นายกสมาคมบลจ. หนุนบริษัทสมาชิก เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน ประเดิมขอความร่วมมือกองทุน แจงข้อมูลหุ้นที่เข้าไป ลงทุน ควบคู่สัญลักษณ์จาก IOD
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ในฐานะของผู้ลงทุนสถาบัน กล่าวว่า บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี น่าลงทุน มักจะเป็นบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CGR) ดังนั้น สมาคม บลจ. จึงยินดีที่จะสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากบทเรียนในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความล้มเหลวล่มสลายของบริษัท มาจากการละเลย ไม่กำกับดูแลกิจการที่ดีพอ เช่นกรณีของ WORLDCOM, SIEMENS, Hyundai Motor, Satyam มาจนถึงกรณีของ Hedged Fund ขนาดใหญ่ของ Mardof ในปัจจุบัน รวมทั้งกรณีบริษัทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายมหาศาล
ดังนั้น บริษัทจัดการลงทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน จึงสามารถส่งเสริมการนำผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการมาใช้ได้อีกทางหนึ่ง โดยเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่กองทุนต่างๆ ลงทุน ควบคู่ไปกับสัญลักษณ์ที่บริษัทนั้นๆ ได้รับจาก IOD ซึ่งจะนำแนวทางนี้ไปหารือภายในสมาคมต่อไป
โดยเมื่อเร็วๆนี้ สมาคม บลจ. ร่วมจัดประชุมโต๊ะกลม “CGR กับการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์” ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้และแนวทางในการเปิดเผยรายงานการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยของไว้ในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน สมาคมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ทำการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยมาแล้วจำนวน 6 ครั้ง โดยสำรวจล่าสุดครั้งที่ 6 ในปี 2551 ผลการศึกษาตามโครงการได้มีส่วนกระตุ้นให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเพิ่มมากขึ้น และมีแนวคิดที่จะเผยแพร่ผลสำรวจของ IOD ไปยังผู้ลงทุน โดยส่งเสริมให้มีการเปิดเผยสัญญลักษณ์ที่แต่ละบริษัทได้รับในการกำกับดูแลกิจการเป็นรายบริษัทไว้ในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์
โดยสัญญลักษณ์ดังกล่าวนี้ แบ่งออกเป็น 5 ดาว 4 ดาว และ 3 ดาว ตามคะแนนที่ได้รับจาก IOD ซึ่งคะแนนที่ได้นั้นมาจากการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวม 132 ข้อ แบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่ 1. สิทธิของผู้ถือหุ้น 2. การปฏิบัติของผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3. การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้นำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ในปี 2551 มี 22 บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม 5 ดาว (ยอดเยี่ยม) 123 บริษัทอยู่ในกลุ่ม 4 ดาว (ดีมาก) และ 157 บริษัทอยู่ในกลุ่ม 3 ดาว (ดี)