xs
xsm
sm
md
lg

มองเกณฑ์ 50 ล้านบาท แนวต้านขั้นต่ำกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อ่าว!!ไซส์กองทุนไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ซื้อดีกว่า" ประโยคนี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับการตัดสินใจซื้อกองทุน นอกจากนโยบายการลงทุน และความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลรับได้

คนที่ยังไม่ทราบคงสงสัยว่าจำนวนเงินดังกล่าวเกี่ยงข้องกับเรื่องนี้อย่างไร? แต่สำหรับผู้ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า หากกองทุนใดไม่สามารถระดมทุนได้ตามขนาดที่ตั้งไว้ จะต้องถูกยุบลงตามเกณฑ์ที่บอกไปข้างต้นนั่นเอง

เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับการตัดสินใจของนักลงทุน แต่ยังมีบ้างส่วน(หรือกำลังจะมีเพิ่ม) ที่ต้องเผชิญกับการถูกยุบ เลิกกองทุนไป ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการพูดคุยถึง ตัวบท กฎเกณฑ์ นี้มากขึ้น

นางสาวดวงกลม พิศาล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจัการลงทุน บอกถึงเรื่องนี้ว่า การยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำของขนาดกองทุนรวมจำนวน 50 ล้านบาทนั้น ทางสมาคมได้มีการเสนอเรื่องนี้ให้ทางก.ล.ต.พิจารณาแล้วตั้งแต่ การประชุมร่วมกันในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งทางสมาคมฯ ได้มีการนำเสนอให้ยกเลิกเป็นภาพรวมทั้งหมดในกองทุนทุกประเภท โดยไม่มีการเจาะจงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทางก.ล.ต.ได้มีการรับข้อเสนอดังกล่าวไป แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีประกาศเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาใด และผลที่ออกมานั้นจะมีการยกเลิกหมดหรือไม่ โดยอาจเป็นการยกเลิกในบ้างกองทุน หรือมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ก.ล.ต.ให้ความกังวลมากที่สุดจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้ง เรื่องค่าโฆษณากองทุน และค่าจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะต้องนำไปพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการจัดการอย่างไรในส่วนนี้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรื่องขนาดของกองทุนนั้น ยกตัวอย่างเช่น กองมันนี่มาร์เก็ตต่างประเทศ ซึ่งหากอยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมาก็จะมีการโยกเงินลงทุนไปกองทุนอื่นทำให้ขนาดมันลดลงต่ำกว่า 50 ล้านบาท และเป็นปัญหาตามมา ทั้งที่การโยกการลงทุนมันเป็นพฤติกรรมปกติของนักลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งหากก.ล.ต.ต้องการให้มีสินค้าหลากหลาย แต่กฎนี้อาจทำให้จำนวนสินค้าลดลงได้เช่นกัน”นางสาวดวงกมลกล่าว

รับลูกแต่ไม่รับรอง
ส่วน นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. เองได้ให้ความเห็นไว้ว่า เกณฑ์ขั้นต่ำของขนาดกองทุนรวมที่ 50 ล้านบาทนั้นกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นในการจัดตั้งกองทุนรวม ซึ่งการที่บลจ.บางแห่งแสดงความต้องการให้ยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวสำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) นั้น ส่วนตัวแล้วเคยได้ยินมาเช่นกัน แต่ก็ยังไม่มีความเห็นมากนักในเรื่องนี้

“ตอนนี้พอทราบเรื่องมาบ้าง แต่ส่วนตัวแล้วไม่ถึงกับไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วย คือถ้ามีการส่งเรื่องมาก็ต้องรับพิจารณา และต้องดูรายละเอียดประกอบว่า ติดขัดอะไรหรือไม่ ผู้ประกอบการที่มีปัญหามีกี่ราย หรือส่งผลกระทบอะไรมากน้อยขนาดไหน” นายประเวชกล่าว

ทั้งนี้ ที่มาของเกณฑ์ดังกล่าวคือ ความต้องการให้กองทุรวมเป็นแหล่งกระจายเงินลงทุน ซึ่งขนาดของกองทุนต้องใหญ่พอสมควรถึงจะมีประสิทธิภาพดี เนื่องจากการซื้อขายตราสารบางอย่างต้องมีเงินทุนที่เหมาะสม ส่วนค่าใช้จ่าย เองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน แต่คงไม่มากนัก

ทราบความเห็นกันแล้ว ดูเหมือนว่าจะรับ(ลูก)เรื่องเอาไว้พิจารณา มองเป็นกลางว่า ไม่มีน้ำหนักโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะดูกันตามเนื้อผ้า ที่ต้องดูตามรายละเอียดอีกครั้ง คงจะต้องดูกันตามรายกองทุนจริงๆ เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนบ้างอย่างมันผิดกันยิ่งเป็นกองตราสารหนี้แล้ว การซื้อของหรือสินค้าในตลาดรอง จำนวนเงินมีผลอย่างมากต่อค่าธรรมเนียมต่างๆ

2 บลจ.น้องใหม่ครวญขายของลำบาก
นายวรรธนะ วงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ฟิลลิป จำกัด บอกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกันแล้วระหว่างสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) และสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าน่าจะมีการดำเนินการยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวได้สำหรับทุกกองทุน

ทั้งนี้ จากการหารือดังกล่าว ทางก.ล.ต.เองยังแสดงความเห็นด้วยว่า น่าจะทำการยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวได้ แต่ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นภาระที่สูงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ต้องมีการพิจารณอีกครั้ง

“ผมได้คุยกับทางก.ล.ต.แล้วเข้าก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง โดยเมื่อเดือนที่แล้วทางสมาคมบลจ.เองได้เสนอในเรื่องนี้ไปเหมือนกัน และไม่ใช่แค่กองแอลทีเอฟเท่านั้น มันจะเกือบทุกกองเลยที่จะยกเลิก”นายวรรธนะกล่าว

นายวรรธนะ บอกอีกว่า เรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเดินงานนั้น ถึงแม้จะดูสูงกว่ากองทุนที่มีขนาดใหญ่แต่ บริษัทเองยังสามารถแบกรับเรื่องนี้ได้ และไม่เคยจะปัดความรับผิดชอบไปให้นักลงทุน เพราะจะทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนที่บริษัทจัดการอยู่แย่ลง จนเป็นเหตุให้นักลงทุนสนใจลงทุนกับกองทุนของบริษัทน้อยลงได้

"การลงทุนในหุ้นแล้วพอร์ตการลงทุนระดับ 5-6 ล้านบาทก็น่าจะยังสามารถดำเนินการได้ เหมือนกับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยตรง ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่ผ่านมาบริษัทจะเป็นผู้แบกภาระไว้อยู่แล้ว โดยบริษัทยืนยันว่าจะไม่ทำการใดๆ ที่ไม่สุจริต เพราะคงจะไม่ทำให้บริษัทมีฐานะดีขึ้นจากจำนวนเงินในพอร์ตดังกล่าว"นายวรรธนะกล่าว

นายกิตติโชค จิตต์สดศรี กรรมการผู้จัดการ บลจ.ซีมิโก้ กล่าวว่า เห็นด้วยเช่นกัน ที่จะเสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต. ผ่อนปรนการหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้กองทุนแอลทีเอฟ ต้องระดมทุนให้ได้เกิน 50 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากปัจจุบัน หลายกองทุนที่เปิดขายหน่วยลงทุนไปแล้ว มีเงินลงทุนยังไม่เข้าเกณฑ์ รวมถึงกองทุนแอลทีเอฟภายใต้การบริหารของบริษัทด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่เหลือในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนด ถือเป็นเรื่องยากพอสมควร สำหรับ บลจ.น้องใหม่ ที่จะระดมทุนให้ได้ตามเกณฑ์ 50 ล้านบาท เพราะด้วยฐานลูกค้าที่มีจำนวนน้อย รวมถึงความผันผวนของตลาดหุ้นในปัจจุบัน ซึ่งหากกองทุนไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวนตามเกณฑ์แล้วต้องปิดกองทุนไปนั้น ถือเป็นการเสียโอกาสสำหรับผู้ลงทุน เพราะแต่ละกองทุนมีนโยบายลงทุนไม่เหมือนกัน ซึ่งนักลงทุนได้เลือกแล้วว่ากองทุนดังกล่าว เหมาะความเสี่ยงของตนเอง

สรุปสั้นๆ กับเรื่องนี้คือ การผลักดันของฝั่งบริษัทหลักทรัพยจัดการกองทุน มีการพูดถึงรายละเอียดมานานระดับหนึ่งแล้ว แต่พึ่งมีการโยนเรื่องให้ทาง สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณา เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนกองทุนที่ได้รับผลกระทบ ชัดเจนที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ของบลจ.ขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อนักลงทุนทราบขนาดของกองทุนแล้วมักจะไม่กล้าลงทุน แม้จะชอบนโยบายก็ตาม

ส่วนหลังจากที่ สำนักงาน ก.ล.ต.รับลูกไปแล้วนั้น ผลจะออกมา(นานมาก) อย่างไร จะมีการยกเลิก(บางกอง)หรือไม่ หรือจะลดเกณฑ์ขั้นต่ำลงเหลือเท่าไร คงต้องติดตามกันเพราะเป็นเรื่องสำคัญของนักลงทุนในการรักษาผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น