xs
xsm
sm
md
lg

UNชี้"กระแสตื่นทองเขียว"กำลังสุดฮอต ปี50ลงทุน"พลังงานทดแทน"$1.48แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - รายงานของสหประชาชาติชี้ "กระแสตื่นทองคำเขียว" กำลังระบาดไปทั่วโลก โดยในรอบปี 2007 เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังลม, แสงอาทิตย์, เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 60% เป็น 148,000 ล้านดอลลาร์

"กระแสตื่นทองคำสีเขียว" นี้ ได้รับการหนุนส่งจากราคาน้ำมันที่ทะยานลิ่ว รวมทั้งความกังวลเรื่องโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศโลก จนทำให้การลงทุนในพลังงานสะอาด ทั้งจากลม แสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพในปีที่แล้ว พุ่งขึ้นมากกว่าระดับที่โครงการพลังงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี)เคยประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ถึงสามเท่าตัว

"ก็แบบเดียวกับที่ผู้คนหลายแสนถูกดึงดูดไปยังแคลิฟอร์เนียและคลอนไดต์ ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 กระแสตื่นทองคำสีเขียวในเวลานี้ก็กำลังดึงดูดผู้คนที่มีความหวังในยุคสมัยใหม่กันมากมายเป็นกองทัพจากทั่วทุกมุมโลก" อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการยูเอ็นอีพี กล่าว

ขณะที่ ไมเคิล ไลเบรช ซีอีโอของนิว เอ็นเนอร์ยี ไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับนี้คนหนึ่ง บอกว่า "พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเมื่อดูในแง่ของการลงทุน"

รายงานชิ้นนี้ของยูเอ็นอีพี ซึ่งใช้ชื่อว่า "แนวโน้มโลกในการลงทุนด้านพลังงานยั่งยืน" ประจำปี 2008 แจกแจงว่าพลังงานหมุนเวียนในประเภทพลังลม เป็นประเภทที่ดึงดูดเงินลงทุนได้ถึง 50,200 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว หรือราวหนึ่งในสามของการลงทุนในพลังงานสะอาดทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2008 มีการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้ารวมกันทั้งโลกเกิน 100 กิกะวัตต์ หรือเพียงพอสำหรับใช้ใน 75 ล้านครัวเรือน

ส่วนการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้นถึง 254% จนอยู่ในระดับ 28,6000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น ลดลงหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลืออยู่ในระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์

หากดูในภาพรวมแล้ว ก็จะพบว่าการติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงงานเพื่อผลิตพลังงานสะอาดในปีที่แล้ว คิดเป็น 23%ของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลิตพลังงานของทั้งโลก

รายงานยังได้ชี้อีกว่า การลงทุนของภาครัฐในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยผ่านทางกลไกตลาดนั้น ก็เพิ่มขึ้นเป็น 23,4000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จาก 10,600 ล้านในปี 2006

ในขณะเดียวกัน ดัชนีพลังงานหมุนเวียนของเอสแอนด์พีคัสตอม/เอบีเอ็นแอมโร หรือ เอเออี บวกเพิ่มขึ้น 70% ในปี 2007 แม้ในปีนี้ได้ลดลงมา 14% อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก

รายงานของยูเอ็นอีพีกล่าวว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่นั้นไหลเข้าไปสู่ประเทศผู้นำทางด้านพลังงานทางเลือก อย่างเช่น สหภาพยุโรปแ ละสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกัน จีน อินเดีย และบราซิลก็สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ถึง 26,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14 เท่าตัวจากระดับ 1,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2004 และตลอดปี 2007 ประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ทั้งสามรายนี้ รวมกันแล้วมีสัดส่วนคิดเป็น 22% ของการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

ทางด้านทวีปแอฟริกา ภูมิภาคที่ยากจนและมีความเจริญทางด้านต่างๆน้อยที่สุดในโลก ปริมาณเม็ดเงินที่เข้าไปในภาคพลังงานสะอาดก็ยังเติบโตถึง 5 เท่าในปี 2007 ขึ้นสู่ระดับ 1,300 ล้านดอลลาร์

ยูเอ็นอีพีประมาณว่า ภาคพลังงานหมุนวียนจะเติบโตจนมีมูลค่า 450,00 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 และเพิ่มเป็น 600,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

"เราเห็นสัญญาณแห่งการเติบโต และมันจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว มากกว่าที่บรรดาคลังสมองด้านพลังงานหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศใด ๆเคยคาดไว้เสียอีก" สไตเนอร์กล่าว

กระแสความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้นานาประเทศมาเจรจาและตกลงกันเรื่องการต่อต้านโลกร้อน ทำให้เกิดเป็น พิธีสารโตเกียวขึ้น สาระของข้อตกลงก็คือ กำหนดให้ประเทศที่ร่วมลงนามมีภาระผูกพันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศของตนลง ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทำตามภาระผูกพันให้ได้ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น พิธีสารโตเกียวจะหมดอายุลงในปี 2012 และตอนนี้รัฐบาลจำนวนกำลังเจรจากันเพื่อกำหนดข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มเจรจากันได้ในการหารือเรื่องโลกร้อนที่จัดโดยสหประชาชาติในปีหน้า

"สิ่งที่พบในรายงานของยูเอ็นอีพีน่าจะทำให้รัฐบาลทั้งจากกลุ่มเหนือ(ประเทศพัฒนาแล้ว)และใต้(ประเทศกำลังพัฒนา) สามารถบรรลุถึงข้อตกลงที่เข้มข้นและเป็นที่ยอมรับของชาติต่าง ๆในการประชุมเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กในปี 2009" สไตเนอร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น