xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกรรมยืม-ให้ยืมหลักทรัพย์ อีกช่องทางแสวงหากำไรให้กองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในภาวะการณ์ที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ไม่ค่อยสดใส และเอื้ออำนวยต่อการซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) ดูจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หันมาให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าหุ้นบางตัวในพอร์ตลงทุนอาจมีการซื้อมาในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงมากแล้ว และในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยฟื้นตัวอย่างชัดเจน และยังอยู่ในระดับที่ต่ำสุด ซึ่งหากเปรียบเปรยไปคงคล้ายกับคนไข้ที่ยังไม่ฟื้นจากอาการสร่างไข้มากนัก ส่งผลให้ราคาหุ้นยังไม่ค่อยไปไหนมากนัก จึงทำให้ส่วนต่างของราคาหุ้นจึงค่อนข้างน้อยไปด้วย รวมถึงราคาหุ้นในปัจจุบันอาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาซื้อมาจนเกินกว่าจะตัดสินใจขายทิ้งไป แต่ทว่าการปล่อยหุ้นอยู่ในพอร์ตลงทุนดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยน่าสนใจ และเป็นผลดีต่อพอร์ตลงทุนโดยรวมเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางการลงทุนในหุ้นของ บลจ.ส่วนใหญ่ จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และราคามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปในระยะยาวก็ตาม ขณะที่ปัจจุบัน บลจ.บางส่วน ได้หันมาใช้เครื่องมืออื่นอย่างการซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า (Stock Futures) มาช่วยในการบริหารพอร์ตลงทุน เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือเก็งกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีข้อดีที่สามารถทำได้สองทางทั้งในช่วงที่หุ้นอยู่ในสภาวะขาขึ้น และหุ้นอยู่ในสภาวะขาลง

แต่คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเครื่องมือดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นจำนวนหุ้นที่ยังมีไม่มากนัก ซึ่งในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น Futures ที่อ้างอิงบนหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 5 ตัว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารกรุงไทย (KTB)

หุ้นในกลุ่มพลังงาน 3 ตัว ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU หุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 1 ตัว ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC

หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 ตัว ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 1 ตัว ได้แก่ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA และหุ้นในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 3 ตัว ได้แก่ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH

ดังนั้น การหันมาใช้ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์จึงดูจะปลอดภัย และมีความเหมาะสมมากที่สุด โดยการปล่อยหลักทรัพย์ให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยังส่งผลให้ บลจ.ไม่เสียโอกาสในการเพิ่มรายได้ หรือผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนของกองทุนด้วย อย่างน้อยค่าธรรมเนียมที่ได้ก็ยังน่าสนใจกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์แน่นอน

นฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI กล่าวว่า ปัจจุบัน บลจ.เริ่มนำหุ้นในพอร์ตของกองทุนหุ้นมาให้บริษัทยืมมากกว่า 10 กองทุน รวมทั้งกองทุนสถาบันขนาดใหญ่ของไทยก็ให้ยืม ซึ่งดีกว่าการทิ้งหุ้นอยู่ในพอร์ต และกองทุนยังได้ค่าธรรมเนียมจากการให้ยืมหุ้นประมาณ 2 – 2.5% ซึ่งดีกว่าเงินฝาก

“ปกติหุ้นที่ให้ยืมต้องอยู่ใน SET50 ซึ่งกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) ก็เป็นอีกหลักทรัพย์หนึ่งที่นิยมให้ยืม” นฤมล บอก

ทั้งนี้ ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ถือว่าช่วยให้การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งทำให้การลงทุนมีเครื่องมือในการบริหารพอร์ตลงทุนได้มากขึ้น

โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทเริ่มใช้ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์กับกองทุนหุ้นในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนเป็นสำคัญ ซึ่งมองว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด และไม่มีปัญหามาก ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนได้ด้วย ส่วนกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ Active จะเลือกใช้ธุรกรรมนี้มากกว่ากองทุนที่เน้นใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ Passive

ทั้งนี้ ธุรกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์กับผู้ถือหน่วยลงทุน เพราะว่าส่วนใหญ่กองทุน LTF จะถือครองหุ้นในระยะยาวอยู่แล้ว ตราบใดที่หุ้นยังอยู่ในพอร์ตลงทุน การที่ให้ บล.ยืมหุ้นไปซึ่งเป็นการสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกลับมาจึงเป็นการดีกว่า เพราะว่าผู้จัดการกองทุนไม่คิดจะขายหุ้นออกไปอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังไม่มีความเสี่ยงด้วย เพราะว่าโดยปกติแล้ว บล.จะต้องวางเงินสด 120% ของมูลค่าหุ้นที่จะยืมไป ส่วนหุ้นที่ได้รับความนิยมในการยืมมากที่สุดส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นในกลุ่ม SET 50 เพราะว่าเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ และมีสภาพคล่องสูง บาง บล.อาจยืมแบบรายตัว หรือแบบหลายตัวก็ได้ แต่ไม่สามารถบอกค่าธรรมเนียมได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขสัญญากับ บล.คู่สัญญา

ทิวารัตน์ เตชะมีเกียรติชัย กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ กล่าวว่า บริษัทได้นำหุ้นของกองทุนหุ้นไปให้ผู้ยืมบ้าง ซึ่งหุ้นที่ให้ยืมจะต้องเป็นหุ้นที่คาดการณ์ไว้ว่าจะไม่ได้ขายออกในช่วงสั้น แต่หากภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุที่ทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องการขายหุ้นที่ให้ยืมไป ก็สามารถเรียกหุ้นคืนได้ทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตกลงไว้ ในส่วนของค่าธรรมเนียมที่กองทุนจะได้รับมีตั้งแต่ 1 – 5% ของมูลค่าหุ้นที่ให้ยืมต่อปี

ด้าน โศภนา เจนบวร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนหุ้นของบริษัทยังไม่ได้นำหุ้นในพอร์ตไปให้ บล.ยืม อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อทุกอย่างลงตัวก็มีโอกาสที่จะนำหุ้นในพอร์ตลงทุนไปหาประโยชน์เพิ่มเติมได้

แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ความสนใจนำหุ้นไปให้ บล.ยืม เพราะว่าหากราคาหุ้นปรับตกไปมาก ส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ในช่วงสิ้นปีปรับลดลงไปด้วย และหากจะดึงหุ้นกลับมาก็จะทำได้ลำบาก ซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญากับ บล.ว่าจะยืมหุ้นไประยะเวลาเท่าใด แต่หากมีการดึงหุ้นกลับคืนมาก่อนกำหนดก็อาจจะได้ไม่เท่ากับเสีย

ทั้งนี้ มองว่าธุรกรรมนี้เหมาะสมกับกองทุน LTF เพราะว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเหมาะกับนักลงทุนประเภทสถาบันที่มีหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถลงทุนได้ในระยะยาว และไม่สนใจขายหุ้นออกไปอยู่แล้ว ขณะที่กองทุนหุ้นธรรมดาที่มีการซื้อขายทุกวันไม่ค่อยเหมาะกับการใช้ธุรกรรมนี้มากนัก...
โชติกา สวนานนท์

กำลังโหลดความคิดเห็น