ดูเหมือนว่า "Creative Economy” หรือ เศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์" จะเริ่มคุ้นหูคนไทยมากขึ้น หลังจากรัฐบาล "มาร์ค" ออกมาประกาศชัดเจนว่า ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเชิงสร้างสรรค์นี้ให้มากขึ้น...ซึ่งเรื่องนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก ซึ่งในประเทศไทยเองมีการพูดถึงมานานพอสมควร แต่ยังไม่มีใครสนับสนุนให้เกิดอย่างเป็นจริงเป็นจัง
โดยแนวทางที่รัฐบาลไทยจะทำนั้น คือ การให้เงินสนับสนุนเกี่ยวกับโครงการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ โดยจะเน้นหนักไปทางการท่องเที่ยว ภาพยนต์ โดยการเอาวัฒนธรรมของไทยใส่เข้าไปขายให้ต่างชาติ ซึ่งแนวทางในการสนับสนุนเบื้องต้น จะใช้รูปแบบง่ายๆ คือ การตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่เสนอโครงการเข้ามาให้รัฐบาลพิจารณา
ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกับคำว่า “Creative Economy” ก่อนว่า เป็นรูปแบบของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่นำสินทรัพย์อย่าง "ความคิดสร้างสรรค์” มา "เพิ่มมูลค่า” โดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัว ผนวกกับ "สินทรัพย์ของท้องถิ่น” เป็นรากฐาน ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมิได้มีรูปแบบเช่นที่ผ่านมา หากแต่เป็นระบบใหม่ที่เปิด พื้นที่ให้บุคคลในแต่ละถิ่นที่อยู่ได้นำความคิดสร้างสรรค์ของตนมามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
มีข้อมูลว่า Creative Economy ในอังกฤษ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเขาอาศัยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี โดยรัฐบาลมีการทำ "Creative Mapping" กำหนดให้ London เป็น Hub อย่างชัดเจน กระทั่งอุตสาหกรรม "สินทรัพย์ทางปัญญา" ของอังกฤษมีมูลค่ากว่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี...
เอ็มเอฟซีบุกเบิก "ครีเอทีฟฯฟันด์"
ถึงแม้ไทยเอง จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หากทำได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้สูงทีเดียว ซึ่งนอกเหนือจากภาครัฐที่ให้การสนับสนุนแล้ว ภาคเอกชนเอง ก็เห็นความสำคัฐของแนวความคิดนี้เช่นกัน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุน Creativity Fund ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย...
ที่มาที่ไป และรูปแบบการจัดตั้งกองทุนจะเห็นอย่างไรนั้น "พิชิต อัคราทิตย์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี มีคำตอบให้เรา
"พิชิต" เล่าว่า กองทุนนี้ เป็นกองทุนที่เราตั้งขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวกับการสนับสนุนของภาครัฐแต่อย่างใด เพียงแต่คอนเซปต์ตรงกันเท่านั้น ซึ่งกองทุนที่เราจะจัดตั้งขึ้นมานั้น จะแตกต่างจะอยู่ในรูปแบบ Private Equity นั่นคือ การเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะเป็นทั้งธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วและต้องการสร้างมูงค่าเพิ่ม รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นขึ้นมา
"แนวคิดดังกล่าว เป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้ ไต่บันไดพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นไปได้ ไม่ใช่เพียงการรับจ้างผลิตตามออร์เดอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เข้มแข็ง และขยายตัวมากขึ้น ที่สำคัญ คือการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สนองความต้องการสูงค้าได้สูงขึ้นด้วย"
โดยในเบื้อง ธุรกิจที่กองทุนจะเข้าไปลงทุน จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดเพื่อส่งออกศิลปะวัฒนธรรมไทย การท่องเที่ยว สปา โรงภาพยนต์ แอปพลิเคชั่นใหม่ รวมถึงสินค้าโอทอปก็สามารถทำได้
"พิชิต" ขยายความของคำว่า "การส่งออกวัฒนธรรม" ว่า จะออกมาในรูปแบบเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้ทำอยู่ นั่นคือ การนำดนตรี ภาพยนต์ นักร้อง นักแสดง ออกไปเผยแพร่สู่สายตาชาวต่างชาตินั่นเอง
ผลตอบแทนจูงใจไม่ต่ำกว่า20%
ในเบื้องต้น กองทุนที่บลจ.เอ็มเอฟซีจัดตั้งขึ้นมา มีชื่อว่า กองทุน MFC National Creativity Fund มูลค่าโครงการเบื้องต้นประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีอายุโครงการประมาณ 7 ปี โดยจะเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแวลูให้กับสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน ซึ่งธุรกิจที่กองทุนจะเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีตัวตนเหมือนการลงทุนในเครื่องจักร ซึ่งในโลกของการลงทุนแล้ว การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ และการลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ สร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงพอสมควร
เขาบอกว่า ลักษณะของการลงทุนนี้ จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ในช่วงแรกจะเป็นช่วงของการลงทุน และในช่วงหลังจะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ซึ่งรูปแบบนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับกองทุนเปิดเอ็นเนอร์จีฟันด์ ที่เราบริหารอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของเงินทุนนั้น ขณะนี้กำลังหารือเบื้องต้นกับบรรดาสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEBANK) ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เพื่อระดมทุนจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งน่าจะมีการลงนามร่วมทุนเร็วๆนี้
นอกจากนี้ อาจจะมีการเปิดช่องให้กิจการที่เข้าไปร่วมลงทุนนั้น สามารถหาสินเชื่อเพิ่มเติมได้ โดยกลไกนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็จะเข้ามามีบทบาทในการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกทาง
สำหรับแหล่งลงทุนหรือธุรกิจที่กองทุนจะเข้าไปร่วมลงทุนนั้น "พิชิต" บอกว่า กองทุนจะเป็นคนแสวงหาเอง ส่วนหนึ่งก็จะเป็นนวัตกรรมใหม่ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งบรรดานักสร้างสรรค์เหล่านี้มีความคิดริเริ่มที่ดี และมีศักยภาพสูงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ถนัดในเชิงธุรกิจและเชิงพาณิชย์ ดังนั้น กองทุนนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดี
"พิชิต" กล่าวว่า กองทุนนี้น่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนได้อีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยในเบื้องต้น ผลตอบแทนตลอดอายุการลงทุนที่นักลงทุนจะได้รับ คาดว่าจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 20%
...น่าสนใจทีเดียว กับการลุกขึ้นมาสนับสนุนธุรกิจในประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานประเทศได้ ทั้งภาครัฐและเอกชน...ซึ่งประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะหากเศรษฐกิจดี เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายเองก็อยู่ดีกินดีไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนเอง เชื่อว่าการลงทุนสามารถควบคุมความโปร่งใสได้ เพราะมีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวด...แต่ในส่วนของภาครัฐเอง มีความเป็นห่วงว่า การพิจารณาให้เงินสนับสนุนแต่ละโครงการ จะโปร่งใสแค่ไหน เพราะขึ้นชื่อว่านักการเมืองแล้ว ไว้ใจยากซะเหลือเกิน...เอาเป็นว่ายังไงก็อย่าให้คนไทยที่อยากเห็นชื่อ "ประเทศไทย" เป็นที่รู้จักทั่วโลกผิดหวังแล้วกันนะครับ...