บลจ.บัวหลวงมองหนี้ยุโรป และสหรัฐฯ แก้ยากหลังยืดเยื้อปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แนะนักลงทุนเก็บทองคำเข้าพอร์ตเพื่อความอุ่นใจในระยะยาว พร้อมเอาใจนักลงทุนลด Brokerage Fee กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์เหลือ 0.12%
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มยุโรปในปัจจุบันยังคงไม่เปลี่ยนและยิ่งเหมือนเดิม เพราะโมเดลที่ใช้คือ การแก้หนี้ด้วยการเพิ่มหนี้ที่ธนาคารกลางต้องคงดอกเบี้ยต่ำ และไม่หยุดพิมพ์เงิน คำถามคือ แล้วจะลากปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี้ไปได้ไกลแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้ทองคำจะยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ควรมีไว้บ้างในพอร์ตลงทุนเพื่อความอุ่นใจในระยะยาว
“ตั้งแต่ 1 มกราคม ปีหน้าคนอเมริกันจะพบกับ Taxmagedden โดยจะมีการขึ้นภาษีพร้อมๆ ไปกับการรัดเข็มขัด เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงตามที่รัฐบาลสัญญาไว้กับสภาคองเกรสในครั้งที่ขอขยายเพดานหนี้ ซึ่งนักวิชาการประมาณไว้ว่าจะทำให้ GDP ลดลงไป 3% ซึ่งจะทำให้ติดลบ นั่นคือ ราคาอสังหาริมทรัพย์จะลดลงพร้อมๆ ไปกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน ถ้าเป็นไปอย่างที่คาดการณ์นี้ โอกาสที่จะเกิด QE ครั้งใหม่ก็มีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 จะกลับมาอีกครั้ง” นางวรวรรณกล่าว
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดการกองทุน กล่าวว่า ราคาทองคำในปัจจุบันยังคงใกล้เคียงกับสิ้นปีที่ผ่านมา โดยราคาขายทองคำแท่ง 96.5 ณ 27 เมษายนอยู่ที่บาทละ 23,700 บาท ใกล้เคียงกับ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 23,500 บาท และถึงแม้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นๆ น่าจะให้ผลตอบแทนดีในปีนี้ เช่น หุ้น โดยผลตอบแทนจากดัชนีหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 27 เมษายน เพิ่มขึ้นประมาณ 19% จากสิ้นปี แต่มองระยะยาวที่สถานการณ์ในต่างประเทศ จึงไม่แปลกที่ทองคำ จะยังเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรมีติดในกระเป๋าเพื่อความอุ่นใจ
ทางด้านนายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในทองคำ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ (BGOLD) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะมีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ คือ SPDR Gold Trust เพียงกองทุนเดียวซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Gold ETF) จัดตั้งและจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC ทั้งนี้ BGOLD ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
และเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุน บลจ.บัวหลวงได้ลดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage fee) เหลือเพียงร้อยละ 0.12 เพื่อลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายแต่ละครั้งให้นักลงทุนได้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ซื้อขายสับเปลี่ยนวันนี้ (2 พ.ค.) เป็นต้นไป