xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติในสเปน กับผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมคลาดตราสารหนี้ไทย

วิกฤติหนี้ ที่ยืดเยื้อของประเทศในกลุ่มยูโรโซนในขณะนี้ ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ล่าสุดพบว่า ภาคธนาคารในประเทศสเปนกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจนต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ก.ค. 55) ในที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีคลังของกลุ่มอียู ก็ได้มีมติอนุมัติวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธนาคารของสเปนที่กำลังประสบปัญหาในวงเงิน 1 แสนล้านยูโรและเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเม็ดเงินดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือในท้ายที่สุดแล้วสเปนอาจจะต้องประสบกับปัญหาที่ยืดเยื้อตามรอยตามกรีซ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปค่ะ

ทั้งนี้ วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสเปน มีต้นตอหรือสาเหตุมาจากหนี้เสียในภาคธนาคารฯ และตามมาด้วยปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้แล้ว สเปนยังประสบกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐฯ ซึ่งรัฐบาลสเปนไม่สามารถลดตัวเลขการใช้จ่ายของตนเองลงได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ประกอบกับปัญหาการว่างงานของประชาชน และเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในกลุ่มยูโรโซนด้วยกัน ทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนตัวเร่งที่ทำให้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เริ่มจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสเปน โดยในปีนี้รัฐบาลสเปนคาดว่าเศรษฐกิจของตนเองจะสามารถขยายตัวได้เพียง 1.5% ซึ่งอยู่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา นอกจากนี้แล้วรัฐบาลสเปนเองยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศว่ากำลังเข้าสู่ช่วงของการถดถอย ประกอบกับตัวเลขการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระกับสูง ซึ่งล่าสุดแคว้นบาเลนเซีย ซึ่งถือเป็นเมืองขนาดใหญ่ของสเปน กำลังเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตดังกล่าว โดยต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกลาง นอกจากนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าแคว้นขนาดใหญ่อื่นๆ อีกประมาณ 6 แห่งของสเปน กำลังจะต้องเข้าขอรับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

และการที่ประเทศสเปน ถือเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของกลุ่มยูโรโซน ดังนั้นการถดถอยของเศรษฐกิจสเปน ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่ม รวมถึงอาจจะมีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในกลุ่มต้องประสบกับภาวะถดถอยด้วยเช่นกัน และจากปัญหาดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของนักลงทุนผ่านทางตัวเลขอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสเปน ที่ล่าสุดพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.317% (พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี) และคาดว่าในท้ายที่สุดแล้ว สเปนอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศอื่นๆ ที่อยู่นอกกลุ่ม EU ในอนาคต

สำหรับผลกระทบของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสเปนที่มีต่อประเทศไทยนั้น เห็นได้ชัดเจนผ่านการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วง 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวิกฤตในกลุ่มยูโรโซน มีผลทำให้ผลตอบแทนของประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง) พร้อมๆกับการไหลออกของเม็ดเงินลงทุน แล้วโยกเข้าไปสู่สินทรัยพ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ในประเทศที่มีความมั่นคงมากกว่า โดยประเทศเยอรมันถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนโดยทั่วไปยังให้ความเชื่อมั่น ซึ่งล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของรัฐบาลเยอรมัน อยู่ที่ระดับ -0.06% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวความเสี่ยงของนักลงทุนอย่างสูงสุด โดยนักลงทุนเลือกที่จะให้ผลตอบแทนแก่รัฐบาลเยอรมัน (ผลตอบแทนติดลบ) เพื่อแลกกับการที่จะไม่ต้องสูญเสียเงินต้น จากการลงทุนในช่วงระยะเวลา 1 - 2 ปีนี้

สำหรับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น หรือเฉลี่ยแล้วปรับตัวลดลงประมาณ 10 - 20 Basis point (100 basis point มีค่าเท่ากับ 1%) พร้อมๆกับยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่มีมากถึง 14,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าหากวิกฤติที่เกิดขึ้นในกลุ่มยูโรโซนยังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างไรค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น