xs
xsm
sm
md
lg

การกลับมาของญี่ปุ่น สัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจQ3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามรายงานตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 3 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำออกมาเผยแพร่ ปรากฏว่ามีการขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ หรือเมื่อคำนวณเป็นอัตราต่อปีก็จะเท่ากับร้อยละ 4.8 นับเป็นการเติบโตในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สองแล้ว เท่ากับยืนยันว่าแดนอาทิตย์อุทัยได้ก้าวพ้นจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้หลังจากที่การส่งออกซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ถึงร้อยละ 6.4 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลก็เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนก็ขยับขึ้นร้อยละ 0.7 เช่นกัน

การประกาศตัวเลขจีดีพีคราวนี้ นับเป็นครั้งแรกในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ หัวหน้าพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) และถือเป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้ ทางการญี่ปุ่นก็รายงานว่า อัตราการว่างงานซึ่งมีการสำรวจในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.3 ขณะที่ยอดการผลิตสินค้าของภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน ทำให้มาซาอากิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาประกาศว่ากำลังพิจารณาลดเลิกมาตรการฉุกเฉินบางประการที่เคยนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แล้วถูกทางรัฐบาลตอบโต้ว่ายังไม่ควรเคลื่อนไหวก่อนเวลาอันควร

ทั้งนี้ รัฐบาลระบุว่า มีสัญญาณบ่งบอกว่าทั้งการบริโภคของภาคครัวเรือน และผลผลิตทางอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในสภาพอ่อนแอ สำนักข่าวเกียวโดรายงานวานนี้ว่า รัฐมนตรีคลัง ฮิโรฮิซะ ฟูจิอิ กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีกำลังจะประกาศรายละะอียดของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งจะมีมูลค่าไม่เกิน 2.7 ล้านล้านเยน ส่วนหนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า รัฐบาลน่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 20 ที่จะถึงนี้ว่า ญี่ปุ่นหวนกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากดัชนีอุปสงค์ภายในประเทศ (domestic demand deflator) ลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อันเป็นการตกฮวบแรงที่สุดในรอบ 51 ปี

ด้านนาย นาโอกิ มูรากามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งบริษัทหลักทรัพย์โมเน็กซ์ ในกรุงโตเกียว ชี้ว่า การส่งออกที่ดีขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ถึงแม้จะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้การเติบโตในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้สะดุดได้เช่นกัน เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการขายสินค้าประเภทรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น การที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะการหดตัวของประชากรจากการที่มีอัตราการเกิดต่ำ และการมีผู้สูงอายุล้นประเทศ ก็อาจส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการผลักดันนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศนับจากนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะถูกมองว่า เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นแทนการพึ่งพาการส่งออกเพียงลำพังก็ตาม

BOJ คงอัตราดอกเบี้ยต่อ
สำหรับการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามที่ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย หรือ SCRI ประเมินว่าทาง BOJ จะยังคงมีการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันตามภาพรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวลง โดยเฉพาะในด้านของระดับการใช้จ่ายในประเทศที่ยังคงมีความผันผวนสูง ประกอบกับสถานการณ์ในภาคการค้าระว่างประเทศ ที่ยังคงโดนผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ SCRI ยังคงมีมุมมองว่าในช่วงที่เหลือของปี ทางBOJ จะยังคงมีการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อเนื่องก่อนที่จะเริ่มกลับมาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงปี255

ญี่ปุ่นประเมินไทยน่าลงทุนอันดับที่3
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รายงานว่า จากผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นในต่างประเทศโดย JBIC พบว่าประเทศไทยในกลาง (ระยะ 3 ปีข้างหน้า) ไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4 จากเดิมอันดับที่ 5 แทนที่รัสเซีย เนื่องจากแนวโน้มการเจริญเติบโตของตลาดดีขึ้นและค่าแรงคงที่ แต่ในขณะเดียวกันหลายบริษัทก็ได้กล่าวถึงปัญหาด้านการแข่งขันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันที่จะสูงขึ้นอย่างมากและจำนวนพนักงานระดับบริหารในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอในปัจจุบัน

การสำรวจครั้งนี้ ได้สุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจากบริษัทญี่ปุ่นที่มีสาขาในต่างประเทศไม่ตํ่ากว่า 3 แห่ง โดยรวบรวมข้อมูลระหว่าง ก.ค.- ก.ย.52 และมีจำนวนบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 625 แห่ง ผลการสำรวจในระยะกลางนั้นอันดับ 1 – 3 ยังคงเป็นประเทศจีน อินเดีย และเวียดนามตามลำดับเช่นเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น