xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตนี้เป็นหนี้ทองคำ ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวรรณ ธาราภูมิ
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.บัวหลวง

“ปู่โกยแน่บกลับบ้านทันที แล้วขุดเอาทองคำกับเพชรนิลจินดาออกมาในช่วงค่ำ แล้วเอาเหรียญทองคำอันเล็กวางเรียงบนพื้นในรองเท้าบูธ เอาหนังปูทับอีกทีจะได้เดินไม่เจ็บ แล้วเอาเหรียญทองคำขนาดใหญ่ไปใส่ในส้นรองเท้า เหรีญทองคำกับสร้อยทองหลายเส้นที่เหลือซ่อนไว้หลายๆ ตำแหน่งในเสื้อโค้ทตัวใหญ่อย่างระมัดระวังไม่ให้ตรวจเจอได้”

“หลายวันหลังจากนั้น พวกมันมาเคาะประตูบ้านตอนตีสี่ บอกให้เราขนของและรีบอพยพไปไซบีเรียภายใน 15 นาทีเท่านั้น โชคดีที่นายทหารคนนั้นกระซิบบอกไว้ก่อน และตอนนี้บ้านเรา ที่ดินเรา ทรัพย์สินอื่นๆ ที่ยังอยู่ในนั้นก็ยังกลายเป็นทรัพย์สินของพวกรัสเซียจนทุกวันนี้”

“เมียและลูกสาว 3 ขวบ กับปู่ ถูกจับใส่รถบรรทุกรวมกับคนอื่นๆ ที่มีชะตากรรมเดียวกัน มันพาเราไปสถานีรถไฟเพื่อส่งไปไซบีเรีย หลังจากวันนั้นพวกเราก็ไม่เคยพบพ่อแม่พี่น้องอีก และไม่เคยกลับไปเหยียบแผ่นดินโปแลนด์อีกเลย ปู่ดีใจที่มันไม่ได้ตรวจเสื้อโค้ทกับรองเท้าของปู่ เพราะทองคำเล็กๆ น้อยๆ ที่ปู่ซ่อนไว้มันจะช่วยให้เรารอดตายได้”

“รถไฟมาถึงในหลายชั่วโมงต่อมา พวกเราถูกจับยัดไปในขบวนตู้ขนฝูงสัตว์ ที่ต้องใช้เวลาเดินทางไปถึงไซบีเรียใน 3 สัปดาห์ และนรกมีจริง ตู้ขนฝูงสัตว์ที่แออัดแน่นเอี้ยด ไม่มีห้องน้ำ พอ 2-3 วันที พวกมันก็มาให้ขนมปังแข็งโป๊กกับน้ำนิดหน่อย หลายคนตายไปแล้ว แต่ก็แค่ถูกโยนศพทิ้งออกไปนอกหน้าต่างไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ หรือเด็ก ไม่มีสองมาตรฐาน ปู่ร้องไห้ครั้งสุดท้ายในการเดินทางครั้งนั้นเมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งคลอดเด็กทารกออกมา ไม่นานเด็กก็ตาย แล้วทหารก็เอาศพเด็กโยนทิ้งเหมือนเศษขยะ”

“เราถูกต้อนลงที่คาซัคสถานใกล้ชายแดนไซบีเรีย ที่นี่จะเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของเรา เพราะชาวโปแลนด์ไม่ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเนื่องจากโดนโทษประหารให้หมด เราหนาวจนจะแข็งตายเพราะอุณหภูมิที่ -20 องศาเซลเซียส คนท้องถิ่น 1 ครอบครัวโดนสั่งให้รับพวกเราเข้าไปอยู่ด้วย 3-4 ครอบครัวต่อ 1 บ้าน ทั้งๆ ที่เขายากจนมาก แต่พวกคนรัสเซียท้องถิ่นเหล่านั้นก็ดีกับพวกเราเท่าที่จะทำได้ภายใต้สถานการณ์ขณะนั้น

“ทองคำที่ปู่ซุกซ่อนมานั่นแหละที่ทำให้เรารอดมาได้ ปู่ใช้มันแลกกับที่อยู่ที่ดีขึ้น แลกเป็นเหรียญรูเบิ้ลแล้วใช้มันไปซื้ออาหารมาตุนไว้ตลอดฤดูหนาวอันทารุณ ปู่ซื้อเครื่องมือใช้สอยที่จำเป็น ใช้มันรับจ้างเลื่อยไม้ ซ่อมบันได และทำงานให้คนอื่นๆ เพื่อแลกกับเงินรูเบิ้ล หรืออาหาร บางวันปู่ต้องออกไปทำงานโดยไม่แตะอาหารเลยเพราะต้องเก็บให้ลูกเมียได้มีประทังชีวิต เราผ่านฤดูหนาวจนมาถึงฤดูร้อน ปู่เกือบตายเพราะเชื้อมาเลเรีย และเมียปู่ก็เกือบตายจากไทฟอยด์ แต่ในเมื่อเรายังมีทองคำ เราก็เลยเข้าถึงยาได้ มันเป็นตามที่ปู่คิด คือเงิน Zloty ของโปแลนด์ไม่มีใครรับ รูเบิ้ลรัสเซียถึงจะใช้ได้ แต่ไม่มีอะไรดีเท่าทองคำ”

“แล้วในปี 1941 พวกเราทั้งหมดก็ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระโดยไม่รู้เหตุผล (เยอรมันนีโจมตีรัสเซียวันที่ 22 มิถุนายน 1941 แล้วทำข้อตกลงให้ชาวโปแลนด์เป็นอิสระจากพวกรัสเซีย แต่ต้องไปเป็นทหารในเปอร์เซีย”

“ปู่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทหารรัสเซียบอกปู่ว่า .... มาคิยง รีบพาครอบครัวไปขึ้นรถไฟด่วนที่สุดเลย ก่อนที่พวกนั้นจะเปลี่ยนใจ .... ปู่พาครอบครัวออกจากที่นั่นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลายๆ คนที่โดนนำมาทิ้งที่นี่ล้วนอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางได้อีกแล้ว เขาเลยตัดสินใจอยู่ต่อ พอมาถึงสถานีรถไฟ ปู่ถึงรู้ว่าเขากำลังจะจัดตั้งกองกำลังโปแลนด์เพื่อส่งไปรบอีก แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายพวกเราบอกว่ารถไฟเต็มหมดแล้ว”

“ปู่จึงเดินไปหาเขาอย่างเงียบๆ และเสนอทองคำให้ 3 เหรียญทองเพื่อแลกกับที่ว่างในขบวนรถสำหรับเรา 3 คน เขาตกลง และเมื่อรถไฟมาถึง เขาค่อยๆ พาเราไปที่อีกด้านของขบวนรถ บอกกับเจ้าหน้าที่บนรถไฟว่ามีคำสั่งพิเศษให้พาพวกนี้ 3 คนขึ้นไป เราจึงรอดพ้นจากคาซัคสถานมาได้ และอยู่ในกลุ่มชาวโปแลนด์หลายพันคนที่ยินดีจะจากคาซัคสถานเพื่อลงใต้อย่างเร่งด่วนแล้วไปเข้าร่วมกับกองทัพโปแลนด์ที่เปอร์เซีย

“เราข้ามทะเลแคสเปียนด้วยเรือ มาถึงเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นพวกแรกๆ ซึ่งเป็นโชคดีจริงๆ เพราะพวกที่มาทีหลังต้องเดินเรือถอยกลับไปรัสเซียมหาโหดอีกครั้ง เนื่องจากโควต้ากองทัพเต็มแล้ว พวกเราได้รับการต้อนรับจากชาวเปอร์เซียอย่างอบอุ่น เขารักษาพยาบาลพวกเราจนฟื้นฟูเป็นปกติ ให้เราไปอยู่ในบ้านเขา ปู่พบว่าชาวเปอร์เซียเป็นคนใจดีมีเมตตาที่สุดในโลก

“ปู่เข้าร่วมในกองทัพของนายพล Anders ชีวิตเริ่มมีความหวังบ้างแล้ว ลูกเมียถูกส่งไปอยู่ที่อินเดียเพื่อความปลอดภัย ปู่ไม่ได้พบพวกเขาเลยตลอด 6 ปีในกองทัพ ไม่รู้กันเลยว่าใครจะเป็นอย่างไรกันบ้าง อยู่หรือตายก็ไม่รู้

“ปู่รบในอาฟริกาและอิตาลี และทำวีรกรรมไว้ที่ Monte Cassino ไม่เคยเจอเลือดมากมายขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แล้วเราก็ตัดสินใจเข้าตีเมือง Abbey ที่เยอรมันยึดไว้ ปู่ภูมิใจเหลือเกินที่เป็นชาวโปลิช ได้เข้าร่วมในกองทัพโปแลนด์ที่กล้าหาญและเก่งกาจที่สุดในวันนั้น”

“สงครามสิ้นสุด แล้วปู่ก็ตามไปค้นพบลูกเมียที่อินเดีย ซึ่งด้วยเหตุที่พวกเธออยู่อินเดียจึงทำให้พวกเธอต้องถูกส่งกลับไปอยู่ใกล้ๆ ลอนดอน ปู่จะตามไปเมื่อจบภารกิจในกองทัพ แล้วปู่ก็ทำได้ใน 2 ปีถัดมา มันมหัศจรรย์ที่สุด และขอบคุณ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ไม่ยอมให้ใครผลักดันพวกเราชาวโปลิชออกไปไหนโดยไม่เต็มใจอีกแล้ว พี่น้องผู้ชายของปู่ทุกคนตายในสงครามป้องกันโปแลนด์จนหมดสิ้น หากปู่ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากพ่อเรื่องเงินเฟ้อ สงคราม กับคุณค่าของทองคำ เราคงไม่รอด ปู่และลูกเมียเป็นหนี้ชีวิตต่อเหรียญและสร้อยคอทองคำเพียงหนึ่งกำมือ แล้วหลายวันก่อนที่พวกเราจะอพยพจากอังกฤษเพื่อไปอยู่ออสเตรเลียตามความต้องการของเราเอง ปู่ก็ได้รับโทรศัพท์ว่า ... มาคิยง เรามีที่ว่างให้พวกคุณในอเมริกา สนใจป่ะ ... ปู่บอกว่า... เอาสิ .. เขาตอบว่ามาเลย เร็วที่สุด ... ปู่วิ่งเต็มสปีดไปตลอดทางเลย แล้วเราก็เลยได้มีชีวิตที่ดีที่สุดในอเมริกา”

หมายเหตุ : Victoria Szablicki ภริยาของ มาคิยง เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2011 หลังจากนั้น 11 วัน ปู่มาคิยง ของลุงมาร์ค ฟาเบอร์ ก็เสียชีวิตตามไปในวัย 100 ปี หลังจากได้รับเหรียญกล้าหาญอันสุดท้ายที่ทรงเกียรติยิ่งจากรัฐบาลโปแลนด์ คือ Siberian Cross ไปในวัย 98 ปี เขาทั้งสองคนมีชีวิตสมรสร่วมกันยาวนานถึง 76 ปี

***สามารถอ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9540000161874  ****
กำลังโหลดความคิดเห็น