xs
xsm
sm
md
lg

ฝากเงินสกุลอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Money DIY
Yeoman Warders
yeomanwarders-dailymanager.com


เป็นอย่างไรบ้างครับ หลังจากตรากตรำกับยูโร 2008 มาอย่างต่อเนื่อง หวังว่าตอนนี้คงได้หลับกันเต็มตากันได้ซักที แต่เรื่องหนีเจ้าหนี้นี่คงกินเวลาไปอีกหลายเดือนหน่อยเท่านั้นเอง (ฮา) ครั้งที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ว่าจะกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่เผอิญมีเรื่องน่าสนใจกว่าปาดหน้าเข้ามาก่อน เลยต้องขออภัยแฟนานุแฟนทั้งหลาย โยกย้ายกลยุทธ์รับเงินเฟ้อภาคต่อไปเป็นตอนหน้าแล้วกันครับ

ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ถ้าท่านติดตามข่าวการเงินการทอง อาจจะพอนึกได้ว่าตอนนั้นประเทศไทยประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งโป๊ก ชนิดทำเอาผู้ส่งออกหัวโนไปตามๆกันเพราะขายของไปเมืองนอกด้วยราคาแพงขึ้น ไอ้ครั้นจะตรึงราคาไว้เท่าเดิมกำรี้กำไรก็หายหด จนผู้ส่งออกรายย่อยหลายรายทยอยปิดกิจการไปไม่น้อย แบงก์ชาติจึงต้องออกมาตรการสารพัดเพื่อเป็นให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงบ้าง ซึ่งหนึ่งในมาตรการอันมากมายนั้น ก็คือการอนุญาตให้คนไทยทั่วไปที่ไม่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศสามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลอื่นได้ โดยมีวงเงินสูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดาไม่เกิน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่ให้เฉพาะผู้ที่มีธุรกิจส่งออกนำเข้าเท่านั้น

การฝากเงินนั้นก็ง่ายๆ คือ ไปบอกธนาคารว่าจะเอาเงินบาทมาแลกเพื่อฝากเป็นเงินสกุลอื่น ทีนี้ธนาคารเขาก็จะแลกเงินบาทของท่านเป็นสกุลที่ท่านต้องการ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น พร้อมกับเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือประจำให้ตามต้องการ

อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินสกุลอื่นนี้อาจสูงกว่า หรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทที่เราฝากตามปกติครับ โดยอัตราที่ว่านี้ก็จะไม่เท่ากันในแต่ละสกุล และมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินสกุลนั้นๆในที่อื่นๆของโลก ยกตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยเงินฝากในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1.2 – 2.25% ต่อปี เงินยูโร 2.1 - 3.15% ต่อปี เงินปอนด์ 3.4 - 4.35% เงินออสเตรเลียนดอลลาร์ 4.2 – 6.5% ต่อปี

จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในหลายสกุลนั้นให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินบาทที่ตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 2 – 3% กว่าๆ ซึ่งจุดสำมะคัญของเรื่องก็อยู่ที่ตรงนี้แหละครับ หลายคนตัดสินใจนำเงินไปฝากในสกุลเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินบาท อย่างเงินปอนด์ และออสเตรเลียนดอลลาร์ ซึ่งก็มิได้ผิดอะไรครับหากว่าท่านมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลนั้นๆ เช่น ต้องจ่ายค่าเทอมลูกหลาน หรือ ต้องการถือเงินสกุลอื่นไว้บ้างเพื่อเป็นการกระจายการลงทุน (จำวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ได้ไหมครับ ตอนนั้นถ้าใครมีเงินบาทอย่างเดียวก็จนยากน่าดู เพราะค่าเงินบาทอ่อนยวบลงไปถึง 50 บาทต่อดอลลาร์ ใครมีลูกหลานเรียนเมืองนอกช่วงนั้น ถ้าไม่ให้กลับก่อน ก็ต้องให้ล้างจานกันมือบวมหาเงินส่งตัวเองเรียนแทนครับ)

แต่สำหรับผู้ที่คิดแต่จะไปฝาก 3 เดือน 6 เดือนแล้วถอนกลับมาเป็นเงินบาท กินดอกสูงๆเล่นแก้เซ็งนั้น ก็อย่าลืมนะครับว่าเมื่อท่านแลกเงินกลับมาท่านอาจพบว่าตนเองได้รับผลตอบแทนเพิ่มหรือลดลงมาก หรือบางครั้งอาจได้เงินบาทกลับมาไม่เท่ากับตอนแลกไปฝากครั้งแรกก็ได้ ซึ่งก็อย่าเพิ่งไปลุยพนักงานแบงก์เขานะครับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท และสกุลเงินที่ท่านฝากอยู่นั่นเอง มิได้เป็นเพราะใครมาแถมเงินให้ หรือขโมยเงินท่านไปแต่อย่างใด

ดังนั้น วิธีที่น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพจิตของท่าน คือ แบ่งเงินไปฝากแต่พองามครับ ไม่ใช่ถมฝากไปหมดตัว เหมือนอย่างที่เคยฝากเงินบาทกับแบงก์ ต้องท่องคาถาไว้เสมอนะครับว่ากำไรเยอะได้ ก็ขาดทุนเยอะได้เช่นเดียวกัน ดีที่สุดคืออย่าไปเล็งทุกวันครับว่าจะขึ้นลงเท่าไหร่ ฝากยาวไปสบายใจกว่าครับ

นอกเหนือจากการฝากเงินสกุลอื่นที่ว่ามาอย่างยืดยาวแล้ว ตอนนี้ยังมีบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งมาเสนอกองทุนรวมที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับการฝากเงินให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลออสซี่ กีวี่ อายุตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี ที่ฮ้อตกันไปตั้งแต่ต้นปี (แซมไปกับพวกพี่ใหญ่เกาหลีที่ฮิตขจรขจายยิ่งกว่าไหปลาร้าแตก) หรือจะเลือกน้องใหม่มาแรงอย่างกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ อย่างสกุลเงินปอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ (แต่ไม่ทั้งหมด) ของกองทุนรวมตลาดเงินของเมืองนอกนั้นมักจะมีความเสี่ยงต่ำ โดยมักจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน โดยให้บริษัทจัดเรตติ้งที่ได้รับการยอมรับมาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุน ซึ่งอันดับสูงสุดของกองทุนประเภทนี้ ก็คือ AAA/V1+ โดยฟิทช์ AAAm โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ Aaa/MR1+ โดยมูดดีส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงให้ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนเหล่านี้ได้ทราบว่ากองทุนรวมตลาดเงินที่ได้รับการจัดอันดับเช่นนี้มีความมั่นคงปลอดภัย และมีศักยภาพในการดำรงเงินลงทุนไว้ได้ดี มีโอกาสขาดทุนต่ำมาก

แต่.....ที่เขาว่ามาทั้งหมดนี่เป็นความมั่นคงในรูปสกุลเงินปอนด์นะครับ มิได้หมายความว่าเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท หรือเมื่อดูมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรายวันของกองทุนในรูปเงินบาทแล้วจะมั่นคงปลอดภัยอย่างมากไปด้วย เพราะอย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเมื่อมีการแปลงค่าเงินจากสกุลหนึ่งมาเป็นอีกสกุลหนึ่ง ดังนั้นในกรณีนี้ ผู้ลงทุนอาจพบว่าตนเองได้รับผลตอบแทนสูงมาก หรือต่ำมากเมื่อแปลงค่าเงินลงทุนกลับมาเป็นเงินบาทแล้ว

แต่หากท่านเข้าใจความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่นี้การลงทุนในกองทุนรวมตราสารตลาดเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศก็น่าสนใจไม่น้อยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการนำเงินไปแลกที่แบงก์ หรือฝากในบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ เพราะอัตราผลตอบแทนจากกองทุนมักจะสูงกว่าเงินฝากประจำของแบงก์ในสกุลเงินนั้นๆ (ก็คล้ายกับผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารเงินในประเทศ ที่มักจะสูงกว่าเงินฝากแบงก์นั่นแหละครับ) อีกทั้งไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เหมือนเงินฝาก แถมยังซื้อขายได้ทุกวันทำการ จะด้อยกว่านิดหน่อยก็ตรงที่ได้รับเงินช้าไปประมาณ 2 วันนับจากวันที่ทำการขายหน่วยลงทุนเท่านั้นเอง

อ้อ.....ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ไม่มีค่าธรรมเนียมฝากถอนเหมือนการไปฝากเงินที่แบงก์ที่มีตั้งแต่ 0.25 -1% ของยอดเงินฝาก แถมบางที่ยังกำหนดขั้นต่ำในการฝาก หรือคิดค่าธรรมเนียมจุกจิกสารพัดอีกด้วย

แต่ก่อนจะไปลงทุน ยังไงก็อย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวน และซักถามผู้ขายหน่วยลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงทุนจะดีที่สุดครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น