xs
xsm
sm
md
lg

KTAM ย้ำยูเออี ยังแข็งแกร่ง คาดได้รัฐ"อาบูดาบี"อุ้มพ้นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ฝ่ายวิจัย บลจ.กรุงไทยคาด "อาบูดาบี" เตรียมให้ความช่วยเหลือ "ดูไบ" ให้พ้นวิกฤติฟองสบู่ พร้อมประเมินเศรษฐกิจอาบูดบี ยังเเข็งเเกร่ง ล่าสุดเเบงก์ชาติ UAE เตรียมจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเงินพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้บ.ดูไบเวิล์ด

 รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์เครดิตของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เเละรัฐอาบูดาบีว่า เศรษฐกิจของ UAE ได้ประโยชน์จากการมีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันอยู่มาก มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมาเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เพียงพอที่จะผลิตได้อีกประมาณ 90 ปี เเละมีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันที่ 6 ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาร์เรล รวมถึงเพียงพอที่จะผลิตไปอีกมากกว่า 100 ปี ในส่วนของฐานะการคลังที่เข้มเเข็ง รายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 75% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด โดยปี 2008 มีเกินดุลการคลังสูงถึง 21.9% ของ GDP ทรัพย์สินของรัฐบาลส่วนใหญ่เเล้วจะอยู่ในรูปของ Sovereign wealth fund โดยเฉพาะใน Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ของอาบูดาบี ที่คาดว่ามีทรัพย์สินอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.75 เเสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 ส่วนการให้ความช่วยเหลือของอาบูดาบี กับรัฐอื่นๆ โดยโครงสร้างหลักของรัฐบาลกลางเปรียบได้เสมือนว่า อาบูดาบี สนับสนุนรัฐอื่นๆอยู่เเล้ว เเละยิ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้อาบูดาบี มีบทบาทมาก ขึ้นในการช่วยเหลือดูไบ ทำให้ Moody เเละ S&P's เชื่อว่าถ้าหาก UAE ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก อาบูดาบี ก็จะช่วยเหลือรัฐอื่นๆ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เเละรัฐวิสาหกิจต่างๆอย่างเต็มที่ เเม้ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

 ทั้งนี้ ประเทศ UAE  เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อคนสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก จากการจัดอันดับของ IMF ในปี 2551 คือมีรายได้ต่อหัวประมาณ 54,607 ดอลลาร์สหรัฐฯ เเต่ถ้าหากปรับค่าครองชีพ (Purchasing powerparity) เเล้วจะทำให้รายได้ต่อคนสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก นอกจากนี้การเมืองภาย UAE เองมีความมั่นคงมาเป็นเวลานานเเละมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆทั่วโลก

 สำหรับประเทศกาตาร์นับเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อคนสูงที่สุดในโลก มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติสำรองที่มากเป็นอันดับที่ 3 ของ โลก และเพียงพอที่จะผลิตได้อีกมากกว่า 100 ปี  ณ  ระดับการผลิตในปี 2008  รายได้จากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันทำให้กาตาร์มีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง

  นอกจากนี้ กาตาร์ยังพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจสามารถพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาว แม้ว่ากาตาร์จะมีความพยายามที่จะพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ แต่ก็ไม่ได้ลงทุนมากเกินตัวดังเช่นดูไบ และยังได้รับอันดับความน่าเชื่อถือที่ Aa2 จาก Moody’s และ AA- จาก S&P 
   
รายงานยัง ระบุอีกว่า บริษัทอาบูดาบี เเนชั่นแนล เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน) (Abu Dhabi National Energy Company PJSC : TAQA) ซึ่งบลจ.ได้เลือกลงทุนอยู่นั้น เป็นธุรกิจด้านพลังงานครบวงจรของรัฐ อาบูดาบี ณ สิ้นปี 2551 TAQA มีสินทรัพย์ทั้งหมด 86.4 พันล้านเดอร์แฮม และมีรายได้ในปี 2551 เท่ากับ 16.8 พันล้านเดอร์แฮม และมีกำไรสุทธิเท่ากับ พันล้าน 1,825 พันล้านเดอร์แฮม โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Abu Dhabi Water and Electricity Authority ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ดังนั้น TAQA จึงมีความเข้มแข็งเทียบเท่ากับได้กับรัฐอาบูดาบี โดย Moody’s Investor Service จัดอันดับความน่าเชื่อถือของ TAQA ไว้ที่ Aa2

ส่วนบริษัทลาส รัฟฟาน ลิควีไฟด์ เนเชอรัล แก๊ส จำกัด (Ras Laffan LNG Company Limited : RASGAS) เป็นบริษัทในเครือของกาตาร์ปิโตรเลียมซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านปิโตรเลียมและการพัฒนาพลังงานของประเทศกาตาร์ ซึ่งรัฐบาลกาตาร์ถือหุ้นใน Qatar Petroleum ประมาณ 10% โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RasGas II-3 คือ Qatar Petroleum และ Exxon Mobil ซึ่งถือหุ้นในส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยปัจจุบัน RasGAs II-3 เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิต LNG แถวหน้าของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เตรียมให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารภายในประเทศและธนาคารต่างชาติ ด้วยการประกาศจัดกองทุนกู้ยืมพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัท ดูไบ เวิล์ด นอกจากนี้ อาบูดาบี ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐอิสระของยูเออีก็เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทของดูไบเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น