xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : ว่าด้วยเรื่อง ภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถาม - ขอทราบการลงทุนใน property fund ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์ปาร์ค (FUTUREPF) ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ซื้อขายผ่าน broker) มีเกณฑ์ภาษีสำหรับเงินกำไรที่ได้จากการขาย และเงินปันผล อย่างไรคะ ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างประเทศ (บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล) มีเกณฑ์แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไรคะ ขอบพระคุณค่ะ สุดาพร

ตอบ - การลงทุนในกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปทุกประเภท เช่น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ผู้ลงทุนจะมีภาระภาษีจากการลงทุนในลักษณะเดียวกันไม่ว่ากองทุนรวมนั้นจะเป็นกองทุนรวมที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม ดังนี้

สำหรับเงินกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ว่าผู้ลงทุนจะเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยหรือต่างชาติที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91) ในประเทศไทย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ แต่หากเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยจะต้องนำเงินกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวม ไม่ว่าผู้ลงทุนจะเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยหรือต่างชาติที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91) ในประเทศไทย ผู้ลงทุนสามารถเลือกที่จะให้กองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผลหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผล แล้วผู้ลงทุนไม่ต้องนำเงินปันผลนั้นไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้าผู้ลงทุนไม่เลือกที่จะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่กล่าวแล้ว ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินปันผลไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ

แต่หากเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยจะต้องนำเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ เว้นแต่หากนิติบุคคลนั้นได้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนหน้าและหลังการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมนั้น กรณีที่เป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้ยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลเพียงครึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่ได้รับ

ส่วนกรณีที่เป็นผู้ลงทุนต่างชาติที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91) ในประเทศไทยและนิติบุคคลต่างชาตินั้น จะต้องไปดูอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับแต่ละประเทศนั้นๆ ว่ากำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไรนะครับ

หลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้กับกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นะครับ เพราะกองทุนรวม RMF และ LTF จะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขการถือครองหน่วยลงทุนเพือให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนดซึ่งมีความแตกต่างจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น นะครับ

สำหรับท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงุทนในกองทุนรวม หรือสงสัยในกองทุนที่ท่านผู้อ่านเข้าไปลงทุน ทางเรายินดีเป็นสื่อกลางให้ครับ ท่านสามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล์ fund@manager.co.th หรือโพสต์คำถามไว้ที่ www.manager.co.th ในหน้ากองทุนรวม ทีมงานเต็มใจที่จะหาคำตอบให้ทางผู้อ่านได้ทราบอย่างเเน่นอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น