xs
xsm
sm
md
lg

ฉางอานออโตฯ กดปุ่มเดินเครื่องโรงงานระยอง ผลิตอีวี 3 แบรนด์หลัก CHANGAN - DEEPAL - AVATR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงงานฉางอาน ออโตโมบิล ที่ จ.ระยอง พื้นที่ 245 ไร่ (ประมาณ 392,000 ตารางเมตร) ได้เริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิตรถ 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ CHANG-AN, DEEPAL และ AVATR และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจาก 100,000 คันต่อปี เป็น 200,000 คันภายในปี 2570 โดยในวันที่เริ่มการผลิตเมื่อวันที่ 16 พ.ค.นั้น รถ DEEPAL S05 รุ่นพวงมาลัยขวา ซึ่งเป็นรถคันที่ 28,590,000 ของฉางอาน ได้ออกจากสายการผลิตไปเป็นที่เรียบร้อย

โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอัจฉริยะ" โดยใช้เงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและอาเซียน โรงงานใช้แสงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบรีไซเคิลน้ำ เพื่อลดการใช้พลังงานต่อรถยนต์แต่ละคัน พร้อมระบบอัตโนมัติขั้นสูงและการจำลองแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริษัทฯตั้งเป้าที่จะพัฒนาโรงงานระยองให้เป็นต้นแบบสำหรับเครือข่ายการผลิตทั่วโลก


ฉางอานทำธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการ "In Thailand, For Thailand" (ในไทย เพื่อไทย) และเตรียมสร้างคลังอะไหล่ที่จ.ระยอง เพื่อเป็นศูนย์กลางอะไหล่สำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก ทั้งยังตั้งเป้าสร้างความพึงพอใจให้ได้ 98% และสามารถจัดส่งได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังจะมีการอัปเกรดแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยด้วยระบบควบคุมอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI, ระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ระบบตรวจสอบแบตเตอรี่ และระบบวินิจฉัยจากระยะไกล

บริษัทฯ คาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างงานทั้งต้นน้ำและปลายน้ำในไทยได้กว่า 30,000 ตำแหน่ง ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม โดยก่อนหน้าที่จะเปิดโรงงานนั้น ฉางอานได้จัดตั้งบริษัทย่อย 3 แห่งเมื่อเดือนส.ค. 2566 และประกาศให้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยก็ได้อนุมัติการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่เมื่อเดือนต.ค. 2566 ครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าล้วนและรถยนต์ไฟฟ้าแบบขยายระยะวิ่ง และในเดือนพ.ย. 2566 ฉางอานก็ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานที่ระยองอย่างเป็นทางการ

จากข้อมูลของ ASEAN Briefing ชี้ว่า ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยภาคยานยนต์มีส่วนต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทย 10-11% ขณะที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573


ก่อนหน้าพิธีเปิดโรงงานนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบกับ นายจู หัวหรง (Zhu Huarong) ประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโตโมบิล ซึ่งประธานกรรมการ ได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และยังได้เน้นย้ำว่า ในอนาคต ฉางอานจะยังคงยึดมั่นในจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ทั้งนี้ การเริ่มเดินสายการผลิตยังสอดคล้องกับวาระครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนในปีนี้พอดี นับเป็นการกระชับความร่วมมือด้านยานยนต์ระหว่างจีนและไทย นอกจากนี้ การเปิดโรงงานที่ระยองยังเป็นการเร่งยุทธศาสตร์ Vast Ocean Plan (มหาสมุทรอันกว้างใหญ่) ด้วยการส่งออกอุตสาหกรรมไปทั้งระบบ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น ปัจจุบัน ฉางอานมีการดำเนินงานใน 5 ตลาดสำคัญทั่วโลก และจะยกระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ให้เทียบเท่ากับตลาดในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในตลาดโลกจาก 30 ล้านคัน เป็น 50 ล้านคัน ฉางอานยังได้เปิดตัวแบรนด์ใน 22 ประเทศทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และเดินหน้าสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งในระดับโลกในประเทศต่าง ๆ เช่น คาซัคสถานและอียิปต์ ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น