xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : LTF จากเครดิตภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถาม - ผมอยากทราบว่าเครดิตภาษี (ที่ผมได้รับเงินปันผลจากการซื้อหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์) นำมารวมเป็นรายได้ และสามารถลงทุน ltf 15%ของเครดิตภาษี ได้หรือไม่อย่างไร วีรพงษ์

ตอบ - เจ้าหน้าที่จากสมาคทบริษัทจัดการลงทุนตอบคำถามไว้ดังนี้ครับ เงินได้ตามมาตรา 40 ทุกประเภทสามารถนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ที่จะสามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ครับ ซึ่งรวมถึงเงินเครดิตภาษีจากเงินปันผลและรวมถึงดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่รวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยนั้นด้วย แต่ในการนำเงินได้ดังกล่าวนี้มารวมเป็นฐานในการคำนวณ ผู้มีเงินได้จะเสียสิทธิที่จะถือว่าเงินได้ดังกล่าวได้เสียภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วและต้องนำเงินได้นั้นกลับมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีตามฐานภาษีของตนเองแทนครับ

คำถาม - อ่านแล้วผมงงๆ ครับ ผมยกตัวอย่างเป็น หากผมมีเงินปันผลดัง นี้หุ้น ZZZ จ่ายเงินปันผล 100 บาท ภาษี 30% หัก ณที่จ่าย 10 บาท เงินปันผลที่ได้รับ 90 บาท หุ้น XXX จ่ายเงินปันผล 300 บาท ภาษี 15% หัก ณ ที่จ่าย 30 บาท เงินปันผลที่ได้รับ 270 บาท ผมได้รับดอกเบี้ยฝากประจำดังนี้ ดอกเบี้ยจาก MMM จำนวน 200 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%= 30 บาท ดังนั้น ได้รับจริง 170 บาท

รบกวนช่วยอธิบายหน่อยว่า ผมสามารถซื้อ LTf ได้เท่าไหร่ และที่บอกว่าแต่ในการนำเงินได้ดังกล่าวนี้มารวมเป็นฐานในการคำนวณ ผู้มีเงินได้จะเสียสิทธิที่จะถือว่าเงินได้ดังกล่าวได้เสียภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วและต้องนำเงินได้นั้นกลับมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีตามฐานภาษีของตนเองแทนครับ หมายความว่าอย่างไรครับ ช่วยอธิบายอย่างละเอียดด้วยครับ เพราะไม่เข้าใจ

ตอบ - 1. กรณีหุ้น ZZZ ที่มีภาระภาษี 30% จะถือว่าผู้มีเงินได้มีเงินได้ทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 100 + (3/7 x 100) = 142.86 บาท ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF ไม่เกิน 15% ก็จะซื้อและใช้สิทธิได้ไม่เกิน 21.42 บาทในแต่ละประเภทกองทุน รวมทั้งเงินได้ 142.86 บาทนี้จะต้องนำไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีของตน โดยมีภาษีที่ชำระ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 10 บาท

2. กรณีหุ้น XXX มีภาระภาษี 15% จะถือว่าผู้มีเงินได้มีเงินได้ทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 300 + (15/85 x 300) = 352.94 บาท ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF ไม่เกิน 15% ก็จะซื้อและใช้สิทธิได้ไม่เกิน 52.94 บาทในแต่ละประเภทกองทุน รวมทั้งเงินได้ 352.94 บาทนี้จะต้องนำไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีของตน โดยมีภาษีที่ชำระ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 30 บาท

3. ดอกเบี้ยเงินฝากจำนวน 200 บาท นั้นจะถือว่าเป็นฐานในการคำนวณเงินค่าซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF ไม่เกิน 15% ก็จะซื้อและใช้สิทธิได้ไม่เกิน 30 บาทในแต่ละประเภทกองทุน รวมทั้งเงินได้ 200 บาท นี้จะต้องนำไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีของตน โดยมีภาษีที่ชำระ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 30 บาท

คราวนี้หากต้องการนำเงินปันผลมาใช้สิทธิก็ต้องเอาทั้งที่ได้จากหุ้น ZZZ และหุ้น XXX มารวมกัน จะเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น หากฐานภาษีเงินได้ที่ยังไม่รวมเงินปันผลนี้อยู่ที่ 20% และเมื่อรวมเงินปันผลจากทั้งสองส่วนแล้วทำให้ฐานเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30% การนำเงินปันผลมารวมอาจจะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นก็ได้ ต้องทดลองคำนวณดู ยิ่งกรณีดอกเบี้ยเงินฝากหากผู้มีเงินได้มีฐานภาษีที่สูงกว่า 15% แล้ว จะเอาเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมเป็นฐานเพื่อซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF ก็จะต้องนำดอกเบี้ยไปรวมกับเงินได้อื่นซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าอยู่แล้ว ส่วนลดที่จะได้จากการซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF อาจจะไม่คุ้มค่าเลยก็ได้

ที่บอกว่าผู้มีเงินได้เสียสิทธิที่จะเลือกอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็หมายถึงว่า หากผู้มีเงินได้จะบอกว่าขอเลือกเสียภาษีเงินปันผลหรือดอกเบี้ยเงินฝากเท่าที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายที่ 10% หรือ 15% แต่จะขอนำเงินได้ตามวิธีคิดข้างต้นมาใช้เพื่อเพิ่มฐานในการคำนวณค่าซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF เพื่อหักลดหย่อนกับเงินได้อื่นๆ ไม่ได้ครับ แต่ถ้าจะเอาเงินได้ตามวิธีคิดข้างต้นมาใช้เพิ่มฐานในการคำนวณค่าซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF เพื่อหักลดหย่อนกับเงินได้อื่นๆ ผู้มีเงินได้ก็ต้องนำเงินได้ตามวิธีคิดข้างต้นไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อคำนวณภาษีตามฐานภาษีเงินได้ของตนตั้งแต่ 0% 10% 20% 30% หรือ 37% ตามแต่ขั้นภาษีของเงินได้สะสมนั้นครับ หากคุณวีรพงษ์ยังไม่ค่อยเข้าใจจะโทรศัพท์สอบถามเข้ามาที่สมาคมก็ได้นะครับ

สำหรับผู้ที่มีคำถามสามารถส่งคำถามเข้ามาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้ากองทุนรวม www.manager.co.th นะครับเราจะอาสาหาคำตอบมาให้เเก่ท่านผู้อ่านครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น