xs
xsm
sm
md
lg

เงินฝากเปิดศึกระลอกใหม่ กองทุนจะใช้กลยุทธ์อะไรต่อสู้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แข่งเดือดชิงเงินฝาก TMB 5 ปี 3.5% จ่ายดอกทุกเดือน!!” จั่วหัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ที่ธนาคารทหารไทย (TMB) เสนอผลิตภัณฑ์ TMB Extra Term Deposit หรือ บัญชีเงินฝากประจำทีเอ็มบีเอ็กซ์ตร้า มีระยะการออมให้เลือก 2 ประเภทด้วยกัน คือประเภท 36 เดือน รับดอกเบี้ย 2.5 % ต่อปี และ ประเภท 60 เดือน รับดอกเบี้ย 3.5 % ต่อปี โดยเป็นการรับอัตราดอกเบี้ยทุกเดือน

ส่วนธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ในระดับหัวแถวของประเทศอย่างกรุงเทพ (BBL) กสิกรไทย (KBANK) และไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ออกผลิตภัณฑ์เงินมาในระยะเวลาที่ค่อนข้างไล่เลี่ยกัน ล้วนนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากอายุ 36 เดือน และรายแรกให้อัตราดอกเบี้ยที่ 1.50%ต่อปี ส่วน 2 รายหลังให้อัตราดอกเบี้ยที่ 1.75%ต่อปี เรียกว่าไม่มีการอ่อนข้อให้กันและกันเลย

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่นอกจากจะออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก 48 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.30 %ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนมาก่อนหน้านี้ แล้วยังกระหน่ำดึงดูดเม็ดเงินต่อด้วยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต กรุงไทย 2 Pay เป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ลูกค้ายังได้รับสิทธิฝากประจำ 12 เดือน ในจำนวนเงินเท่ากับค่าเบี้ยที่จะต้องจ่ายในปีที่ 2 ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ 12 เดือน 0.25% ต่อปี พร้อมรับฟรีประกันอุบัติเหตุสูงสุดถึง 1 ล้านบาท

แถมยังตามด้วยการออกผลิตภัณฑ์ KTB B/E Together โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนใน KTB B/E อายุ 4 เดือน ร่วมกับลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย(KTAM) ในจำนวนเงินที่เท่ากัน และเป็นยอดที่ลงทุนในวันเดียวกัน ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี สำหรับ KTB B/E อายุ 4 เดือน ทั้งนี้ต้องลงทุนขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท และทวีคูณครั้งละ 1 พันบาท ไม่จำกัดวงเงินลงทุนสูงสุด ผู้ลงทุนต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ใช้บริการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2552

แต่ผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบระยะสั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย ซึ่งเป็นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดตัวแคมเปญ “เงินฝากประจำพิเศษ KRUNGSRI MAX STEP” 10 เดือน และ 18 เดือน โดยนำเสนอ 2 ทางเลือก เงินฝากประจำพิเศษ 10 เดือน รับดอกเบี้ยสูงสุด 1.60%ต่อปี และเงินฝากประจำพิเศษ 18 เดือน รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.50%ต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนเช่นกัน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เองก็ออกผลิตภัณ์เงินฝากระยะสั้นมาเช่นกัน ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ คือ บัญชีเงินฝากประจำ 9 เดือน โดยชูจุดเด่นรับดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นทุก 3 เดือน

และเข้ากับเทศกาลวันแม่ในช่วงที่ผ่านมาที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นแคมเปญ “เงินฝากออมทรัพย์รักแม่” ของธนาคารทิสโก้ ที่ชูจุดเด่นด้วยการมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มให้อีก 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยปกติ เพื่อมอบเป็นของขวัญสำหรับแม่ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยก็เสนอเงินฝากประจำวันแม่ 7 เดือน โดยให้อัตราดอกเบี้ย 1.25%ต่อปี และรับดอกเบี้ยทุกเดือน

...ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะดูแนวโน้มหลังจากนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์แบบนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าสงครามเงินฝากกลับมาอีกครั้งแล้วหรือไม่

วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์กลับมาออกผลิตภัณฑ์เงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูงอีกครั้ง มองว่าธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องการล็อกอัตราผลตอบแทนไว้ในระยะยาวที่ 3 – 5 ปี เพราะว่าในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น โดยในแง่ธนาคารพาณิชย์การที่ล็อกเงินลูกค้าในระยะยาวแล้ว จะช่วยให้มีต้นทุนการเงินในอนาคตที่ต่ำ จึงต้องการโยกย้ายเงินฝากส่วนใหญ่ไปอยู่ในส่วนที่ฝากเงินแบบระยะยาวมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่แตกต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ต้องการระดมเงินฝากมาเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของตราสารหนี้ที่จะลงทุนจากเดิมที่ระดับ AA เหลือเพียง A ขึ้นไป เพื่อสู้กับการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้มีตราสารหนี้ที่สามารถเข้าไปลงทุนได้มากขึ้น โดยตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ AA ขึ้นไปมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A ขึ้นไปมีหลายประเทศ และยังให้ผลตอบแทนที่ดีด้วย

นอกจากนี้ บริษัทจะหันมาใช้กลยุทธ์แบบก้าวหน้า (aggressive) มากขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว โดยจะมีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ตราสารทุน หุ้นในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

ธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์หันมาระดมเงินฝาก เพราะว่าต้องการสำรองสภาพคล่องเอาไว้ หลังจากภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปีหน้า จึงต้องระดมเงินไว้ก่อน เพื่อรองรับในการปล่อยสินเชื่อในปีหน้า แต่อาจจะเป็นผลมาจากการที่ช่วงเวลาที่เงินฝากบางส่วนทยอยครบกำหนดไล่เลี่ยกัน หรือเหลื่อมกันไม่มาก ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเกรงว่าเงินออมจะไหลไปยังธนาคารพาณิชย์อื่นแทน

อย่างไรก็ตาม การระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์คงไม่ถึงขนาดทำให้นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้ไป และคงไม่เกี่ยวกับกองทุนรวมมากนัก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน แต่อาจจะกระทบในส่วนของกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) บ้าง แต่นักลงทุนส่วนใหญ่จะชินแล้วว่ากองทุนนี้เป็นแหล่งที่พักเงินไว้รอลงทุน ซึ่งจะเป็นการลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นจึงไปลงทุนกองทุนหุ้น หรือกองทุนอื่นต่อไป

นอกจากนี้ ยังมองว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากคงสู้ดอกเบี้ยของหุ้นกู้ไม่ได้ อาทิ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่น่าจะให้ผลตอบแทนประมาณ 3 – 4%ต่อปี โดยกลยุทธ์ในช่วงนี้ บริษัทจะเน้นการลงทุนเกี่ยวกับหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งในส่วนของตราสารหนี้ บริษัทชื่นชอบหุ้นกู้ และมองว่าอายุ 3 ปีจะค่อนข้างเหมาะสมกับการลงทุน เพราะว่าหากล็อกนานไปอาจจะเลยช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไปแล้วก็ได้

โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การระดมเงินฝากในช่วงนี้น่าจะมาจาก 2 สมมติฐานคือ ธนาคารพาณิชย์ต้องการนำเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อจริง และออกแคมเปญมาเพื่อรักษาฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เองจะให้ความสนใจลูกค้ารายย่อยมาก และนับว่าเป็นหัวใจของธนาคารพาณิชย์ด้วย โดยแคมเปญที่ออกมาจะมีความจำเป็นมาก เพราะว่าจะได้ไม่ถูกธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นดึงลูกค้ารายย่อยไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกระทบต่อกองทุนรวมตลาดเงินบ้าง เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นไป ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนจะปรับขึ้นตามไม่ทัน แต่หากในกรณีที่อัตราดอกเบี้นนโยบาย (RP) ปรับขึ้นไป กลับจะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนปรับขึ้นไปก่อนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเช่นกัน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมค่อนข้างสูง เนื่องจากหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวต้องชะงักลงได้

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นออกแคมเปญมาส่งเสริมการขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมากกว่า โดยจะออกแคมเปญมาก่อนในช่วงนี้ และอีกครั้งในช่วงปลายปี

กำลังโหลดความคิดเห็น