xs
xsm
sm
md
lg

KTAMเพิ่มความคล่องตัวกองRMF พร้อมเปลี่ยนKTTWลุยหุ้นพื้นฐานดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บลจ.กรุงไทย”เพิ่มความคล่องตัวแก้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการ ในด้านการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนและเพิ่มวันในการให้บริการจากสัปดาห์ละครั้งเป็นทุกวันทำการ พร้อมแก้ไขชื่อกองทุน “กรุงไทยธนวรรธน์”เป็น “กรุงไทยสร้างโอกาส2” เน้นลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดี เงินปันผลสูง มีมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และมีหนี้สินต่อทุนไม่สูง

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าในฐานะผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนเปิดกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ1 (RMF1) กองทุนเปิดกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ2 (RMF2) กองทุนเปิดกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ 3(RMF3) และกองทุนเปิดกรุงไทยชาริอะฮ์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KSRMF) ล่าสุดบริษัทได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ บลจ.กรุงไทย ได้แก้ไขในส่วนของคำจำกัดความใหม่ในส่วนการสับเปลี่ยนการถือหน่วยลงทุน คือ การขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่ง ("กองทุนต้นทาง") เพื่อซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีกกองทุนหนึ่ง ("กองทุนปลายทาง") โดยบริษัทจัดการหรือผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) จะดำเนินการนำเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามราคารับซื้อคืนจากกองทุนต้นทาง ซึ่งได้หักค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) ไปชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนปลายทางตามราคาขาย และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในโครงการ

จากเดิมที่คำจำกัดความระบุว่า การสัปเปลี่ยนหน่วยลงทุนหมายถึง การขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองทุนหนึ่ง (กองทุนต้นทาง) เพื่อซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองทุนหนึ่ง (กองทุนปลายทาง) ตามเงื่อนไขและวิธีที่ระบุไว้ในโครงการ และหมายถึงการโอนการลงทุนตามกฏหมายภาษีอากร ทั้งนี้ การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมี 3 วิธี คือ 1)การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ หรือ2)การซื้อรับโอนหน่วยลงทุน หรือ3)การขายโอนหน่วยลงทุน

ขณะที่ข้อ16.2.1 บลจ.กรุงไทย ได้แก้ไขใหม่ เป็นการซื้อคืนหน่วยลงทุนเมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนสั่งขายคืนด้วยตัวเอง ผู้ถือหน่วยสามารถขายคืนหน่วยลงทุนด้วยตนเองที่บริษัทจัดการหรือธนาคารผู้สนับสนุนได้ทุกวันทำการ จากเดิมที่ระบุไว้ว่า การรับซื้อขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อผู้ถือหน่วยสั่งขายคืนด้วยตนเอง สามารถขายคืนหน่วยลงทุนด้วยตนเองได้ที่บริษัทจัดการหรือธนาคารกรุงไทย หรือผู้สนับสนุนทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์

ส่วนในข้อ17. การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน โดยใช้คำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนโดยใช้คำสั่งซื้อรับโอนหน่วยลงทุนและคำสั่งขายรับโอนหน่วยลงทุน ทั้งนี้ผู้ถือหน่วยสามารถขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมเติมได้ที่ KTAM Smart Plan บลจ.กรุงไทย 0-2670-4999

นอกจากนี้ ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนเปิดกรุงไทยธนวรรธน์ (KTTW) จึงประกาศแจ้งให้ทราบว่า บริษัทได้รับมติเสียงข้างมากจากผู้ถือหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ให้แก้ไขโครงการจัดการกองทุนดังกล่าว และมีผลบังคับใช้ตั้งวันที่ 20 พ.ย.เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้

จากข้อมูลเดิม คำจำกัดความ "กองทุน"หมายถึงกองทุนเปิดกรุงไทยธนวรรธน์ "โครงการ"หมายถึง โครงการจัดการกองทุนเปิดกรุงไทยธนวรรธน์ เปลี่ยนเป็น "กองทุน"หมายถึง "กองทุนเปิดกรุงไทยสร้างโอกาส 2" โครงการหมายถึง โครงการจัดการกองทุนเปิดกรุงไทยสร้างโอกาส 2 ซึ่งหมายถึงได้ทำการเปลี่ยนหกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนเปิดกรุงไทยสร้างโอกาส 2 (TheThai Opporttunity Fund2) โดยชื่อย่อTOF2 แทน KTTW

ด้านวัตถุประสงค์ของโครงการจัดการกองทุนรวม นโยบายการลงทุน ลักษณะโครงการประเภทและอัตราส่วนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือดอกผลโดยวิธีอื่นที่จะลงทุน ในข้อ3.3 จากเดิมมีนโยบายเป็นกองทุนรวมผสม ที่ไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารแห่งทุน ได้เปลี่ยนเป็นกองทุนจะกระจายการลงทุนในตราสารแห่งทุน โดยเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีเงินปันผลสูง มีมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน และมีหนี้สินต่อทุนไม่สูง

สุดท้ายในด้านการเสนอขายภายหลังจากการเสนอขายครั้งแรก จากเดิมผู้สั่งซื้ออาจชำระเป็นเงินสด หรือเช็ค ดราฟต์ หรือวิธีอื่นใด โดยขีดคร่อมสั่งจ่ายเฉพาะ "บัญชีจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดธนวรรธน์" เปลี่ยนเป็น ผู้สั่งซื้ออาจชำระเป็นเงินสด เช็ค ดราฟต์ หรือวิธีอื่นใด โดยขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่าย "บัญชีจองซื้อหน่วยลงทุนกองทุนเปิดกรุงไทยสร้างโอกาส 2"
กำลังโหลดความคิดเห็น