บลจ.แอสเซท พลัส เชื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ดีเกินคาด ส่งผลให้กองทุนเปิด”แอสเซทพลัสเอสแอนด์พี500” ผลงานดี เผยย้อนหลัง 1 เดือน ผลตอบแทนพุ่ง 7.11%
นายวิน อุดมรัชต์วนิชย์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มำให้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากตัวเลขจำนวนผู้ตกงานออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยอัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้นักลงทุนคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ดีขึ้นนั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่ ในช่วงก่อนหน้านี้ตลาดได้คาดว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะออกมาไม่ดีนัก ทำให้ตลาดมีการปรับตัวรับการคาดการณ์ดังกล่าวไปล่วงหน้าก่อนแล้ว แต่ตัวเลขจริงที่ออกมานั้นกลับดีกว่าที่มีการคาดกันไว้
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ ราคาสินทรัพย์คงค้างได้ปรับตัวดีขึ้นมาก เช่น สต็อกน้ำมัน และตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (CDO) และปัจจัยสุดท้าย บริษัท และโรงงานต่างๆ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการลดต้นทุนการผลิต (Cost Cutting) และการปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization) ไม่ได้มาจากความต้องการบริโภคสินค้าที่แท้จริง ดังนั้น ในช่วงต่อไปจึงเห็นว่า ตลาดควรดตามตัวเลขปริมาณความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่าจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งจะช่วยยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในด้านการบริโภค
ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาที่มีการประกาศตัวเลขผลประกอบการของบริษัท โดยปัจจุบันดัชนี S&P500 อยู่ที่ระดับ 1,005 จุด ปรับตัวขึ้นจากต้นปี 11.35%
นายวันกล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนี S&P500 ดังกล่าว ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอสแอนด์พี 500 (ASP-S&P500) ของบริษัทด้วย โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 พบว่า กองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลังนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เท่ากับ 7.11% เทียบกับดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองทุน มีผลการดำเนินงานเท่ากับ 4.97%
ทั้งนี้ กองทุน ASP-S&P500 เป็นกองทุนแบบ Passive FIF ซึ่งจะปรับตัวตามทิศทางของดัชนี S&P500 และมีนโยบายทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนในภาวะปกติ และใช้กลยุทธ์ในการปรับสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป (Dynamic hedging) ในภาวะอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง
ดังนั้น กองทุนจึงเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสร้างโอกาสได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน