บลจ.กรุงไทยจับมือสถาบันการเงินระดับโลก "ซิตี้แบงก์-เจพีมอร์แกน" จ่อคิวเอฟไอเอฟ 2 กองทุน กระจายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ บวกกับการลงทุนทั่วโลกในทุกแอสเซทคลาส คาดเปิดขายได้ไตรมาส 3 นี้ เผยหลังจากนี้ เตรียมปรับแผนออกกองทุนใหม่ ผ่านขั้นตอนการพิจารณา 3 ลำดับ ทั้งกรรมการการลงทุน บริหารความเสี่ยง และการตลาด หวังสร้างกองทุนที่มีประสิทธิภาพ และตรงกับตวามต้องการของตลาด
นายสมชัย บุญนำสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนจะเปิดขายกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) อีกจำนวน 2 กองทุน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินต่างประเทศทั้ง 2 กองทุน โดยกองทุนแรกจะร่วมลงทุนกับธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งลงทุนดังกล่าวจะจัดสรรเงินลงทุนในต่างประเทศ แล้วแต่ละประเทศก็จะเลือกลงทุนในแต่ละเซกเตอร์อีกครั้ง ซึ่งโมเดลการลงทุนดังกล่าว เป็นโมเดลการลงทุนของซิตี้แบงก์เองที่นำเงินของตัวเองออกไปลงทุน แล้วเห็นว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี จึงนำมาใช้เป็นโมเดลการลงทุนดังกล่าว โดยในขณะนี้ ซิติ้แบงก์กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุน ซึ่งการลงทุนของกองทุนจะเป็นลักษณะของการลงทุนแบบ Fund of Fund
ส่วนอีกกองทุนนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่างเจพีมอร์แกน ซึ่งการลงทุนของกองทุนนี้เป็นเป็นการลงทุนแบบแอกทีฟอโลเคชั่น โดยตัวกองทุนเองมีนโยบายลงทุนครอบคลุมทุกอินเด็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ตราสารหนี้ สินทรัพย์อื่นๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ (ซอร์ฟคอมมอดิตี-ฮาร์ดคอมมอดิตี) กลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน) รวมถึงทองคำ เป็นต้น
โดยความน่าสนใจของทุนนี้อยู่ที่ กองทุนสามารถลงทุนได้ในหลายสินทรัพย์ ซึ่งครอบคลุมการลงทุนทั่วโลก และถือเป็นการการกระจายความเสี่ยงที่ดี ทำให้เราไม่ต้องตั้งกองทุนหลายๆ กองทุน นอกจากนี้ กองทุนยังสามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้ทุกเดือน ซึ่งจะมีคณะกรรมการลงทุนร่วมตัดสินใจในการเลือกลงทุนและให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท โดยให้ทางเจพีมอร์แกนเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน แล้วคณะกรรมการการลงทุนจะจะตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง
"ความน่าสนใจของกองนี้อยู่ที่การกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทำให้เราไม่ต้องตั้งหลายกองทุน ขณะเดียวกัน กองทุนยังปรับพอร์ตลงทุนได้เอง โดยมีคณะกรรมการลงทุนร่วมตัดสินใจ ซึ่งเวลาเราเจอนักลงทุนสถาบันใหญ่ๆ เราก็นำเสนอกองทุนนี้ แล้วดึงเขาเข้ามาร่วมลงทุนด้วย นอกจากนั้น ก็จะดึงเขาเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตัดสินใจลงทุนร่วมด้วย ซึ่งจะตัดสินใจให้น้ำหนักลงทุนว่าจะเป็นอย่างไร แต่กองทุนนี้นักลงทุนทั่วไปก็สามารถลงทุนได้ แต่จะเหมาะกับนักลงทุนสถาบันมากกว่า"นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามานำเสนอกองทุนต่างประเทศให้เราเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเพียงการพูดคุยในเบื้องต้นเท่านั้น โดยไม่มีการสานต่อ แต่หลังจากนี้ การทำงานของเราจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทำงานด้วยการตลาด เพราะแต่ละกองทุนที่จะออกมาจะต้องผ่านกระบวนการตัดสินใจ 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคณะกรรมการการลงทุนและหน่วยงานบริหารความเสี่ยง จะเป็นผู้พิจารณาความน่าสนใจของกองทุนนั้นๆ ก่อนจะเสนอให้ทางการตลาดพิจารณาว่าในแง่ของลูกค้า ทั้งลูกค้าแบงก์ และลูกค้าทั่วไป มีความต้องการในโพรดักซ์นั้นมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี เดิมที หากมีกองทุนต่างชาติเข้ามาคุยกับเราเพื่อเสนอกองทุนต่างประเทศ เราก็จะให้คุยกับคณะกรรมการลงทุน แต่เนื่องจากที่ผ่านมา มีข้อจำกัดด้านจำนวนคน ทำให้การพิจารณากองทุนแต่ละกองขาดความต่อเนื่อง เพราะบางกองคุยกันแล้วก็จบแค่นั้นไม่มีการสานต่อ เนื่องจากมีสถาบันต่างชาติเข้ามาคุยกับเราเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนี้ คนที่มาเสนอกองทุนให้เรา ก่อนอื่นต้องให้เสนอข้อมูลของกองทุนนั้นๆ ให้เราพิจารณาก่อนว่า กองทุนนั้นคืออะไร มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โดยให้คณะกรรมการการลงทุนและฝ่ายบริหารความเสี่ยงเป็นผู้ตัดสินใจ หากกองทุนนั้น มีความเสี่ยงมากไม่เหมาะกับลูกค้าของเรา พูดง่ายๆ ว่า ก็ไม่ต้องคุยต่อ แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วว่า นโยบายการลงทุนน่าสนใจและความเสี่ยงเหมาะสมกับลูกค้า ก็จะส่งให้ฝ่ายการตลาดพิจารณาว่า ลูกค้ามีความต้องการหรือไม่ หากทั้ง 3 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็สานงานต่อตั้งเป็นกองทุนออกมาเปิดขายในที่สุด
"การจัดกระบวนการทำงานที่กระชับเป็นขั้นตอน จะทำให้เราได้กองทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกกองทุนที่ออกมา ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด และตอบโจทย์แผนการตลาดของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่ง 2 กองทุนนี้ ถือเป็น 2 กองทุนแรก ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายกองทุนได้ประมาณไตรมาส 3 นี้"นายสมชัยกล่าว