xs
xsm
sm
md
lg

คุมบลจ.ห้ามซื้อหุ้นตามใจลูกค้า ย้ำชัดต้องให้ข้อมูลการก่อนลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 สำนักงาน ก.ล.ต. ออกโรงเตือน ห้ามกองทุนส่วนบุคคล ซื้อหุ้นตามใจลูกค้าโดยไม่ใช้ดุลยพินิจ ย้ำต้องให้ข้อมูลก่อน เพราะอาจเข้าขายเป็นโบรกฯ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทจัดการหลายแห่งสอบถามสำนักงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) ว่า จะจัดการกองทุนส่วนบุคคลในลักษณะที่บริษัทจัดการจะจัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของลูกค้าเพียงอย่างเดียว (non-discretionary)  ได้หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นการลงทุนตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สำนักงานจึงได้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

 โดยระบุว่าในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการอาจลงทุนตามคำสั่งของลูกค้าได้ ต่อเมื่อบริษัทจัดการได้ทำหน้าที่ในการจัดการเงินลงทุนของลูกค้าครบถ้วนแล้ว กล่าวคือ บริษัทจัดการต้องนำเสนอการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยพิจารณาจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ฐานะทางการเงิน ภาพรวมทางการเงิน ความต้องการและข้อจำกัดการลงทุน และจัดการกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยมุ่งคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ลงทุน
 
ทั้งนี้ การที่บริษัทจัดการจะซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลตามคำสั่งของลูกค้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้ดุลยพินิจใด ๆ นั้น (non-discretionary) ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะไม่พิจารณาว่าเป็นการจัดการกองทุนส่วนบุคคล และอาจเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

 ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ และการประกอบธุรกิจจัดการลงทุน รวม 3 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย การลงทุนในต่างประเทศของบุคคลทั่วไปที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์

โดยได้เห็นชอบให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์และอนุพันธ์ต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทในประเทศไทยที่ไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตราสารหนี้ของภาคเอกชนต่างประเทศที่ซื้อขายนอกตลาดและได้รับการจัดอันดับความเสี่ยงในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) สิทธิประโยชน์อันเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้ลงทุนไว้แล้วเช่น หุ้นเพิ่มทุน หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม หุ้นที่มีการเสนอขายต่อประชาชนและมีแผนชัดเจนว่าจะนำเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์เฉพาะที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ตามประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนได้ และตราสารอนุพันธ์ต่างประเทศที่ซื้อขายในตลาด (exchange) โดยให้ลงทุนได้เฉพาะเพื่อการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ ประเภทหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ต่างประเทศที่เพิ่มเติมดังกล่าว ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว

 สำหรับประเด็นของการจัดตั้งกองทุนรวม ได้เห็นชอบให้มีการอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมแบบอัตโนมัติได้ ซึ่งในกรณีที่กองทุนรวมมีลักษณะไม่ซับซ้อน เช่น ไม่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า มีหน่วยลงทุนประเภทเดียวซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และจ่ายผลตอบแทนตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจของบริษัทจัดการ โดยในการยื่นคำขออนุมัติ ผู้บริหารของบริษัทจัดการจะต้องมีหนังสือรับรองว่ากองทุนรวมที่ยื่นนั้นมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว

และในระยะแรกจะยังไม่อนุญาตให้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศและไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ยื่นคำขอจัดตั้งในลักษณะนี้ เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของกองทุนรวมประเภทนี้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญนี้อย่างเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดการลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ได้เห็นชอบให้เพิ่มเติมสินค้าและตัวแปรอ้างอิง (underlyings) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured notes) ที่กองทุนสามารถลงทุนได้ โดยอนุญาตให้กองทุนสามารถลงทุนอ้างอิงกับดัชนีเงินเฟ้อ และดัชนีกลยุทธ์การลงทุนได้ และเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขลักษณะของดัชนีที่ใช้เป็นตัวแปรอ้างอิงให้เป็นสากลยิ่งขึ้น

 กล่าวคือ เน้นเรื่องการกระจายตัวของดัชนีแทนการกำหนดให้ดัชนีต้องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ต้องมีการคำนวณดัชนีให้เป็นปัจจุบันตามความเหมาะสมขององค์ประกอบของดัชนี และให้ผู้พัฒนาดัชนีต้องเป็นอิสระจากบริษัทจัดการ แต่หากเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ก็จะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น