xs
xsm
sm
md
lg

BBLAM ตีปีกจ่อรับโอนกองอสังหาฟิวเจอร์ฯ มูลค่า 4.7พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหน่วย กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค หรือ FUTUREPF มีมติ ย้ายบริษัทจัดการจากบลจ.ไอเอ็นจี ไปซบ บลจ.บัวหลวง มีผล 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค (FUTUREPF) ได้มีหนังสือขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนเรื่องเงื่อนไขการเปลี่ยนบริษัทจัดการ (เรื่องระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่บริษัทจัดการ) และพิจารณาการเปลี่ยนบริษัทจัดการและนายทะเบียน และการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการและนายทะเบียนโดยกำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงมติกลับมาภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 นั้น บริษัทจัดการขอแจ้งให้ทราบว่า มีผู้ถือหน่วยลงทุนได้ส่งหนังสือแสดงมติกลับมายังบริษัทจัดการ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 นับเป็นจำนวนหน่วยลงทุนได้ทั้งสิ้น 280,360,854 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 59.24 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม

จากการขอมติดังกล่าว โดยสรุปแล้ว ผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการลงทุนเรื่องเงื่อนไขการเปลี่ยนบริษัทจัดการ (เรื่องระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่บริษัทจัดการ) ในวาระที่ 1 และมีมติให้เปลี่ยนบริษัทจัดการและนายทะเบียน จาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนบริษัทจัดการและนายทะเบียนจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์คมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 4,733.16 ล้านบาท

นอกจากนี้ บลจ.ไอเอ็นจี ยังแจ้งเพิ่มเติมอีกว่า ตามที่กรมธรรม์ประกันภัยของกองทุนได้หมดอายุลงในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 นั้น กองทุนได้ทำการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน2555 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นบริษัทประกันภัยได้ปรับเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ ดังนี้

1. การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก กองทุนจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกเองสำหรับภัยต่าง ๆ เป็น ระยะเวลา 30 วันแรก จากเดิม 21 วัน

2. ในกรณีเกิดเหตุน้ำท่วม บริษัทประกันจะจำกัดความรับผิดสำหรับความเสียหายจากธุรกิจหยุดชะงักในวงเงิน 10,000 บาท จากเดิมไม่มีวงเงินจำกัดความรับผิดในกรณีน้ำท่วม และ

3. การประกันภัยคุ้มครองสิทธิการเช่า บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองภัยจากน้ำท่วม

สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินในส่วนของ บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด นั้น เงื่อนไขการประกันภัยเป็นเช่นเดียวกับกองทุน (ในกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมบริษัทประกันจะจำกัดความรับผิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความเสียหายจากธุรกิจหยุดชะงักในวงเงินรวมกัน 10,000 บาท)
กำลังโหลดความคิดเห็น