xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนไม่กลัวเสี่ยง ด้วย Whisper of Care

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์KKFund Wealth Panorama

เชื่อว่าหลายๆคนต้องเคยผ่านความรู้สึกที่อยากลงทุนแต่กลัวความเสี่ยงจนไม่กล้าออกจาก Safety Zone ของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้เงินลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารที่คนส่วนมากเชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง และสบายใจทุกครั้งที่เปิดสมุดบัญชีขึ้นมาดูแล้วพบว่าเงินต้นยังอยู่ครบถ้วน แต่หากท่านลองนำตัวเลขเงินเฟ้อและภาษีมาร่วมพิจารณาผลตอบแทนด้วย ความสบายใจที่กล่าวถึงในตอนแรกอาจหายวับไปทันทีที่ทราบว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงกลับติดลบ เงินในกระเป๋าเราด้อยค่าลง อำนาจซื้อหดหาย (ลองดูตัวอย่างจากการรับประทานก๋วยเตี๋ยวในภาพประกอบ) คำถามคือการกลัวความเสี่ยงที่มากเกินไปจนทำให้เราไม่กล้าออกจากโซนปลอดภัยที่เราขีดวงไว้ทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุน ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำจนติดลบ ท้ายที่สุดเงินที่ดูเหมือนไม่หายไปไหนแต่กลับลดมูลค่าลงตลอดเวลา เราจะยังรู้สึกสบายใจต่อไปอีกหรือไม่

อันที่จริงเรื่องความเสี่ยงเป็นเหมือนเหรียญมี 2 ด้าน ถ้าไม่ตระหนักเลยก็อาจลงทุนในอะไรที่เสี่ยงเกิน แต่ถ้ากลัวมากเกินไปก็เป็นอย่างที่กล่าวในตอนแรก แล้วความพอดีอยู่ตรงไหน ถ้าไม่อยากให้กลัวความเสี่ยงจะต้องทำอย่างไร และถ้าเงินต้นหายไปบ้างเราจะรับได้ไหม เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงมีคำถามลักษณะนี้มากมายเกิดขึ้นในความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัวยิ่งกลัวก็ยิ่งไม่กล้าออกจาก Safety Zone หรือบางครั้งกลับบีบให้ Safety Zone แคบลงไปอีก ดังนั้นมันคงจะดีใช่ไหมถ้ามีใครคอยกระซิบบอกเราว่าความเสี่ยงกำลังจะมาและท่านควรต้องเตรียมตัวอย่างไร เปรียบเหมือนกับคนที่กลัวเปียกฝนจนไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ถ้ามีผู้มีเชียวชาญมาคอยแนะนำและบอกว่าวันนี้อากาศดีฝนไม่ตกหรือถ้าฝนตกเราก็มีร่มหรือเสื้อกันฝนให้ใส่ ท่านจะสบายใจจนกล้าออกจากบ้านไปรับอากาศบริสุทธ์และแสงแดดที่อบอุ่นภายนอกไหม

มาถึงตอนนี้หลายท่านคงมีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น การลงทุนมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ความเสี่ยงตัวไหนที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษและเราควรดูความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง ผมจึงขอแชร์ความเสี่ยงหลัก ๆที่หลายคนวิเคราะห์กันอยู่ เพื่อเป็น Guideline ดังนี้

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย คือการปรับขึ้น/ลงของอัตราดอกเบี้ย ต้องดูทิศทางว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มว่าจะลง ก็ควรลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวหน่อยเป็นการล็อคดอกเบี้ยเอาไว้หรือได้กำไรตอน Mark-to-Market ถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นก็ซื้อตราสารหนี้ที่อายุสั้นหน่อย เป็นต้น

ความเสี่ยงด้านการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหรือผู้บริหารกิจการ คือ ผลประกอบการของบริษัทที่ออกหุ้นกู้เป็นอย่างไร มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ หรือผลประกอบการของบริษัทที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นเป็นอย่างไร มีโอกาสทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ ขอแนะนำให้ซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะดูผลประกอบการได้สะดวก

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของตราสาร คือ ตราสารที่เราลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้บ่อยแค่ไหน และมีปริมาณวงเงินที่ซื้อขายมากน้อยแค่ไหน อันนี้ ขอแนะนำให้ลงทุนในตราสารที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อความคล่องตัว แต่เราอาจจัดให้ลงทุนจำนวนหนึ่งในตราสารบางอย่างในระยะยาวไปเลยทีเดียว โดยไม่ต้องการสภาพคล่องมากนัก เช่น อสังหาริมทรัพย์ เพื่อรายได้จากค่าเช่าที่สม่ำเสมอ และกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต แต่ก็ไม่ควรเกิน 20% ของการลงทุน

ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาตราสารที่เกิดจากเศรษฐกิจ  คือ ราคาของตราสารที่เราถืออยู่ปรับขึ้น/ลงตามสภาวะเศรษฐกิจหรือภาวะตลาด ซึ่งไม่ได้เกิดจากบริษัทหรือผู้ประกอบการเฉพาะราย อันนี้ต้องดูแนวโน้มของแต่ละอุตสาหกรรม วิธีลดความเสี่ยงคือ กระจายการลงทุน อย่าลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งอย่างเดียว และควรลงทุนในต่างประเทศบ้างเพื่อกระจายความเสี่ยงของประเทศด้วย

อันที่จริงแล้วที่ทุกท่านพูดว่ากลัวความเสี่ยงก็คือการกลัวความไม่แน่นอนในอนาคตนั่นเอง ถ้าเป็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หลายๆท่านก็มักพึ่งพาโหราศาสตร์ แต่ในทางการเงินการลงทุนเราก็มีศาสตร์ในการวัดและบริหารความเสี่ยงตามแนวทางวิชาการที่ พิสูจน์ได้ คำนวณได้ แต่ท้ายที่สุดทั้งสองศาสตร์ก็พยายามที่จะตอบคำถามและทำนายอนาคตเหมือนกัน

ต่างกันเพียงศาสตร์แรกมุ่งเน้นไปในการแก้ไขปัญหาชีวิต แต่ศาสตร์หลังพยายามจะวัดและลดความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อให้ใกล้เคียงผลตอบแทนที่คาดหวังมากที่สุด สำหรับ KKFund เรามีเครื่องมือวัดความเสี่ยงที่เรียกว่า Risk Thermostat หากจับได้ว่าความไม่แน่นอนของสิ่งที่เราลงทุนอยู่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นจนแตะระดับที่น่าจะกระทบกับการลงทุน เราก็จะเริ่มส่งสัญญาณไปยังนักลงทุนหรือกระซิบท่านด้วยความห่วงใย (Whisper of Care) ว่าความเสี่ยงด้านนี้กำลังจะมาและท่านควรปรับตัวอย่างไร การมีเครื่องมือที่ดีจะสามารถช่วยให้ผู้ลงทุน กล้าที่จะออกจากกับดักความเสี่ยงที่ตนเองสร้างเพื่อยอมรับแนวคิดเรื่อง Risk-Adjusted Return ได้มากขึ้นเมื่อเห็นว่ามีเครื่องมือที่จะบริหารความกลัวของตนเอง จึงกล่าวได้ว่าการสื่อสารเรื่องความเสี่ยงที่ชัดเจนและมีหลักการ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติของผู้ลงทุนให้กล้าก้าวออกมารับอากาศบริสุทธ์ภายนอกแทนที่จะหลบฝนอยู่ในบ้านอย่างเดียวเหมือนในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น