xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน

ตัวอย่างการซื้อขายสัญญาโกล์ดฟิวเจอร์ส หากสมมติให้ปัจจุบันคือวันที่ 1 มีนาคม 2552 ราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบในปัจจุบันในท้องตลาดอยู่ที่น้ำหนักบาทละ 14,000 บาท ถ้านาย ก คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า ราคาทองคำจะปรับขึ้นเป็นน้ำหนักบาทละ 14,500 บาท นาย ก จึงเข้าไปตรวจสอบราคาโกลด์ฟิวเจอร์ส และพบว่าราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดปลายเดือนมิถุนายน 2552 พบว่ามีราคาซื้อขายอยู่ที่น้ำหนักบาทละ 14,300 บาท

จากทัศนคติในการลงทุนผสมกับประสบการณ์ของการลงทุนที่ผ่านมาของ นาย ก ทำให้นาย ก คิดว่า ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่มีการซื้อขายกันในอนาคตนั้น มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นาย ก จึงตัดสินใจซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สครบกำหนดเดือนมิถุนายน ที่ราคา 14,300 บาท เพราะนาย ก คาดการณ์ว่าราคานั้นจะต้องขยับขึ้นในอนาคต
สมมติให้โบรกเกอร์กำหนดระดับหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ที่ 50,000 บาทต่อสัญญา และหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ที่ 35,000 บาทต่อสัญญา (ในทางปฏิบัติระดับเงินประกันจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับราคาของทองคำ มุลค่าของสัญญา ความผันผวนตามของภาวะตลาด ฯลฯ)

**ดังนั้นในวันที่ 1 มีนาคม นาย ก ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส ที่น้ำหนักบาทละ 14,300 บาท จำนวน 1 สัญญา พอสิ้นวัน โบรกเกอร์จะทำการคำนวณกำไรขาดทุน (Mark to Market) เพื่อคำนวณหามูลค่าของเงินในบัญชีของนาย ก โดยใช้ราคาที่ใช้ชำระราคา (Settlement Price) ซึ่งสำนักหักบัญชีจะประกาศให้ทราบทุกสิ้นวัน โดยมีมูลค่าเท่ากับ 14,380 บาท หักด้วยราคาที่ นาย ก ได้ทำการซื้อไว้ 14,300 บาท (เปรียบเหมือนการซื้อทองคำไว้ที่ ราคา 14,300 บาท แล้วขายได้ในราคา 14,380 บาท ทำให้เกิดกำไร 80 บาทต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท และ 1 สัญญานั้นมีทองคำน้ำหนักโดยรวม 50 บาท ทำให้ในวันที่ 1 ตอนสิ้นวัน นาย ก ได้กำไรคิดเป็นเงิน 4,000 บาท)**

วันที่ 1 กำไรของ นาย ก = (14,380 - 14,300) x 50 = 4,000 บาท
(โกลด์ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา มีมูลค่าเท่ากับทองคำน้ำหนัก 50 บาท)
ดังนั้น โบรกเกอร์ก็จะโอนเงินกำไรนี้เข้าบัญชีของนาย ก จึงทำให้ยอดเงินในบัญชีของนาย ก เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 4,000 = 54,000 บาท
ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม ราคาทองคำ ณ สิ้นวัน เท่ากับ 14,100 บาท นาย ก จึงขาดทุน เพราะราคาทองคำเมื่อวานเท่ากับ 14,380 บาท แต่วันนี้เหลือเพียง 14,100 บาท ขาดทุนน้ำหนักบาทละ 280 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำหนัก 50 บาท จึงทำให้ขาดทุน 14,000 บาท
วันที่ 2 ขาดทุนของ นาย ก = (14,100 – 14,380) x 50 = -14,000 บาท
เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ โบรกเกอร์จึงโอนเงินออกจากบัญชีของนาย ก ทำให้เงินประกันของนาย ก ลดลงเหลือเพียง 54,000 - 14,000 บาท = 40,000 บาท
ในวันที่ 3 ราคาทองคำ ณ สิ้นวัน เท่ากับ 13,940 บาท ทำให้นาย ก ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก โดยทำการเปรียบเทียบกับวันก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 2 ราคาทองคำเท่ากับ 14,100 บาท แต่ในวันที่ 3 นี้ ราคาทองคำปรับลดลงอีกเป็น 13,940 ทำให้นาย ก ขาดทุน น้ำหนักทองคำบาทละ 160 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำหนัก 50 บาท ทำให้สัญญานี้ขาดทุนอีก 8,000 บาท
วันที่ 3 ขาดทุนของนาย ก = (13,940 – 14,100) x 50 = -8,000 บาท
โดยเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โบรกเกอร์จึงโอนเงินออกจากบัญชีของนาย ก ทำให้เงินประกันของนาย ก ลดลงเหลือ 40,000 - 8,000 = 32,000 บาท
ในวันที่ 3 นี้ นาย ก มีเงินประกันเหลือเพียง 32,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่มีระดับต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ (ที่ระดับ35,000 บาท) นาย ก จึงต้องนำเงินไปวางในบัญชีเพิ่ม ให้เงินในบัญชีกลับไปรักษาระดับที่หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) อีกครั้งหนึ่ง (ที่ระดับ 50,000 บาท) ดังนั้น นาย ก ต้องวางเงินเพิ่ม 50,000 – 3 2,000 = 18 ,000 บาท
ต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม นาย ก ต้องนำเงินไปวางในบัญชีเพิ่มเติม 18,000 บาท และพอสิ้นวัน หากราคาที่ใช้ชำระราคาเท่ากับ 14,100 ทำให้ นาย ก ได้กำไร เพราะเมื่อวันที่ 3 ราคาทองคำเท่ากับ 13,940 บาท แต่มาในวันนี้ราคาทองคำขยับขึ้นเป็น 14,100 บาท ทำให้ นาย ก กำไร น้ำหนักบาทละ 160 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำน้ำหนัก 50 บาท ดังนั้น นาย ก ได้รับกำไร 8,000 บาท
วันที่ 4 กำไรของ นาย ก = (14,100 - 13,940) x 50 = 8,000 บาท
การทำกำไรของนาย ก ในวันนี้ ทำให้ยอดเงินในบัญชีของนาย ก เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 8,000 = 58,000 บาท
ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม นาย ก มีความคาดการณ์เปลี่ยนไปจากที่ได้ตั้งใจไว้ในตอนแรก และนาย ก ต้องการปิดสถานะของสัญญา นาย ก จึงส่งคำสั่งขายโกลด์ฟิวเจอร์สที่ราคา 14,200 บาท เพื่อปิดสถานะของสัญญา นาย ก จึงได้กำไรเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า (14,200 - 14,100) x 50 = 5,000 บาท และได้เงินคืนรวมทั้งหมด 58,000 + 5,000 = 63,000 บาท
จากตัวอย่างข้างต้น นาย ก ขาดทุนทั้งสิ้น = (ราคาขาย – ราคาซื้อ) x น้ำหนักทองคำ
= (14,200 - 14,300) x 50
= -5,000 บาท (ขาดทุน)
กำลังโหลดความคิดเห็น