xs
xsm
sm
md
lg

เวฟภาษีRMFเป็น5แสนไม่เวิร์คผู้เสียภาษีแค่6พันคนได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนชี้มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีอาร์เอ็มเอฟเป็น 5 แสนบาท เอาใจผู้ถือหน่วยเดิมที่ลงทุนเต็ม 3 แสนเท่านั้น ระบุไม่ช่วยเพิ่มเงินลงทุนทั้งระบบมากนัก เหตุตัวเลขนักลงทุนที่ได้ประโยชน์มีเพียง 6 พันคน ประสานเสียง ส่งผลดีระยะยาว ในแง่หนุนการลงทุนในตลาดหุ้น-ตราสารหนี้


รายงานข่าวเปิดเผยว่า มาตราการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวมด้วยส่วนหนึ่ง นั่นก็คือ การเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) จาก 3 แสนบาทต่อปีในปัจจุบันเป็น 5 แสนบาทต่อปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเคยมีความพยายามจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อเสนอให้สรรพากรพิจารณาไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ด้วย

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวส่วนตัวมองว่าเป็นการกระตุ้นการออมมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยให้กองทุนอาร์เอ็มเอฟขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่คงไม่มากนัก เนื่องจากผู้ลงทุนที่ลงทุนเต็ม 3 แสนบาทในปัจจุบันยังมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งการเพิ่มค่าลดหย่อนดังกล่าวจะเปิดทางให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ลงทุนได้เพิ่มเท่านั้น

"เป้าหมายของการเพิ่มค่าลดหย่อน เป็น 5 แสนบาท น่าจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่ลงทุนเต็ม 3 แสนแล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนคนลงทุนที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวมีผล ก็เชื่อว่านักลงทุนเหล่านี้จะลงทุนเกิน 3 แสนบาทแน่นอน ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สูงกว่า ก็อาจจะมีโอกาสลงทุนกองทุนอาร์เอ้มเอฟเพิ่มได้อีก"นายประภาสกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมองว่า มีผลดีต่อภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ เพราะเงินเหล่านี้บริษัทจัดการกองทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน จะกระจายออกไปลงทุนในตลาดทั้ง 2 ตลาดด้วย

สำหรับบลจ.อยุธยา ในปัจจุบันยังไม่สรุปตัวเลขว่าจำนวนผู้ลงทุนเต็ม 3 แสนบาทเป็นเท่าไหร่ ซึ่งหากมาตรการนี้มีผล เราก็จะแจ้งสิทธิการลงทุนในผู้ลงทุนเหล่านี้ทราบว่าสามารถลงทุนได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงทุนเองว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้เราเองต้องสื่อสารให้ผู้ลงทุนเข้าใจด้วย

ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้มีรายได้

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับผู้ที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ที่รายได้ระดับนี้ ยังไม่มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนเดิมที่มีสิทธิลงทุนได้บางส่วนก็ยังมีสัดส่วนการลงทุนค่อนข้างน้อย เพราะผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าไปด้วย

ทั้งนี้ จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเหล่านี้หันไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนแทน ซึ่งกองทุนแอลทีเอฟเองก็มีจำกัดอยู่ที่การลงทุนในหุ้นได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่หากเพิ่มค่าลดหย่อนของกองทุนอาร์เอ็มเอฟขึ้นไปอีก ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนได้อีกทาง เนื่องจากกองทุนอาร์เอ็มเอฟ สามารถลงทุนได้หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือลงทุนแบบผสม

"ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษียังมีอีกเยอะ แต่ลงทุนไม่ได้ ซึ่งหากภาครัฐเพิ่มค่าลดหย่อนของกองทุนอาร์เอ็มเอฟอีก 2 แสน ก็จะช่วยกระตุ้นการออมและกระต้นการลงทุนมากขึ้น โดยเพราะคนมีรายได้สูงที่ต้องการลดหย่อนภาษี รวมถึงคนที่ลงทุนเดิมอยู่แล้วซึ่งอาจจะมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเยอะกว่า การเพิ่มตรงนี้ เข้ามาก็จะทำให้เขาสามารถลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งเราเองก็มีแผนจัดตั้งกองทุนอาร์เอ็มเอฟกองใหม่เพิ่มอีกจำนวน 2 กองทุน โดยในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของกองทุนว่าจะเน้นนโยบายการลงทุนแบบใด"นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นการกระตุ้นการลงทุนมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ได โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยมีจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากเงินเหล่านี้เป็นเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน ที่เป็นการลงทุนระยะยาว เพราะผู้ถือหน่วยกองทุนอาร์เอ็มเอฟต้องถือยาวจนกว่าจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

อาจส่งผลต่อการเก็บภาษีของรัฐ

นางสาวดวงกมล พิศาล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) กล่าวว่า การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีดังกล่าว ถ้ามองในแง่ของผู้ลงทุน มีผลดีในแง่ผู้ลงทุนที่มีฐานรายได้สูง เพราะปัจจุบันผู้ลงทุนเหล่านี้ยังไม่มีช่องทางการลงทุนเพื่อประโยชย์ทางภาษี ขณะเดียวกันคนที่ลงทุนเดิมอยู่ก็ยังไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่ เนื่องจากต้องรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของภาครัฐ อาจจะส่งผลต่อการเก็บภาษีลดลงบ้าง

ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพทั้งระบบขยายตัวได้ดีขึ้น จากปัจจุบันที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้สูงมีทางเลือกการลงทุนที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น

สำหรับจำนวนเงินลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟทั้งระบบ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 อยู่ที่ 38,016.85 ล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนของปี 2551 ที่ผ่านมามีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 มีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งระบบอยู่ที่ 38,249.06 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 75 กองทุน

ด้านรายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หากมีการเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็น 5 แสนบาท จะมีคนที่สามารถลงทุนเพิ่มจาก 3 แสนได้ประมาณ 6,000 พันคน ซึ่งจำนวนดังกล่าว เป็นจำนวนผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็ม 3 แสนบาทแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น