื่ออธิบายว่าIFF คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ? ครั้งนี้ ขอเสนอประสบการณ์ในการมองปัญหา และ แนวทางแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่สำนักงาน กลต. ได้ออกแบบประกาศต่างๆ และ ช่วยประสานงานหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาได้มากมายและที่คงค้างอยู่นั้น ก็น่าจะไม่ยากเกินไป ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขต่างๆมีดังนี้
1.ข้อจำกัดในรูปแบบสินทรัพย์ของ IFF อุปสรรคหนึ่งคือ รูปแบบของกิจการโครงสร้างพื้นฐานมีหลายรูปแบบ ได้แก่ กิจการพื้นฐานที่อยู่กับภาครัฐ เช่น กฟผ. การทางพิเศษฯลฯ รูปแบบที่เป็นสัมปทานให้เอกชน เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบทางพิเศษ ระบบโทรคมนาคม ฯลฯรูปแบบที่เป็นของเอกชนและมีสัญญาธุรกิจกับภาครัฐ เช่น โรงไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการออกแบบIFF ประกาศ กลต. เรื่อง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนไว้อย่างเปิดกว้าง
ครอบคลุมทางเลือกต่างๆไว้ ดังนี้
(ก) กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิการเช่าในที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ตลอดจนทรัพย์สินอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน
(ข) สิทธิสัมปทานในการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน
(ค) สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต หรือสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของกิจการ
(ง) สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือสัญญาก่อสร้างหรือสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน
(จ) หุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีธุรกิจหลักคือ กิจการโครงสร้างพื้นฐาน
ในแต่ละประเด็นนั้น น่าจะเหมาะกับปัญหาหลายรูปแบบ แต่ก็ยังอาจจะมีปัญหาบ้าง ดังนี้
(ก) กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิการเช่าในที่ดิน ฯลฯ อาจจะทำได้ยากบนสินทรัพย์ของภาครัฐ แต่น่าจะเหมาะกับกรณีที่กิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นของภาคเอกชน มากกว่า
(ข) สิทธิสัมปทานในการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน อาจจะต้องจัดการเรื่องการโอนสิทธิสัมปทาน และการพิจารณาว่าเข้าข่ายเงื่อนไขตาม พรบ. ร่วมทุน หรือไม่
(ค) สิทธิในการรับประโยชน์ หรือสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของกิจการ อาจจะยังมีปัญหาเรื่องการนับการแบ่งรายได้อนาคตเป็นหนี้ และประโยชน์ที่เข้ากองทุน IFF นับเป็นการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งทำให้ภาระหนี้ของกิจการโครงสร้างพื้นฐานสูงขึ้นและเกิดภาระภาษีธุรกิจเฉพาะบนดอกเบี้ย ซึ่งประโยชน์ด้านภาษีต่างๆที่ได้กำหนดไว้นั้น ยังไม่ได้รวมถึงภาษีบนดอกเบี้ยนี้จึงต้องอาศัยการแก้ไขในขั้นตอนต่อไป
(ง) และ (จ) หุ้นก็สามารถเลือกใช้เป็นทางออกสำหรับกิจการที่เหมาะสม
2.ข้อจำกัดในการดำเนินการ กองทุน IFF ที่จะเกิดได้ก่อน น่าจะเป็นกิจการด้านผลิตไฟฟ้าเพราะได้มีการจัดโครงสร้างให้เป็นกิจการของภาคเอกชน ที่มีสัญญากับ กฟผ. หรือ กฟภ. แล้วแต่กรณีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดในด้านการดำเนินงานตาม ประกาศฯข้อ 43 (1) กองทุนรวมจะไม่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐานเองโดยจะจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโดยการให้เช่า ให้สิทธิ หรือให้ผู้อื่นดำเนินการเท่านั้นหากหน่วยงานภาครัฐได้เข้าใจนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นแหล่งระดมทุนได้ และเห็นแนวทางว่า
อาจมีการโอนสินทรัพย์ให้กองทุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่านั้น หากผู้ประกอบการเอกชนได้ดำเนินการให้กิจการในกลุ่ม เช่าสินทรัพย์นั้นกลับมาในกลุ่มเดิมเพื่อดำเนินการตามสัญญาธุรกิจที่มีมาแต่เดิมก็น่าจะสนับสนุนได้ เพราะที่สุดแล้ว ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ก็จะยังเป็นกลุ่มเดิม กองทุน IFF เพียงเป็นเจ้าของสินทรัพย์และให้เช่าหรือให้สิทธิการบริหารแก่กลุ่มกิจการที่เป็นคู่สัญญาเดิมอยู่แล้ว
3.ข้อจำกัดใน BOI กองทุน IFF อาจได้ใช้กับกิจการที่เพิ่งก่อตั้งโดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ เช่น พลังงานทางเลือก ฯลฯ กิจการเหล่านั้น อาจได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOIให้ยกเว้นภาษีศุลกากรในการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้ง VAT ในการก่อสร้าง การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าเข้ากองทุน แล้วเช่ากลับมาในกลุ่มนั้น ก็เพื่อการดำเนินการในกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นไปตามโครงการที่ได้ขอส่งเสริมการลงทุนไว้ จึงน่าจะพิจารณาได้ด้วยเช่นกันว่ากิจการก็ยังจะดำเนินการต่อไปตามวัตถุประสงค์ เพียงแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิการเช่าแล้วเช่ากลับมาในกลุ่มเพื่อดำเนินการต่อเท่านั้น และไม่น่าจะต้องมีการเรียกคืนภาษีนำเข้า หรือ VAT แต่อย่างใด
ผมได้เคยมีประสบการณ์การทำงานกับทีมพัฒนาตราสารใหม่ของสำนักงาน กลต. มาหลายครั้ง ผมเห็นว่าเป็นไปอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ (Proactive) และ มุ่งมั่นตั้งใจจริง (Determination) ประกอบกับมีท่านรองนายกฯกิตติรัตน์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลหลายครั้ง ที่จะสนับสนุนให้ กองทุน IFFเป็นกองทุนที่เป็นแหล่งการระดมทุนเพื่อการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยอีกมากมาย ผมเชื่อว่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆนั้น จะแก้ไขไปได้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันคิดและทำแบบบูรณาการ ก็จะสำเร็จอย่างแน่นอน
หากผู้อ่านต้องการความรู้ความเข้าใจเรื่อง IFF เพิ่มเติมอาจสอบถามหรือนัดหมายมาที่ผมได้ที่ montree@maybank-ke.co.th; kallanaee@maybank-ke.co.th ผมยินดีจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ด้วยอย่างเต็มที่ครับ
ขอสรุปอีกครั้งว่า IFF เป็นตราสารที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ น่าจะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ดังที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจน เพื่อจะได้มีส่วนสนับสนุนกิจการโครงสร้างพื้นฐานได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์สำหรับคนไทยทุกคนครับ
มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)