บลจ.บัวหลวง เผย โรงงานในกองทุนอสังหาฯไทคอน เสียหาย 46 แห่ง คาดเสียรายได้ประมาณ 19.6 ล้านบาท หรือ 23.7% ของรายได้ทั้งหมด พร้อมให้ความมั่นใจนักลงทุนโรงงานที่ถูกน้ำท่วมได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย ขณะที่โบรกเกอร์บล.เอเชียพลัสแนะนักลงทุน "waitandsee" ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน(TFUND) เปิดเผยว่า สภาวะน้ำท่วมขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับนั้น เป็นเหตุให้โรงงานที่เป็นทรัพย์สินของกองทุนซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้รับความเสียหาย จำนวน 46 โรงงาน พื้นที่โดยประมาณ 111,007 ตร.ม. จากจำนวนโรงงานและคลังสินค้าทั้งหมดของกองทุน 209 โรงงาน พื้นที่โดยประมาณ 483,360 ตร.ม.
ทั้งนี้ทรัพย์สินส่วนนี้สร้างรายได้ให้กับกองทุนเดือนละประมาณ 19.6 ล้านบาท คิดเป็น 23.7% ของรายได้รวมทั้งหมด จึงคาดว่าจะเกิดผลกระทบกับรายได้ของกองทุนบ้าง เเนื่องจากในขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย บริษัทจึงยังไม่สามารถประเมินความเสียหายในทรัพย์สินและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรายได้ของกองทุนทั้งหมด แต่บริษัทจัดให้มีประกันภัยคุ้มครองความเสียหายในทรัพย์สินที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมไว้แล้ว
ปัจจุบัน TFUND ลงทุนในที่ดิน อาคารโรงงานและคลังสินค้า รวม 209 หลัง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และโครงการ รวม 10 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง 20 หลัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (บางปะกง) จังหวัดชลบุรี 59 หลัง โครงการไทคอน โลจิสติคส์พาร์ค บางนา จังหวัดฉะเชิงเทรา 8 หลัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ 4 หลัง นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง 1 หลัง เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี 14 หลัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี 18 หลัง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 46 หลัง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 14 หลัง และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 25 หลัง
ขณะที่รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด มองว่า วิกฤติน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา และหลายจังหวัดทั่วประเทศ กระทบต่อธุรกิจให้เช่าโรงงานและคลังสินค้าของ TFUND เนื่องจากปัจจุบัน TFUND มีโรงงานและคลังสินค้ารวม 209 โรง ในนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ให้เช่า 4.83 แสนตารางเมตร โดยแบ่งเป็นส่วนที่อยู่ในจังหวัดอยุธยามากสุด 85 โรง (แบ่งเป็นนิคมฯ โรจนะ 46 แห่ง, ไฮเทค 25 แห่ง และ บางปะอิน 14 แห่ง)คิดพื้นที่ให้เช่าประมาณ 43.3% ของพื้นที่ให้เช่ารวม ส่วนโรงงานที่เหลืออีก 124 แห่ง กระจายตัวไปนิคมในจังหวัดระยอง ชลบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และ สมุทรปราการ
ทั้งนี้แม้ความเสียหายโดยตรงจากเหตุน้ำท่วม จะยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน แต่คาดผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจาก TFUND มีการทำประกันภัยความเสี่ยงทุกประเภท(All Risk) สำหรับทุกโรงงานรวม 209 แห่ง รวมถึงทำประกันภัยคุ้มครองรายได้ที่ต้องหยุดชะงัก(Business Interruption) เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่งและเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้กองทุนต้องเลื่อนแผนการเพิ่มทุนเพื่อซื้อโรงงาน 26 โรง (คิดเป็นพื้นที่ให้เช่า 71,050 ตารางเมตร) ออกไปก่อน จากเดิมที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2554 เนื่องจากมีความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน เป็นเพราะโรงงานใหม่ที่ต้องการจะซื้อเข้าข่ายอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม โดยโรงงาน 12 แห่งหรือสัดส่วน 46% ของทั้งหมด 26 แห่ง ตั้งอยู่ในนิคมจังหวัดอยุธยา
"ปัจจัยเสี่ยงจากน้ำท่วมข้างต้น ย่อมส่งผลต่อการดำเนินงานของ TFUND ในงวดไตรมาส 4 ปีนี้ หากไม่สามารถรับรู้รายได้ชดเชยจากบริษัทประกันภัยได้ทัน ทำให้การลงทุนใน TFUND มีความเสี่ยงจึงปรับลดคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น ถือ เพื่อรอสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น"ฝ่ายวิจัยระบุ
ส่วนรายงานข่าวจากบลจ.วรรณ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล (TIF1) ระบุว่า ปัจจุบันทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าวยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้บลจ.วรรณและผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนได้ติดตามเหตุการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยจะรายงานความคืบหน้าเพื่อทราบต่อไปหามีเหตุการณ์เปลี่ยนเเปลงอย่างมีนัยสำคัญ