xs
xsm
sm
md
lg

"ก่อร่าง สร้างฐาน" ภาระกิจปั้น"บลจ.นครหลวงไทย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่า 7 เดือนแล้ว ที่ “ธีรพันธุ์ จิตตาลาน” ได้เข้ามากุมหางเสือให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้เคยเปิดโอกาสให้ทีมงาน “ASTVผู้จัดการกองทุนรวม” เข้าสัมภาษณ์มาแล้ว และในวันนี้ ขอพาดูความคืบหน้าของการนำพานาวาลำนี้กันอีกครั้ง โดยในช่วงนี้ “ธีรพันธุ์” เกริ่นเริ่มต้นว่าปัจจุบันยังถือว่าเป็นช่วงของการปรับปรุงตกแต่งบ้าน ก่อนที่จะเดินหน้าก้าวไปสู่จุดหมายที่ได้ตั้งไว้

เขาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงนี้เหมือนเป็นการสร้างบ้าน ซ่อมแซม และตกแต่งบ้าน โดยความพร้อมในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 80% แล้วจึงถือโอกาสเปิดตัวบริษัท และทีมงานผู้บริหารอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2547 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ 100 ล้านบาทและธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% ต่อมาในปี 2548 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 170 ล้านบาท

ในช่วงต่อมา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้เล็งเห็นว่าหากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันประกันเงินฝากมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสล้มลงได้ และการประกันเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท จะทำให้เม็ดเงินจากภาคธนาคารพาณิชย์ไหลไปยังธุรกิจ บลจ.มากขึ้น จึงมาช่วยเพิ่มทุนจดทะเบียนจนทำให้ในปัจจุบันมีอยู่ 300 ล้านบาท โดยมีธนาคารนครหลวงไทยถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ กบข.ถือหุ้นในสัดส่วน 40%

"ธีรพันธุ์" บอกว่า ความคุ้มทุนของ ธุรกิจ บลจ.มาจากมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) โดยเอยูเอ็มที่ถือว่าดี คุ้มค่ากับการลงทุน และสามารถขยายต่อจนสามารถทำกำไรอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สบายตัว

ทั้งนี้ เอยูเอ็มของบริษัทในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ดังนั้น จึงถือว่าค่อนข้างหนักเหมือนกันกับการสร้างความพร้อม และเจริญเติบโตขึ้นไปภายในระยะเวลา 3 ปี โดยการที่เอยูเอ็มจะเติบโตขึ้นไปที่ 1 แสนล้านบาท ความมาตรฐานจะต้องมี แม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดกลาง รวมทั้งความพร้อมในด้านการให้บริการ

ขณะเดียวกัน บริษัทจะอาศัยจุดแข็งทางธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารนครหลวงไทย และ กบข.โดยมีแผนดึงฐานลูกค้าจากธนาคาร รวมถึงสมาชิกของ กบข. เข้ามาเป็นลูกค้า โดยดูแลเงินหลังจากสมาชิก กบข.เกษียณอายุแล้ว แต่ยังต้องรอหารือกับเลขาธิการ กบข.คนใหม่ และมีแผนขยายฐานลูกค้ากลุ่มอื่นด้วย

“การที่นำเงินของนักลงทุนที่มาฝากไว้ จะต้องดูแลอย่างดีในเรื่องมาตรฐานของระบบการลงทุน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบนายทะเบียน และช่องทางการจำหน่ายจะต้องดีมาก ต้องไม่ผิดพลาด และต้องมีมาตรฐานสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ดังนั้น จึงขอเงินจากผู้ถือหุ้น และในปีนี้จะไม่กำไรมาก เพราะว่าต้องใช้ลงทุน ส่วนเรื่องที่สอง หากมีระบบดีแล้วเป็นเรื่องบุคลากร”

สำหรับจุดแรกที่เริ่มดำเนินการไปแล้วภายหลังจากการเข้ามารับตำแหน่ง คือ บริษัทไม่ได้มีการใช้คำว่า SCI-ASSET แล้ว และมีการเปลี่ยนง่ายๆ คือ ต่อไปนี้ช่วยเรียกเราว่า บลจ.นครหลวงไทย เพราะว่าลูกค้าของบริษัทเป็นคนไทยเกือบ 100% การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ดีๆ บอกลูกค้าว่ามาจาก SCI-ASSET ทำให้ต้องมานั่งแปลกันอีก แต่หากบอกว่ามาจาก บลจ.นครหลวงไทย ซึ่งจะชัดเจนกว่าว่ามาจากธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งคนไทยทุกคนจะรู้จักกว้างขวาง แม้ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางก็ตาม

ส่วนมูลค่าสินทรัพย์ในช่วง 3 ปีหลังค่อนข้างเติบโตได้ดี โดยปรับขึ้นมาจาก 3.7 หมื่นล้านบาท โดยปรับขึ้นมาอยู่ 4.4 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเติบโตของมูลค่าสินทรัย์ส่วนใหญ่จะมาจากกองทุนที่มีรอบระยะการลงทุนที่แน่นอน (โรลโอเวอร์) ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชน และพันธบัตรรัฐบาล 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งมีรอบครบ จึงต้องของเก่า และขยายใหม่จึงเหนื่อยยากมาก

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจ บลจ.มีฐานมาจากธนาคารพาณิชย์ อุตสากรรมจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารพาณิชย์ โดยลูกค้าจะต้องมีการระบุอัตราผลตอบแทนที่แน่นอน จึงเห็นได้ว่าลักษณะของผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์มาก

"ธีรพันธุ์" บอกว่า บริษัทจะนำเสนอปรัชญาการทำธุรกิจด้วยแนวคิดการให้บริการ Smart & Caring (สมาร์ท แอนด์ แคร์ริ่ง) อันได้แก่ การนำเสนอความเป็นมืออาชีพจากการสร้าง และคัดสรร ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน ระบบการลงทุน และระบบการบริหารการลงทุนที่ชาญฉลาด (สมาร์ท) ผ่านบุคคลากรที่ได้รับการอบรมเพื่อการให้บริการอย่างเอาใจใส่ (แคร์ริ่ง) โดยให้ความสำคัญมากที่สุดต่อความเข้าใจ และความต้องการของลูกค้าที่มีความแตกต่างกันไป โดยการนำเสนอความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการลงทุนให้กับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนมีเงินคงจะต้องนำไปฝากกับคนที่สมาร์ท มีการรอบรู้ เฉลียวฉลาดในการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อ บลจ. ไม่ใช่มีการเลียนแบบ (ก็อปปี้) ต้องรู้เรื่องจริงๆ อย่างเช่น กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะนำมาขายมีการใช้เวลาแกะประมาณ 4 เดือนกว่า แกะจนแทบไม่ต้องจ้างซิตี้แบงก์ เพราะว่ารู้หมดว่าลงทุนในอะไร ยังไง และรู้จักความเสี่ยงทั้งหมด

“บริษัทจะเอาความรู้ธุรกิจการโอนเงิน ธุรกิจการตีราคาทรัพย์สิน แต่อาจจะไม่ได้ 100% เท่ากับธนาคารพณิชย์ ทำให้มีความคล่องตัว และให้ลูกค้ามีความสะดวกมาใช้เงินของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ลูกค้าจึงไม่ต้องห่วง ที่มาลงทุนในระยะยาวมากเราก็ทำให้สั้นลง จึงต้องไปบริการ โดยเฉพาะบุคลากรของบริษัทอย่างทีมมาร์เก็ตติ้งกับเซลล์ที่จะต้องไปเจอหน้าลูกค้า จะต้องแคร์ริ่งลูกค้า หากใครบริการลูกค้าไม่ดีคงไม่เอาไว้ในทีม” ธีรพันธุ์ บอก

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเสริมทีมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเงิน เนื่องจากจะไปลงทุนในต่างประเทศ จึงต้องมีความรู้ด้านการลงทุน และความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในกลุ่มธุรกิจ บลจ.มองว่ายังไม่มีบริษัทใดที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านค้าเงินโดยตรงมาร่วมทีมงาน

ส่วนแผนงานในปี 2552 ความพร้อมของระบบของบริษัท จะพัฒนาระบบทะเบียนภายในใหม่ขึ้นมา ควบคู่ไปกับระบบทะเบียนเก่า เพื่อตรวจดูความเสถียรของระบบ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี เพื่อให้การให้บริการมีความถูกต้อง เที่ยงตรง และมีความรัดกุมมากขึ้น และกำลังพัฒนาระบบจัดการเงินสด เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า

ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังพัฒนาคือการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร่วมมือกับ บมจ.ธนาคารนครหลวงไทยในการให้ข้อมูลสามารถวิ่งไปมาระหว่างกัน ร่วมถึงการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตขึ้นมา ซึ่งมองว่าเป็นช่องทางของอนาคต ซึ่งควรทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในธุรกิจนี้การที่เข้ามาพัฒนาระบบจะต้องใช้เวลาเป็นปี แต่คาดว่าจะสามารถทำได้เร็วกว่าที่เคยทำมา นับเป็นความท้าทายพอสมควร

นอกจากนี้ พัฒนาระบบโทรศัพท์ที่ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการติดต่อกับลูกค้า และรับฟังหรือให้ข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 – 2 เดือนข้างหน้า และจะสามารถให้ข้อมูลตอบสนองลูกค้าได้รวดเร้ว และซื้อขายผ่านโทรศัพท์ได้

กรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย กล่าวว่า ความพร้อมด้านผู้บริหารกองทุนนั้นมีการดึงผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านมาช่วย ซึ่งมุมต่างๆ นี้ทำให้เรามีความมั่นใจว่าเวลามีโอกาสต่างๆ เกิดขึ้นในการลงทุน สามารถที่จะเคปเจอร์ออกมาได้ และยังมีการให้ความสำคัญของการบิรหารความเสี่ยงสูงมาก ทุกขั้นตอนของการออกกองทุนมา จะมีการนำความเสี่ยงไปจับตลอด และมีมุมมองในการบริหารว่าจะทำอย่างไรจึงบริหาร หรือสร้างกำไรโดยเอาความเสี่ยงเป็นโจทย์ด้วย

ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงอย่างไรให้ทำเงิน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงที่ทันสมัย แต่ไม่ใช่ว่าจะมาควบคุมจนไม่ทำอะไร คนเราเวลาคิดถึงการบริหารความเสี่ยงมักจะคิดว่ามีการมากำหนดกติการเสียจนทำงานลำบาก ซึ่งไม่ใช่ เพราะว่าการบริหารความเสี่ยงที่ดีคือการเข้าใจว่าเราทำอะไร เราไปยุ่งกับอะไรอยู่ และความเสี่ยงอยู่ตรงไหนมากกว่า ถ้าเข้าใจความเสี่ยงอยู่ตรงไหนก็จะสามารถนำมาแอปพลายว่าการบริหารความเสี่ยงอะไรที่ไม่ให้เสียหาย และยืดหยุ่นให้ผู้จัดการกองทุนมีโอกาสไปทำเงินได้มากกว่า จะต้องเข้าใจใช้พวกนี้ให้เป็น

“การให้บริการลูกค้าในด้านการลงทุน โดยจะเปิดฉากด้วยกองทุนรวมไปก่อนสัก 2 – 3 กองทุน โดยมองว่าประเทศไทยมีหลายเรื่องที่ยังไม่ทัดเทียมต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะรู้จักตราสารหนี้ กับหุ้น (อิควิตี้) แค่ 2 ตลาด และบริษัทจะเริ่มเอาสินค้าโภคภัณฑ์เข้ามา (คอมมอดิตี้) และเริ่มจะตลาดหลักทรัพย์ไทยไปหนุนหนุนเอ็มเอไอในการสร้างหุ้นเข้าตลาด” ธีรพันธุ์ บอก

ทั้งนี้ สัดส่วนของหุ้นของในในประเทศไทยเป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน 40% ส่วนที่เหลืออีก 27 – 28% เป็นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แสดงให้เห้นว่าไม่สามารถกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นได้ ทำให้ธุรกิจอื่นๆ เติบโตลำบาก เนื่องจากอาศัยแต่ธนาคารพาณิชย์ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา และสถานะธนาคารพาณิชย์แย่หยุดปล่อยสินเชื่อ ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ลำบาก ตายเป็นแถว

ธีรพันธุ์ บอกว่า ไพรเวท อิควิตี้ อีกสินทรัพย์หนึ่ง หากเกิดขึ้นจะน่าสนใจมาก เนื่องจากจะสามารถไปกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้เลย โดยเป็นการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะสามารถสร้างกำไรได้มาก และในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติชื่นชอบการลงทุนแบบไพรเวท อิควิตี้ มาก...

...ได้เห็นวิสัยทัศน์ของ ผู้บริหารคนใหม่อย่าง “ธีรพันธุ์ จิตตาลาน” เชื่อว่าอีกไม่นาน คงนำพา "บลจ.นครหลวงไทย" แข่งขันในตลาดได้ไม่ยาก แต่คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายแน่นอน เพราะอย่าลืมว่า การแข่งขันในตลาดขณะนี้ ไม่เบาทีเดียว คู่แข่งที่มีอยู่เอง ก็พัฒนาไม่หยุดนิ่งเช่นกัน...สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นความท้าทายสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า
ธีรพันธุ์ จิตตาลาน


กำลังโหลดความคิดเห็น