xs
xsm
sm
md
lg

SCBAMดึงพลังงานทางเลือกตั้งFIF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ไทยพาณิชย์ เตรียมโดดแจมตลาดกองทุนเอฟไอเอฟพลังงานทางเลือก ชูจุดเด่นลงทุนอย่างครอบคลุมทั้งโดยตรงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หวังดันเข้าตลาดภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่กองทุน "เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์" รับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่ม เพราะเน้น ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานอยู่แล้ว

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น บริษัทผลิตกังหันลม และ โรงงานบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกกองทุนต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

สำหรับกองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนในพลังงานทางเลือกของบริษัทนั้น จะมีความแตกต่างกับกองทุนพลังงานทางเลือกอื่นๆ เนื่องมาจากกองทุนจะลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก เช่น โรงงานผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช้เน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกโดยตรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนได้รับความน่าสนใจ บริษัทเหล่านี้จะเป็นส่วนแรกที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

"ถ้าธุรกิจพลังงานทางเลือกบูม ก็จะเกิดการขยายตัว ซึ่งบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทผลิตกังหันลมไฟฟ้า ก็จะได้รับประโยชน์ก่อนใคร เพราะเป็นบริษัทต้นทาง และจะได้รับประโยชน์ก่อนหน้าบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกโดยตรงอีกด้วย"นายกำพล กล่าว

สำหรับการที่ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นนั้น นายกำพล กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM) ได้มีการให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงานอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ได้มีการออกกองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนในพลังงานทางเลือก เช่น กองทุนเปิดธนชาตนิวเอ็นเนอร์จีฟันด์ (T-NewEnergy) ของ บลจ.ธนชาต และยังมีอีกหลายบริษัทที่มีแผนที่จะออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก เช่น บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) , บลจ.แอสเซทพลัส เป็นต้น

ก่อนหน้านี้นายตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานทางเลือกนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโจได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยมีการประมาณการว่าในปี 2573 ทั่วโลกจะมีการใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นถึง 37% จากตัวเลขการใช้ในปี 2547 เนื่องมาจากได้รับหลายปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่นสภาวะโลกร้อน , ปัญหาพลังงานแพงและกำลังจะหมดไป และปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนที่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของโลกขณะนี้และจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้การพัฒนาในเทคโนโลยีการผลิตของพลังงานทางเลือกใหม่ๆ และการสนับสนุนพลังงานทางเลือกใหม่จากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ หรือ พลังงานสะอาด (clean energy) นี้ สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบราคาพลังงานแบบดั้งเดิมซึ่งความตระหนักเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลก หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ทุกประเทศทั่วโลกออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน และลดการใช้พลังงาน อาจจะทำให้กลุ่มพลังงานทางเลือกได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว หากทั่วโลกให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

ขณะที่นายยิ่งยง นิลเสนา รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย ระบุว่า หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการบริโภค ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการมองหาสิ่งที่แตกต่างกับการทดแทนในส่วนของการใช้น้ำมันขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสและทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ

ทั้งนี้พลังงานทดแทนกับการลงทุนในประเทศยังมีบริษัทที่เกี่ยวของอยู่น้อย และในปัจจุบันหากจะลงทุนในส่วนนี้ต้องดูในเรื่องของสินค้าก่อนว่ามีความน่าสนใจขนาดไหน ซึ่งจะต้องออกไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ และกองทุนเหล่านี้บางครั้งจะมีการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทีมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยหากจะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นก็จะต้องดูอย่างละเอียดว่าบริษัท หรือสินค้าเกษตรประเภทใดบ้างที่เกี่ยวข้องการการผลิตพลังงานทดแทน และการลงทุนในหมวดนี้ต้องเป็นการลงทุนในระยะยาวถึงจะเห็นผล
กำลังโหลดความคิดเห็น