เป็นที่เรียบร้อยและเสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับพิธีการเข้าสาบานตนของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เรียกว่าคำพูดที่กล่าวออกมาช่วยเพิ่มกระแสความนิยมชมชอบให้กับเขาได้อย่างมากอีกครั้งเช่นกัน เพราะเป็นที่แน่นอนว่าการเข้ามาเป็นพญาอินทรีในวัยหนุ่มใหญ่ อีกทั้งเป็นอินทรีผิวสีคนแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศขนาดบิ๊กเบิ้มที่ต้องคอยสอดมือ หรือยื่นเสนอตัวช่วยเหลือเหล่าประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลก ทุกมุม ทุกทิศ ทุกลองติจูส ละติจูส เป็นงานที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการหยิบยก และการวิจารณ์ความสามารถแนวคิดการบริหาร และทีมงานว่าจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีคนนี้หนีไม่พ้น...แน่
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ทุกคนทั่วโลกเหมือนกับฝากความหวัง ความฝันอันยิ่งใหญ่ของตนไว้กับกึ๋นของประธานาธิบดีคนใหม่นี้ไปเสียเกือบหมด เพราะนี่คือเทนต์ใหม่ของกระแสโลก และยังเป็นการกำเนิดเทนต์ใหม่ที่มีขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่กลายตัวมาจากวิกฤตการเงิน ที่ต่อเนื่องจากวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยคุณภาพ
ซึ่งจะกล่าวง่ายๆก็คือ จุดกำเนิดของปัญหาทั้งมวลที่สร้างความหวั่นวิตกและสร้างผลลบทั้งในด้านการปฏิบัติและจิตวิทยาต่อนักลงทุน พ่อค้าแม้ค้าย่านสำเพ็ง อาเฮียอาเสี่ยย่านพระราม 2 พี่แจ่มคนขับแท็กซี่แถวประชาชื่น ป้าบุญมาที่ต้องรอขึ้นรถเมล์ทุกเช้าหน้าป้ายอาคารตลาดหลักทรัพย์ ล้วนมาจากพ่อมะกันตัวดีที่มีนามเต็มๆว่า United States of America
อเมริกา ชื่อนี้ที่คนทั่วโลกรู้จัก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอังกฤษ หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลชื่อก้องโลก คือฉนวนเหตุที่มาของปัญหา ดังนั้นเมื่อได้คนที่มากุมชะตา กุมแนวการบริหาร รวมทั้งการแก้ปัญหาเป็นตัวเป็นตนเสียทีหลังจากที่ได้รับคะแนนโหวตท่วมท้นมานมนาน...แล้ว หลายฝ่าย หลายคน หลายประเทศย่อมต้องฝากความหวัง หรือต้องการเร่งให้พี่เบิ้มรายนี้จัดการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ทันท่วงที...แบบว่าอย่าปล่อยเอาไว้อีกเลย
งานนี้ก็รวมถึงพี่ไทยของเราด้วย แม้ตอนนี้จะมีรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นแกนนำ รวมทั้งเริ่มมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกแรก และระลอกสองออกมาแล้วก็ตาม แต่ปัจจัยบวกภายในประเทศเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนักลงทุน อีกทั้งดูเหมือนว่าการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนสายเลือกเดียวกัน และจากนานาประเทศยังต้องมีปัจจัยบวกจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าเป็นตัวช่วยเสริม หรือจะพูดกันประสาฟุตบอล ทีมที่มีโอกาสชนะสูงคุณต้องมีกองหน้าตัวเป้า(อเมริกา) และกองกลางตัวบุก (ยุโรป)ที่ดีนั่นเอง จะมีแต่กองหลัง (ไทย)ที่แข็งแกร่ง(ฐานการคลังของประเทศ) เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมิเช่นนั้นต่อให้มีผู้รักษาประตูเป็นยอดเทวดา ก็ไม่สิทธิ์รับลูกได้หมด มีแต่ต้องขนเข่งไว้ใส้และแบกกลับบ้านเท่านั้น
"โลกทั้งหมดกำลังเฝ้าดูพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีบารัคโอบามา เพื่อเป็นสักขีพยายามในการเริ่มต้นทั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯและของโลก เขาไม่ใช่ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกเท่านั้น แต่เขายังได้ประเดิมความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาของโลกด้วย" นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร กอร์ดอน บราวน์
"เรากระตือรือร้นที่จะให้เขาเข้าทำงานเพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงโลกไปกับเขา" ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นิโคลาส์ ซาโกซี
"ฉันต้องการบอกว่าวันนี้ ฉันเชื่อว่าเป็นวันที่แสนพิเศษไม่ใช่สำหรับสหรัฐฯเท่านั้น แต่สำหรับคนเป็นพันๆ ล้านทั่วโลกด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่า ประธานาธิบดีผิวสีคนหนึ่งกำลังเข้าพิธีสาบานตน และเรากำลังเฝ้าดูความร่วมมืออย่างแข็งขันผ่านแอตแลนติก เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงแต่ผลักดันความคิด แต่ยังผลักดันจิตใจด้วย ฉันปรารถนาจะอำนวยพรแด่ประธานาธิบดีคนใหม่ของชาวอเมริกันด้วยความเข้มแข็ง สุขภาพ และขอให้พระเจ้าประสาทพรแด่เขา และฉันต้องการที่จะบอกว่า เยอรมนีได้เตรียมประสานงานกับเขาอย่างมาก และโดยเปิดเผยอย่างยิ่ง" นายกรัฐมตรีของเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล
"ญี่ปุ่นและสหรัฐฯเป็นพันธมิตรที่แบ่งปันค่านิยมสากลและผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ ผมเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศในฐานะผู้นำโลกสามารถสร้างอนาคตที่ดีขึ้นโดยการทำงานร่วมกันในการแบ่งปันความรู้ ความพร้อมใจ ความชอบ และยุทธศาตร์ ด้วยความเชื่อนี้ ผมปรารถนาที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีโอบามาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพันธมิตรญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และเพื่อสันติภาพและความไพบูลย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในโลกด้วย" นายกรัฐมนตรีของญี่ป่น ทาโร อาโซะ
"ผมหวังอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโอบามา ประธานาธิบดีแห่งหสรัฐ เพราะเรามีความท้าทายอันยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า และมันจะเริ่มต้นด้วยการทำงานร่วมกันรับมือกับวิกฤตการเงินในทั่วโลก" นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เควิน รัดด์
โดยโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงว่า หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ นายบารัค โอบามา จะพบหารือกับที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ในช่วงบ่ายวานนี้ (21 ม.ค.) เพื่อหารือถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแต่ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีที่ปรึกษาคนใดบ้างเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ก็ตาม
ไทยเราก็เฝ้ารอรับอานิสงส์
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะเท่าที่ดูแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะลงไม่แรงอย่างที่คิด
ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าอังกฤษและญี่ปุ่นจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ไทยจะได้รับอานิสงส์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ด้วย โดยจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้ระหว่าง 0-2% ตามที่คาด
ส่วนการเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนของไทยนั้นถือว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยขณะนี้รัฐบาลเตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะ หากมาตรการที่ประกาศออกมาได้ผลตามที่คาดจะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 2% ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมาในครั้งนี้ แม้จะทำให้รายได้รัฐบาลสูญเสียไป แต่หากมาตรการที่ออกมามีการตอบสนองตามที่คาดว่าจะทำให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีคำเตือนดีๆ มาฝากผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯเช่นกัน โดยผู้นำเยอรมนี เตือนประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ไม่ใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาวิกฤติการเงินโลก ขณะที่แคนาดาจี้สหรัฐดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินในประเทศ โดยนางอังเกลา แมร์เคิล กล่าวในที่ประชุมสมาคมอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมนี (บีดีไอ) ในกรุงเบอร์ลิน ว่า หลังจากการปลดพนักงานจำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดการเงิน เวลานี้ ถือเป็นเวลาที่ควรจัดทำระบบกฎระเบียบโลก รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม
ดังนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ตระหนักถึงผลที่จะตามมาจากวิกฤติการเงินโลกในปัจจุบัน พร้อมกับเตือนว่า สหรัฐไม่ควรใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
วันเดียวกัน นายสตีเฟน ฮาร์เปอร์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา เรียกร้องให้นายโอบามา ดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่สถาบันการเงินสหรัฐ หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง พร้อมชี้ว่า สถาบันการเงินในสหรัฐ ยังคงประสบปัญหาอย่างหนัก และเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบต่อไป หากไม่มีการแก้ไขปัญหา
"ชัดเจนแล้วว่า ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐจะต้องเผชิญความท้าทายอย่างใหญ่หลวง" นายฮาร์เปอร์ กล่าว พร้อมแนะว่า ผู้นำคนใหม่ของแดนอินทรี จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินสหรัฐ นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 825,000 ล้านดอลลาร์ ของนายโอบามา ที่มีการนำเสนอแล้ว และความจำเป็นที่ต้องทำให้มาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ
นายโจเอล แนรอฟฟ์ นักวิเคราะห์จากแนรอฟฟ์ อิโคโนมิก แอดไวเซอร์ส กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของบาดแผลเศรษฐกิจมากมายเช่นนี้ มาจากความรู้สึกท้อแท้ของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นดังกล่าวจึงอาจฟื้นคืนสภาพได้ จากการเปลี่ยนแปลงในทำเนียบขาว ด้วยการเกิดความหวังขึ้นมาว่าคณะบริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของนายโอบามา จะมาพร้อมการดำเนินการเชิงรุกอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการรับมือกับวิกฤติ
ขณะที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เลวร้ายถึงขั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และก็ไม่ถึงขั้นตกต่ำครั้งใหญ่แต่อยู่ในขั้นค่อนข้างร้ายแรงที่ขอเรียกว่า "เพิร์ล ฮาร์เบอร์" (เหตุการณ์ญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตจำนวนมากจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2) เพราะขณะนี้ชาวอเมริกันอยู่ในวงจรแห่งความกลัว กระทั่งเป็นเหตุให้ไม่กล้าใช้จ่าย ไม่อยากลงทุน และนั่นยิ่งนำไปสู่ความกลัวมากขึ้น
"นายโอบามาว่า คงไม่สามารถมีใครดีไปกว่านี้แล้วที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนายโอบามาจะรับฟังสิ่งที่ปรึกษาพูดทุกอย่างและจบลงด้วยการที่นายโอบามามีความคิดที่ดีกว่าเสมอ จึงมั่นใจว่านายโอบามาจะสามารถสื่อสารไปยังให้ชาวอเมริกันเข้าใจถึงความร้ายแรงของเศรษฐกิจเพื่อให้ชาวอเมริกันทุกคนมีส่วนช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ได้" นายบัฟเฟตต์ กล่าว
เมื่อเห็น เมื่อได้รับทราบกันแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะหนักใจและเป็นห่วงผู้นำคนใหม่นี้ไม่ใช่น้อย แต่ในภาพรวมเชื่อทีมเศรษฐกิจที่มีมือฉมังร่วมงานกันอยู่หลายคนน่าจะช่วยให้ โอบมา ฟ่าฟันภัยพิบัติและวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งแน่นอนละ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ขอภาวนาคุณพระคุณเจ้า เอาใจช่วยประธานาธิบดีผิวสีคนนี้ไปให้รอด เพราะมิเช่นนั้นผลกระทบวิกฤตดังกล่าวอาจลามมาถึงตัวได้....เช่นกัน ... โอ! พระเจ้า