xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวง Money Tips : ทำไมเมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จึงลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันการแสวงหาผลตอบแทนจากลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถลงทุนในตลาดรองได้แล้วโดยตรงผ่านตลาดตราสารหนี้ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Bond Electronic Exchange; BEX) หรือไม่ก็ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนตราสารหนี้ประเภทต่างๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเองโดยตรงในตลาด BEX หรือลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ สิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องทราบคือความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและราคาตราสารหนี้ เพราะนี่คือตัวชี้วัดกำไรขาดทุนที่สำคัญในตลาดแห่งนี้

นักลงทุนในตราสารหนี้ต่างทราบดีว่า ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลงให้ซื้อตราสารหนี้เพราะราคาจะเพิ่มขึ้น จะได้กำไร หรือในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นราคาตราสารหนี้จะลดลง ทำให้นักลงทุนขาดทุนได้ หรือถ้าจะซื้อก็ให้เลือกตราสารหนี้อายุสั้นๆ ไว้ก่อนเพราะราคาจะลดลงน้อยกว่า ส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นผู้จัดการกองทุนก็ได้ทยอยปรับพอร์ตการลงทุนโดยลดอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุน แต่คำถามก็คือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้ว่าเมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จะตก แต่จะมีนักลงทุนมากแค่ไหนที่รู้ว่าเพราะอะไรราคาจึงตกเมื่อดอกเบี้ยขึ้น และทำไมตราสารหนี้อายุยาวๆ ราคาจะตกมากกว่าตราสารหนี้อายุสั้นๆ

วิธีอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราคาตราสารหนี้และทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้ดีที่สุดก็คือการยกตัวอย่าง และเรื่องแรกที่ขออธิบายคือ ราคาตราสารหนี้ตกได้อย่างไรเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยขอสมมุติให้ปัจจัยต่างๆ คงที่ ยกเว้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ

สมมุติว่าตอนต้นปี นาย ก ซื้อหุ้นกู้ A ของบริษัทมั่งคั่ง ที่ราคาพาร์ 1,000 บาท โดยมีอายุ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละครั้งตอนสิ้นปีในอัตราคงที่ 5%ต่อปี (Coupon Rate) ต่อมาปรากฏว่าพอต้นปีที่สองอัตราดอกเบี้ยในตลาดเกิดขยับขึ้นไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใดก็ตาม (เศรษฐกิจขยายตัว อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ฯลฯ) และในต้นปีที่สองนี้บริษัทมั่งคั่งออกหุ้นกู้จำหน่ายอีกฉบับ คือหุ้นกู้ B มีอายุ 4 ปี เท่ากับอายุที่เหลือของหุ้นกู้ A มีเงื่อนไขต่างๆ เหมือนกัน และมีระดับความเสี่ยงเท่ากับหุ้นกู้ A ที่มีอายุเหลือ 4 ปีทุกอย่าง แต่เพราะอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทมั่งคั่งต้องกำหนด Coupon Rate ให้สูงขึ้นตามภาวะอัตราดอกเบี้ยตลาด เช่น กำหนดให้เป็น 6%ต่อปี และเป็นผลตอบแทนใหม่ที่นักลงทุนในตลาดต้องการจากการนำเงินมาลงทุนในหุ้นกู้ B อายุ 4 ปีของบริษัท

ถ้า นาย ข เป็นนักลงทุนที่จะซื้อหุ้นกู้โดยเลือกระหว่างซื้อหุ้นกู้ B ที่ออกใหม่ ได้ผลตอบแทน 6%ต่อปี ที่ราคาพาร์ 1,000 บาท กับซื้อหุ้นกู้ A ต่อจากนาย ก ที่ต้องการขายที่ราคาพาร์ 1,000 บาท เช่นกัน ลักษณะเช่นนี้นาย ข ย่อมเลือกซื้อหุ้นกู้ B ไม่ซื้อหุ้นกู้ A จากนาย ก เพราะเรื่องอะไรจะซื้อหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าทั้งๆ ที่ความเสี่ยงเท่ากัน เงื่อนไขเหมือนกันทุกอย่าง ถ้านาย ก อยากขายหุ้นกู้ A ให้ได้ ก็จำเป็นต้องลดราคาให้ถูกลงเพื่อชักจูงให้นาย ข หันมาซื้อหุ้นกู้ของตน ซึ่งกรณีเช่นนี้ ราคาที่ชักจูงให้นาย ข เริ่มมาสนใจหุ้นกู้ A ได้คือราคา 965.35 บาท (ถูกกว่าราคาพาร์ 1,000 บาท) เพราะเป็นราคาที่นาย ข ลงทุนในหุ้นกู้ A แล้วให้ผลตอบแทนเท่ากับหุ้นกู้ B คือ 6%ต่อปี

จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่าเมื่ออัตราตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นผู้ลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น ในทุกระดับความเสี่ยง ดังนั้นผู้ที่มีตราสารหนี้เดิมอยู่หากอยากจะขายของให้ได้ก็ต้องขายในราคาที่ถูกลงเพื่อให้ผู้ซื้อได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงขึ้นและตลาดยอมรับได้ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาตราสารหนี้ลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ตราสารหนี้อายุยาวๆ ราคาจะตกลงมากกว่าตราสารหนี้อายุสั้นๆ และเป็นที่นิยมน้อยกว่าตราสารหนี้อายุสั้นๆ สาเหตุหนึ่งก็คือการลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวๆ ก็เหมือนการทำสัญญากันนานๆ มีข้อผูกมัดระยะยาวไว้แล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถือเป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุน แต่การลงทุนตราสารหนี้อายุสั้นๆ ก็คือการทำสัญญาที่มีพันธะไม่นาน อีกไม่นานสัญญาก็จบ แล้วค่อยทำสัญญาใหม่ได้ ภายใต้สถานการณ์ใหม่ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่า

สมมุติให้มีหุ้นกู้ 2 ฉบับ คือหุ้นกู้ C ที่มีอายุเหลือ 2 ปี และหุ้นกู้ D อายุคงเหลือ 4 ปี จ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนปีละครั้งที่ 5%ต่อปีเหมือนๆ กัน (สมมุติให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากหุ้นกู้สองฉบับนี้เท่ากันเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย) เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น นักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนจากหุ้นกู้ C และ D เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นกู้ D ที่ราคาถูกกว่าหุ้นกู้ C ที่มีอายุสั้นกว่า เพราะการซื้อหุ้นกู้อายุยาวๆ ในภาวะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มขึ้นจะทำให้เขาเสียโอกาสมากกว่า เนื่องจากถ้านักลงทุนซื้อหุ้นกู้ C เขาจะได้รับดอกเบี้ยรับปีละ 50 บาทไปอีก 2 ปี ก็ได้เงินต้นคืน และสามารถนำไปลงทุนใหม่ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าขณะนี้ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขึ้น มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้นเมื่อลงทุนใหม่ แต่ถ้าเขาเลือกลงทุนในหุ้นกู้ D เขาจะต้องรับดอกเบี้ยปีละ 50 บาท ไปอีกถึง 4 ปี แล้วค่อยได้เงินต้นคืน ซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับซื้อหุ้นกู้ C

ดังนั้นเพื่อเป็นการชดเชยการเสียโอกาสนักลงทุนจึงต้องการซื้อหุ้นกู้ระยะยาวในราคาถูก เพื่อให้การลงทุนได้ผลตอบแทนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หุ้นกู้ที่มีอายุยาวๆ มีราคาตกลงมากเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น