xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง-การก่อการร้าย สองปัจจัยลบกดศก.อินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ในปี 2552 ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองจากเดิมที่ศูนย์กลางอยู่ที่ ตะวันออกกลางจะย้ายศูนย์มาอยู่ที่เอเชียใต้และส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนของภูมิภาคย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอาจส่งผลให้ระดับการลงทุนในโครงการระยะยาวมูลค่าสูงในภูมิภาคลดลง ซึ่งอินเดียจะได้รับผลกระทบในระดับสูงจากความเสี่ยงดังกล่าว"


อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการมองกันว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงในภูมิภาคเอเชียรองจากประเทศจีน แต่มีเมื่อเกิดวิฤตสถาบันการเงินขึ้นและอินเดียก็ได้รับไผลกระทบนั้นเหมือนกับประเทศอื่นๆในเอเชียด้วย แต่ดูเหมือนยังมีปัจจัยบางประการที่ยังทำให้เศรษฐกิจของอินเดียนั้นมีการเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร


สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ได้ทำการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจของอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีความเสี่ยงมากที่สุด ทั้งในความเสี่ยงด้านการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่ง 4 ประเทศหรือที่เรียกกันว่า BRICs ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล อินเดีย รัสเซีย และจีน

โดยมองว่าอินเดียมีขีดจำกัดทางการคลังทำให้ไม่สามารถใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลลบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกได้เนื่องจากสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในสัดส่วนสูงโดยอยู่ที่ 58% ต่อ GDP ดังจะเห็นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดในปลายปี 2551ของอินเดียมีวงเงินประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 0.4 % ของ GDP ซึ่งถือว่าต่ำมาก ในขณะที่ปัจจัยบวกในปี 2552 ของอินเดียคือการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีช่องว่างในการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ SCRI มีความเห็นว่านโยบายการเงินไม่มีประสิทธิผลเทียบเท่านโยบายการคลัง ดังนั้น ปัจจัยบวกของอินเดียจึงไม่มีส่วนช่วยเศรษฐกิจอินเดียมากพอ

ทั้งนี้ศรษฐกิจอินเดียมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงค่อนข้างมากและอาจจะชะลอลงมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม BRICs รองจากรัสเซีย โดยอินเดียจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจผ่านการชะลอตัวของภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนประมาณ 53 % ใน GDP ขณะที่ภาคบริการของอินเดียจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของการส่งออกบริการด้าน IT และบริการด้านการเงินซึ่งตลาดด้านบริการหลักคือสถาบันการเงินในสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในภาวะหดตัวเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในด้านมูลค่าการส่งออกพบว่า ตลาดส่งออกหลักประมาณ 15% ของอินเดียคือสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2552 สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัว-0.7 % yoy เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคพื้นยุโรปซึ่งจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน นอกจากนี้ อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในราวเดือน พ.ค. 2552ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงในช่วงเลือกตั้ง ในขณะที่ อินเดียมีความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง (Geo Politics) กับ ปากีสถานเนื่องมาจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่เมืองมุมไบในต้นเดือน ธ.ค. 2551 ซึ่งผู้ก่อการร้ายใช้ปากีสถานเป็นฐานการโจมตี โดยปากีสถานและอินเดียล้วนเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ SCRI เห็นว่าในปี 2552 ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองจากเดิมที่ศูนย์กลางอยู่ที่ ตะวันออกกลางจะย้ายศูนย์มาอยู่ที่เอเชียใต้และส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนของภูมิภาคย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอาจส่งผลให้ระดับการลงทุนในโครงการระยะยาวมูลค่าสูงในภูมิภาคลดลง ซึ่งอินเดียจะได้รับผลกระทบในระดับสูงจากความเสี่ยงดังกล่าว

SCRI มีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ “อินเดีย” จะกลับเป็นประเทศที่มีอนาคตรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในช่วง 3 – 4 ปีข้างหน้าเนื่องจากอินเดียมีขีดจำกัดมากมายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อาทิ ขีดจำกัดทางการคลัง และศักยภาพทางนโยบายในการที่จะวางนโยบายอุตสาหกรรมโดยเน้นกระจายภาคการผลิตอุตสาหกรรมไปยังหลายภาคการผลิตแทนที่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมสารสนเทศซึ่งเน้นตลาดส่งออกหลักยังประเทศตะวันตกอย่างในอดีต นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองของอินเดียและปากีสถาน นั้นเป็นความเสี่ยงที่จะคงอยู่ภูมิภาคนี้ในระยะยาวทำให้ส่งผลกดดันด้านลบต่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยระยะเวลานานในการคืนทุน

อย่างไรก็ตาม ในอดีตเมื่อช่วงประมาณ 20-25 ปีก่อน อินเดียเป็นประเทศที่เน้นบทบาทของรัฐในภาคเศรษฐกิจ จนส่งผลให้เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ระดับต่ำเป็นเวลานานจนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียเมื่อเทียบกับจีนหรือชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเดียวกัน ซึ่งผู้นำอินเดียในยุคนั้นได้ตอบโต้คำวิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำของอินเดียว่าเป็น “การขยายตัวแบบฮินดู (Hindu Growth)” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอินเดียเอง

แต่ในช่วง15ปีที่ผ่านมาอินเดียได้เป็นประเทศที่เน้นบทบาททางกลไกตลาดมากขึ้นและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่องด้วยฝีมือของรัฐมนตรีคลังในสมัยนั้นซึ่งคือนายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน นายมานโมฮัน ซิงห์ แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ มีความลึกซึ้งและกว้างขวางขึ้นมากกว่าก่อน ซึ่งSCRI ประเมิน ณ ขณะนี้พบว่าในระยะยาวประมาณ 3-4 ปีข้างหน้า อินเดียยังไม่มีเครื่องมือทางนโยบายที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนเองได้ให้กลับมารุ่งเรืองเช่นแต่ก่อน และอินเดียคงจะต้องกลับไปสู่ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบฮินดูอีกระยะเวลาหนึ่ง

ถือเป็นเรื่องที่มีน่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจของอินเดียที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้าย ทั้งๆที่ประเทศมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการที่จะส่งผลให้ประเทศเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเคียงคู่กับประเทศจีน แต่เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะหมดไปด้วยความสามารถของรัฐบาลประเทศอินเดียเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น