xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กับคำถามมากมายที่ยังต้องการคำตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "Mutualfund Guideline"

ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายต่อหลายคำถามเกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ อาร์เอ็มเอฟ เข้ามาถึงทีมงาน "ผู้จัดการกองทุนรวม" อย่างต่อเนื่อง...โดยคำถามส่วนใหญ่ ยังมีข้อข้องใจเกี่ยวกับระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุน การขายหน่วยลงทุน รวมถึงการซื้อหน่วยลงทุนใหม่...ว่าสามารถทำได้ โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

คำถาม...ถือ RMF ตั้งแต่กองแรกถึง 5 ปี ซื้อทุกปี อายุเกิน 60 ขายกองแรกขายไปแล้วปีนี้ และกองที่ 2 ก็ครบ 5 ปีแล้ว ถามว่า RMF ที่ซื้อปีนี้หากขายพร้อมกอง 2,3...จะยังได้สิทธิ์ทางภาษีหรือไม่ โดยยึดหลักว่า กองที่เหลืออยู่เก่าสุดต้องครบ 5 ปี (อายุเลย55ปีแล้ว) จึงจะขายกองที่มีอายุไม่ถึง 5 ปีได้ ถูกต้องหรือไม่ครับ

คำถาม...กรณีที่อายุ 58 ซื้อ RMF แล้วต้องถือครองกี่ปีจึงสามารถขายได้ครับ และ ถ้าซื้อ LTF และ RMF ในปีเดียวกัน หักภาษีได้ 500,000+500,000=1,000,000 ใช่หรือไม่ (เพดานลงทุนก่อน ครม. มีมติเพิ่มวงเงินเป็น 700,000 บาท)

คำถาม...ผมซื้อ RMF ปีนี้ครบ 5 ปี แต่อายุ 54 ปี เกิด 14 เมษายน 2497 จะต้องรอถึงปีหน้า (2552) ถึงจะขายได้อยากทราบว่า จะขายได้ตั้งแต่วันแรกของปีปฎิทิน 2552 หรือหลังวันที่ 14 เมษายน 2552 ซึ่งอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์, การขายจะต้องขายทั้งหมดครั้งเดียวหรือไม่, หากผมประสงค์จะขายเพียงบางส่วนจะทำได้หรือไม่

...คำถามเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนต่อกองทุนประเภทนี้ ยังไม่ลึกซึ้งพอหรืออาจจะพูดได้ว่าไม่เข้าใจเลยก็ว่าได้...ซึ่งคำถามเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มาจากคนที่ซื้อหน่วยลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น และที่สำคัญไปกว่านั้น ความคาดหวังของนักลงทุนที่อยากรู้คำตอบ จากพนักงานแบงก์ที่เขาไปซื้อมา กลับไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้...แบบนี้แล้ว คงไม่ต้องบอกว่านักลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนจะเข้าใจกองทุนประเภทนี้ได้อย่างไร

คอลัมน์ "Mutualfund Guideline" วันนี้ ถือโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอีกครั้ง...เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนในช่วงที่การลงทุนในกองทุนดังกล่าวมาถึงแล้ว (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) หมายถึง กองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินสำหรับใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ทั้งนี้ นโยบายของการลงทุนของ RMF อาจเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนที่ลงทุนแบบผสมก็ได้ แต่จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลในระหว่างการลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้ การลงทุนใน RMF ยังมีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงิน ดังนั้น แรงจูงใจสำหรับการลงทุนใน RMF นี้ก็คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปนั่นเอง โดยเงินลงทุนใน RMF นั้น นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้

- ได้รับการลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องนำเงินลงทุนใน RMF ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในปีภาษีนั้น โดยเมื่อนำเงินลงทุนใน RMF นี้ไปนับรวมเข้ากับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่นักลงทุนมีอยู่ ต้องไม่เกิน 700,000 บาท (สำหรับปีนี้เท่านั้น) ในปีภาษีนั้น โดยการได้รับผลประโยชน์ทางภาษีนี้ให้นับตามเวลาแบบวันชนวันตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มลงทุน

กบข./Provident Fund + RMF (<_15%ของเงินได้) <_ 700,000 บาทในปี

- ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)

นอกจากนี้เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว นักลงทุนต้องลงทุนตามเงื่อนไขการลงทุนของ RMF ซึ่งมีรายละเอียดจะยกมาเฉพาะส่วนที่สำคัญ เช่น

- ต้องลงทุนสะสมอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่มีการระงับการลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันแต่หากมีความจำเป็นก็สามารถระงับการลงทุนได้แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีติดต่อกัน ยกเว้นเสียแต่ว่านักลงทุนผู้นั้นไม่มีเงินได้จากการประกอบอาชีพแต่อย่างใด ก็สามารถว่างเว้นจากการลงทุนได้จนกว่านักลงทุนผู้นั้นจะมีเงินได้กลับมาลงทุนต่อไป ซึ่งในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดเงื่อนไขการลงทุนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ให้นับอายุการลงทุนแบบวันชนวันตั้งแต่วันแรกที่เริ่มลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเริ่มลุงทุนตอนอายุ 51 ปีอย่างสะสม และต่อเนื่องในกองทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2551 ไปในอนาคตจนเมื่อคุณมีอายุ 56 ปี คุณจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2556 นับเวลา 5 ปีพอดี

- ต้องลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าจำนวนเงินใดจะต่ำกว่า (กรณีที่นักลงทุนซื้อหน่วยลงทุนใน RMF หลายกองทุนให้รวมการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ทุกกองทุน)

- เงินลงทุนขั้นสูงสุดต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 700,000 บาทต่อปี

- การขายคืนหน่วยลงทุนทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และต้องถือหน่วยลงทุนนั้นไม่น้อยกว่า 5 ปี หากขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดข้างต้น นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป อีกทั้งต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วง 5 ปีล่าสุดให้แก่กรมสรรพากร นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ยังต้องนำไปคำนวณรวมเพ่อเสียภาษีเงินได้ในปีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นอีกด้วย

ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเงื่อนไขการลงทุนข้างต้นเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ก่อนการลงทุนเสมอ กองทุนรวมประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีอาชีพอิสระ หรือลูกจ้างที่ไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญรองรับ หรือลูกจ้างที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว แต่ต้องการที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มวงเงิน 700,000 บาท

ตอบคำถามคาใจ
ปัญหาที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังหาคำตอบไม่ได้ เกิดจากกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้ ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟจนกว่าจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และถือครองหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกจึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการขายคืนหน่วยลงทุน

...ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าว มีช่องโหว่ตรงที่...ยังมีความไม่ชัดเจนกรณีที่ซื้อหน่วยลงทุนก่อนกฎหมายบังคับใช้ว่า หากต้องการจะขายและลงทุนเพิ่มเติม จะสามารถทำได้หรือไม่ หรือจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่า หากต้องการจะขาย จะต้องขายทั้งหมด เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่...หรือหากต้องการจะลงทุนเพิ่ม แล้วจะสามารถนับรวมกับยอดซื้อก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้หรือไม่

ความไม่ชัดเจนนี้เอง ทำให้สมาคมบลจ. ต้องหารือกับกรมสรรพากรว่า สุดท้ายแล้วผู้ถือหน่วยต้องปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนพอสมควร ประกอบกับฤดูกาลของการลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟมาถึงแล้ว (นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนปลายปี) ซึ่งเรื่องนี้ สมาคม บลจ. พยายามจะให้เห็นความชัดเจนโดยเร็วภายในปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่กำลังจะลงทุนว่า...หลังจากลงทุนแล้ว จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อยภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น