ผู้จัดการกองทุนประสานเสียง จับจังหวะเก็บคอมมอดิตีเข้าพอร์ตตั้งแต่ 5-25% รับผลตอบแทนช่วงเงินเฟ้อพุ่ง หลังเศรษฐส่งสัญญาณเริ่มกลับเข้าที่ พร้อมแนะศึกษาข้อมูลให้ครบก่อนลงทุน ระบุซื้อผ่านกองทุนรวม สภาพคล่องดี มีผู้เชี่ยวชาญดูแลให้
นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านกองทุนรวม ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนได้ประจายความเสี่ยงจากการลงทุนในรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ โดยมีข้อพิจารณาก่อนการลงทุนคือ การศึกษาประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ที่กองทุนไปลงทุนอย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจถึงคุณลักษณะของสินค้าแต่ละชนิด และความผันผวนจากการลงทุน เพราะสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูงและไม่มีการจ่ายปันผลหรือดอกเบี้ยเหมือนการลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้
สำหรับสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้น แนะนำว่าควรอยู่ที่ระดับ 5-15% ของพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ อาจแปรผันไปตามความรู้ความเข้าใจในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ รวมไปถึงระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถรับได้
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนอาจจะลองเปรียบเทียบการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โดคยตรง ว่ามีความแตกต่างกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมในประเด็นใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เช่น การลงทุนในน้ำมันโดยตรงจะมีภาระในการจัดเก็บ รวมทั้งการประกันสินค้า และหากต้องการขาย ผู้ลงทุนจะต้องหาผู้ซื้อและทำการส่งมอบน้ำมัน ในขณะที่การลงทุนในกองทุนน้ำมัน ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ สภาพคล่องในการซื้อขายจะสูงกว่าและไม่มีต้นทุน
นายเอกรัตน์ อภิวัตนพร ผู้จัดการกองทุน บลจ. ฟินันซ่า ให้มุมมองแนวโน้มการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงสิ้นปี 2552 - 2553 ว่า สินค้าโภคภัณฑ์ยังคงน่าลงทุน ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์ในสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการลงทุนในเริ่มกลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการในการใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินทรัพย์หนึ่งในพอร์ตการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
สำหรับการลงทุนในระยะยาว เชื่อว่าสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยปัจจัยหลักคือความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว อุปสงค์จากประเทศเศรษฐกิจเดิมรวมกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ จะทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เติบโตสูงขึ้น ในขณะที่อุปทานจะไม่สามารถขยายตัวได้ทัน โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Hard Commodities เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ทองแดง เงิน โลหะมีค่าต่าง ๆ และเมื่อคำนึงถึงการลงทุนเพื่อแสวงหาอุปทานแหล่งใหม่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีน้อยมาก และแนวโน้มต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องหาแหล่งผลิตใหม่ ๆ เช่น ในทะเล ยิ่งผลักดันให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น
นายเอกรัตน์แนะนำว่า ผู้ลงทุนควรลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นอกเหนือจากตราสารหนี้และตราสารทุน ที่ผู้ลงทุนทั่วไปมีการลงทุนอยู่แล้ว เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ยังช่วยสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการการลงทุนได้เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ สำหรับส่วนตัวการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ควรเป็นเท่าไรในพอร์ตการลงทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนแต่ละคนว่ายอมรับความเสี่ยงสูงระดับหนึ่ง โดยหากผู้ลงทุนเคยมีพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ 70% ในหุ้น 30% ก็แนะนำว่าควรลดสัดส่วนในหุ้นลงและเพิ่มสินค้าโภคภัณฑ์เข้าไป 10 - 15%
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า โดยสถิติการลงทุนแล้ว การปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับตัวของตราสารหนี้ จึงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ถูกจัดเป็นสินทรัพย์ที่ควรมีอยู่ในพอร์ตการลงทุนเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นเศรษฐกิจขาขึ้น
สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์มากนัก หากต้องการกระจายการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ควรจะลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคัดเลือกผลิตภัณฑ์ ส่วนการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตนั้น ผู้ลงทุนจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและระยเวลาการลงทุนที่เหมาะสมกับกระแสเงินสดของแต่ละบุคคล ซึ่งคำแนะนำโดยทั่วไป หากเป็นผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้ในระยะปานกลาง ประมาณ 3-5 ปี แนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ประมาณ 15-25% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน และปรับสัดส่วนการลงทุนตามจังหวะการลงทุน