xs
xsm
sm
md
lg

จัดตระกร้าการลงทุน อย่างเหมาะสมและสมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากตอนนี้คุณมีเงินออมสักก้อนหนึ่งที่พร้อมจะลงทุนแล้ว คุณมีทางเลือกในการลงทุนหลายอย่าง ซึ่งแต่ละทางเลือกก็มีความแตกต่างกันไป ในแง่ผลตอบแทนที่จะได้รับ ความเสี่ยง สภาพคล่อง รูปแบบและช่วงเวลาของการจ่ายคืนผลตอบแทน ซึ่งจะต้องพิจารณาปัจจัยของแต่ละบุคคลประกอบการตัดสินใจด้วย บวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวนอยู่ด้วย ดังนั้น การลงทุนจึงต้องมีความรอบครอบพอสมควร เพื่อให้เกิดภาวะความเสี่ยงน้อยที่สุด
อนุสรณ์ บูรณะกานนท์
อนุสรณ์ บูรณะกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บีที จำกัด บอกว่า การลงทุนต้องมีการจัดเป็นตระกร้าการลงทุนที่สมดุล และมีการกระจายความเสี่ยง (Balanced and Diversified Portfolio) ซึ่ง 2 คำถามหลักที่อาจอยู่ในใจของผู้ลงทุนหลายท่านในภาวะปัจจุบัน คือ 1. การลงทุนทั้งหมดในตราสารหนี้รัฐบาลหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเสมือนเซฟเฮาส์ อาจยังมีความเสี่ยงอะไรแก่ผู้ลงทุน และ 2. ในภาวะดังเช่นในปัจจุบันท่านผู้ลงทุนควรจักตะกร้าลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมแก่ตัวท่านเองที่สุด

ทั้งนี้ ความสมดุลของทรัพย์ และการกระจายความเสี่ยง คำตอบของคำถามข้างต้นอยู่ใน 2 แนวคิดคือ ความสมดุล หรือ Balance และการกระจายความเสี่ยง หรือ Diversification ของตะกร้าการลงทุน หรือรวมกันคือ Balance and Diversified Portfolio คือผู้ลงทุนจะสามารถเลือกทรัพย์ชั้นต่างๆ เพื่อผสมที่อัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุดที่เท่าไหร่ และจะกระจายทรัพย์ชั้นต่าง ๆ อย่างไร เพื่อไม่ให้เงินลงทุนกระจุกตัวเกินไปที่หลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่ง

“ความสมดุลของตะกร้าการลงทุนจะเกิดขึ้น หากผู้ลงทุนเลือกหลักทรัพย์ 2-3 ชนิดหลัก ๆ เช่น หุ้นทุน ตราสารหนี้ และเงินฝากชนิดต่างๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับอายุ แผนการออม และความสามารถในการรับความเสี่ยงต่อผลตอบแทนของผู้ลงทุนด้วย”

"อนุสรณ์" บอกต่อว่า การบริหารความเสี่ยง หมายถึง การกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนจากหลายๆผู้ออกตราสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการกระจุกตัวของการลงทุนในผู้ออตราสารคนใดคนหนึ่ง

การสร้างความสมดุลของชนิดทรัพย์สินที่ลงทุน และการกระจายความเสี่ยงเพื่อลดการกระจุกตัวของเม็ดเงิน เป็นเครื่องมือการลงทุนแบบหนึ่งที่พิสูจน์แล้วว่าให้ผลคุ้มค่า หากผู้ลงทุนมีมุมมองการลงทุนในระยะ 3-5 ปี ขึ้นไป เพราะสัจธรรมของตลาด หนึ่งคือ วิกฤตการณ์ทุกครั้งมีจุดคลี่คลาย และหลังจุดดังกล่าว ตลาดจะตีกลับ ดังนั้นหากเลือกจังหวะการเข้าลงทุน และจัดหลักทรัพย์อย่างเหมาะสม ผู้ลงทุนมักจะสามารถทำกำไรได้คุ้มค่าในระยะยาว

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้จัดการกองทุน เช่น จากบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของอเมริกา ชื่อ แวนการ์ด และนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ ได้กล่าวถึง จิตวิทยาของตลาดหุ้นว่า ปัจจัยหลัก 2 ตัวของผู้ลงทุนที่กำหนดทิศทางของตลาด คือ ความกลัว (Fear) และความอยากได้ (Exuberance) ซึ่งปัจจัยหลังมักเป็นบ่อเกิดสำคัญของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ เพราะเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุน กู้ยืม และการรับความเสี่ยงที่เกินตัว นอกจากนั้น พฤติกรรมของตลาดหุ้นขาลงยังมักจะประกอบด้วยจิตวิทยาการตลาด 3 ขั้นตอน คือ

เริ่มรับทราบ : ว่าสถานการณ์สวยหรูตามที่หวังจะไม่เป็นอย่างที่คาด

เริ่มยอมรับ : ว่าสถานการณ์จะแย่ลงไปเรื่อยๆ

คิดแง่ลบสุดขั้ว : ความคิดถูกครอบงำด้วยการมองอนาคตในแง่ร้ายเกินความเป็นจริง

พฤติกรรมตลาด ณ ปัจจุบัน อยู่ในขั้นที่ 3 ดังจะเห็นได้จากการเทขายการลงทุนประเภทต่างๆอย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการขาดความเชื่อมั่นโดยเฉพาะของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่แม้ภาครัฐจะเพิ่มทุนให้แล้ว ยังมีความลังเลในการอำนวยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขสถิติในอดีต ได้แสดงว่า ช่วงเวลาตลาดหุ้นขาลงสั้นกว่าช่วงเวลาขาขึ้น เช่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 (1988) เป็นต้นมา ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำจะกินเวลาประมาณ 6 เดือน เปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวขึ้นประมาณ 22 เดือน หรือ อัตราช่วงเวลาขาขึ้น : อัตราช่วงเวลาขาลงของตลาดหุ้น อยู่ที่ 3.6 :1.0 โดยที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในช่วงตลาดขาขึ้นเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 113 เปรียบเทียบกับผลขาดทุนของตลาดขาลงเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 32 (Dr.Mark Mobius ”What Bear Market have Taught Me” ซึ่งอ้างข้อมูลสถิติจาก MSCI Emerging Markets Index เดือนกันยายน 2551 ดู www.franklintempleton.com วันที่ 29 ตุลาคม 2551) ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นทั่วโลกถือได้ว่าอยู่ในภาวะถดถอยประมาณ 2 เดือนแล้ว ดังนั้นจึงควรมีโอกาสปรับตัวขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้าในช่วงต้นของครึ่งแรกของปี 2552 ตามแนวพฤติกรรมของตลาดในอดีตข้างต้น

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตลาดทุนของโลก เช่น Marc Faber และ Mark Mobius ยังมีความเห็นตรงกันว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับแรงขายมากเกินความเป็นจริง (Oversold) ที่สุดใน 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติ (Interview with Mark Faber โดย Australian Broadcasting Corporation : Tony Jones 13 ตุลาคม 2551 www.abc.net.au) หรือตลาดหุ้นอาจดีดตัวกลับขึ้นมาเร็วกว่าความคาดหวัง เพราะประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจกำลังรวมความคิด เพื่อขบประเด็นดังกล่าว และ ได้ร่วมกันออกมาตรการ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม (Mark Mobius : CNBC Squawkl Box Interview with Dr. Mark Mobius www.franklintempleton 29 ตุลาคม 2551)

ดังนั้นในภาวะวิกฤติของตลาดหุ้น โดยเฉพาะของไทยในปัจจุบัน ท่านผู้ลงทุนควรเฝ้ามองหาโอกาสซื้อของถูก

สำหรับตะกร้าการลงทุนของผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และเงินฝาก เป็นทรัพย์สินหลักที่รู้จักดี และมีสภาพคล่องสูง แต่ไม่นานมานี้ ได้มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นอีกหลักทรัพย์หนึ่ง ซึ่งหลายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทยแทบทุกกองจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ยังค้ำประกันผลตอบแทนขั้นต่ำในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ณ ปัจจุบันอีกด้วย เช่นที่ประมาณร้อยละ 5 ถึง 8

ดังนั้นแม้อาจมีข้อจำกัดทางสภาพคล่อง และราคา ซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ที่อาจไม่ตรงกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ แต่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (โดยเฉพาะแบบมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจสามารถเพิ่มผลตอบแทนของตะกร้าลงทุนของท่านได้

ตัวอย่างตะกร้าการลงทุน (ดังรูป) แสดงการกระจายของทรัพย์เพื่อความสมดุล โดยจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ประมาณร้อยละ 8.23 โดยผู้ลงทุนต้องมีความสามารถในการรับความเสี่ยงจากหุ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น