ธุรกิจจัดการกองทุนรวมไทยแจ้งเกิด มอร์นิ่งสตาร์จัดเกรด A- หรือเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา จาก 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีความโดดเด่นในด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ภาษีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย และการเปิดเผยข้อมูล แต่ยังต้องปรับปรุงในด้านการขายและสื่อกลางในการลงทุน
รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) สำนักงาน ก.ล.ต. และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (“บลจ.”) ทั้งหลาย ส่งผลให้ในปีนี้ Morningstar บริษัทวิจัยการลงทุนอิสระที่จัดอันดับการบริหารกองทุนรวมทั่วโลกอยู่เป็นประจำ จัดอันดับธุรกิจจัดการกองทุนรวมของไทยโดยรวมอยู่ที่ระดับ A- ซึ่งเป็นที่ 3 และในด้านค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมไทยยังได้รับการจัดอันดับสูงสุด ที่ระดับ A หรือเป็นที่ 1 เท่ากับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศมีค่าใช้จ่ายในเพียง 0.60% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศที่ทำการศึกษา ในขณะที่กองทุนรวมหุ้นมีค่าใช้จ่าย 1.75% จัดอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีตลาดทุนขนาดใหญ่ ส่วนกองทุนรวมตลาดเงินมีค่าใช้จ่าย 0.50% ถือว่าอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับทุกประเทศ
ในด้านการเปิดเผยข้อมูล ธุรกิจกองทุนรวมไทยได้รับการจัดระดับ B+ หรือเป็นที่ 3 รองจากสวีเดนและสหรัฐฯ เนื่องจากมีจุดเด่นที่มีข้อกำหนดให้กองทุนรวมต้องเปิดเผยพอร์ตการลงทุน ต้องส่งรายงานการจัดการกองทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุก 6 เดือน และงบการเงินของกองทุนต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีอิสระ ประกอบกับกองทุนรวมได้จัดทำหนังสือข้อสนเทศแบบง่าย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนมีเว็บไซต์ให้ข้อมูลด้านการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาข้อมูลและตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ด้านกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลและภาษีของไทยอยู่ในระดับ B หรือเป็นอันดับ 4 รองจากฮ่องกง สิงคโปร์ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากจุดเด่นหลายประการ เช่น การกำหนดให้กองทุนรวมต้องได้รับการตรวจสอบบัญชีจากผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ต้องมีผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงจาก บลจ. มีการยกเว้นภาษีกำไรส่วนเกินจากการขายหน่วยลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อย่างไรก็ตาม ด้านการขายและสื่อกลางในการลงทุนของไทยได้รับการจัดอันดับที่ระดับ D ซึ่งพิจารณาจาก การติดต่อโดยตรงระหว่างผู้ลงทุนและ บลจ. การให้แรงจูงใจกับตัวแทนขายของ บลจ. ความครอบคลุมด้านการสื่อสารถึงเนื้อหาและคุณค่าของกองทุนผ่านสื่อ และการใช้ช่องทางในการจัดจำหน่ายที่สอดคล้องกับผู้ลงทุน ผลการศึกษาระบุว่าประเทศไทยยังมีข้อบังคับน้อยมากในการควบคุมการแข่งขันการขายหน่วยลงทุน การชักชวนให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทุน และการให้ผลตอบแทนแก่ที่ปรึกษาด้านการขายในการขายหน่วยลงทุนใด ๆ เป็นการเฉพาะ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ผลการประเมินดังกล่าวสะท้อนถึงความร่วมมือของทางการและภาคธุรกิจที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดการลงทุนในประเทศไทย และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนโดยได้รับความคุ้มครองในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่งดงามและเป็นกำลังใจให้แก่คนทำงาน สำหรับข้อที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายและสื่อกลางการลงทุน เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. และสมาคมได้คำนึงถึงอยู่และกำลังมีแผนที่จะต้องปรับปรุงต่อไป เช่น การโฆษณากองทุน การให้ลูกค้าทำแบบสอบถามเพื่อทำความรู้จักลูกค้าก่อนให้คำแนะนำหรือเสนอขายหน่วยลงทุน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้ว คาดหมายได้ว่าในการประเมินปีต่อไป ธุรกิจจัดการกองทุนรวมของไทยจะได้คะแนนด้านนี้ดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้มากขึ้น
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า เป็นข่าวดีที่อุตสาหกรรมจัดการลงทุนของไทยมีพัฒนาการอยู่ในระดับที่ดีมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในด้านกฎระเบียบการกำกับอุตสาหกรรม ภาษี และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับอุตสาหกรรม โดยยึดหลักผลประโยชน์ของผู้ลงทุนมาก่อนอื่นใด นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายกองทุนของไทยก็อยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่นายสถาปนะ เลี่ยวประไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า สมาคมจะพิจารณารายละเอียดจากการศึกษาของ Morningstar ในเรื่องจุดอ่อนทางด้านการขายและการเปิดเผยรายละเอียดของผู้จัดการกองทุน เพื่อนำไปปรับปรุงไปสู่แนวทางที่เหมาะสมต่อไป