ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก แบรนด์รถจากจีนอย่าง BYD และ Xiaomi กำลังขยับหมากสำคัญ ด้วยเป้าหมายขยายตลาดนอกประเทศจีนอย่างจริงจัง BYD เดินหน้าแผน 50:50 ระหว่างตลาดในประเทศกับต่างประเทศภายในปี 2030 ขณะที่ Xiaomi ประกาศจุดยืนผ่าน SU7 ว่ารถยนต์คืออนาคตใหม่ของแบรนด์ โดยทั้งสองค่ายเตรียมปักหมุดยุโรปเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า BYD และ Xiaomi คือ 2 แบรนด์รถยนต์ที่น่าจับตามองจากจีน ไม่ใช่เพราะผลผลิตที่เปิดตัวออกมาพร้อมกับได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวนโยบายที่ทางแบรนด์ตั้งเป้าเอาไว้ ด้วยการสร้างยอดขายไม่เฉพาะในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังหวังที่จะเป็นแบรนด์ระดับ Worldwide ในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย โดยเฉพาะ BYD ที่ค่อนข้างชัดเจนในการเปิดตัวออกสู่ตลาดประเทศต่างๆ พร้อมกับประกาศว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตัวเลขยอดขายของแบรนด์จะต้องมีสัดส่วนระหว่างในจีน และนอกจีนในอัตราส่วนที่เท่ากันให้ได้
ลั่นกลองรบพร้อมลุยตลาดต่างแดน
ถ้าติดตามข่าวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า BYD ทำงานอย่างหนักในการรุกออกสู่ตลาดนอกประเทศจีน ทั้งในรูปแบบของการตั้งโรงงาน และถ้าประเทศหรือภูมิภาคไหนยังไม่พร้อม พวกเขาก็เลือกใช้วิธีในการนำเข้ามาทำตลาด พร้อมกับเปิดโชว์รูม
BYD ถือเป็นแบรนด์รถยนต์แบบ NEV หรือ New Energy Vehicle ที่มีอัตราการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จริงอยู่ที่พวกเขาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1995 แต่การกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้เป็นเบอร์ 1 ในด้านยอดขาย โดยตัวเลขยอดขายราวๆ 4.27 ล้านคันในปี 2024 มากกว่า 90% เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นในประเทศจีน
พวกเขามีเป้าหมาย และจากการเปิดเผยออกมาคือ ภายในปี 2030 BYD มีความต้องการที่จะมีอัตราส่วนยอดขายนับจากปีนั้นเป็นต้นมาในแบบ 50:50% ระหว่างตลาดรถยนต์จีน และตลาดนอกประเทศจีน แน่นอนว่า พวกเขาและแบรนด์รถยนต์จีนยังจะต้องเจอกับกำแพงอันสูงลิ่วในเรื่องของการตั้งภาษีที่รัฐบาลของประธานาธิบดี Donald Trump ตั้งเอาไว้ ซึ่งด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่มีศักยภาพของตลาด ทำให้เป้าหมายของ BYD ในเรื่องนี้ต้องเจอกับปัญหาอย่างแน่นอน
แต่จากการเปิดเผยผ่านทาง Reuter มีการยืนยันว่า BYD มองเห็นปัญหาและจัดการหาทางออกระยะสั้นและยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว เพราะวาระในการครองตำแหน่งของ Trump ก็คือ เรื่องหนึ่งของทางออก เพราะเขาจะลงจากตำแหน่งสมัยแรกในปี 2029 และยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 หรือไม่ ทาง BYD เลยมองว่าตลาดที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงนี้คือ ยุโรป และละตินอเมริกา ที่ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้ากับจีน และเมื่อรวมกับ 2 ภูมิภาคนี้เข้าไป ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกับการขาดหายไปของตลาดสหรัฐอเมริกา
แหล่งข่าววงในของ Reuter ยืนยันถึงเรื่องนี้ และถือเป็นนโยบายหลักของ BYD ในการเดินหน้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของทศวรรษที่ 2020 โดยยุโรปจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการทำให้เป้าหมายนี้บรรลุ ด้วยการขยายการลงทุนไปยังประเทศทั้งในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU รวมถึงกลุ่มประเทศอดีตยุโรปตะวันออกเดิม และพวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่าผลผลิตของตัวเองในกลุ่มยานยนต์ที่ในตอนนี้ไม่ได้มีแค่รถยนต์พลังไฟฟ้า หรือBEV เท่านั้น แต่ยังมีไฮบริดแบบต่างๆ เข้ามาเสริม พร้อมกลยุทธ์ในการตั้งราคาที่เข้าถึงได้ง่าย จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคแถบนี้ได้ โดยเฉพาะในส่วนของยุโรปตอนกลางและฝั่งตะวันตก
BYD เชื่อว่าที่ผ่านมาพวกเขาประสบความสำเร็จประเทศต่างๆ เช่น ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือบางประเทศในยุโรปด้วยแนวคิดของการมีผลิตภัณฑ์ที่ใช่ ในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในตลาดจีน และในช่วงที่ผ่านมา BYD ได้นำออกมาทดลองใช้กับประเทศต่างๆ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ และเชื่อว่ารูปแบบและแนวทางนี้จะสามารถใช้งานได้ซ้ำๆ กับประเทศอื่นๆ แม้ว่าวัฒนธรรมในเรื่องการซื้อและใช้รถยนต์อาจจะมีความแตกต่างกันก็ตาม
นับจากปี 2022 เป็นต้นมา BYD ได้ลงทุนทั้งในเรื่องของฐานการผลิตในประเทศ และระบบการขนส่งผ่านเรือเดินสมุทร เพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่พร้อมในเรื่องการตั้งโรงงานผลิต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา BYD ประกาศเปิดโชว์รูมในประเทศต่างๆ เช่น เปรู บราซิล โครเอเชีย กัมพูชา สาธารณเชคและสโลวัค และล่าสุดคือ โรมาเนีย ซึ่งพวกเขาเปิดตัวแบรนด์พร้อมกับโชว์รูมมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2025
ยอดขายนอกจีนในเดือนเมษายน 2025 อยู่ที่ 79,086 คัน เพิ่มขึ้นเกือบ 92% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนถึงทิศทางการตอบรับที่ดีของตลาดโลกต่อผลิตภัณฑ์จากจีน
ถือเป็นงานที่ท้าทายและเชื่อว่า BYD เดินหน้าลุยเต็มที่ ในการรุกออกสู่ตลาดนอกประเทศจีน ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวในด้านยอดขายและความต้องการรถยนต์ของผู้บริโภคในประเทศ หลังจากที่บูมขึ้นมาแบบหลายเท่าตัวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
Xiaomi จากสมาร์ทโฟนสู่พวงมาลัย
เรารู้จักชื่อของ Xiaomi ในฐานะบริษัทผลิตสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เรื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมานาน ก่อนที่พวกเขาจะประกาศตัวเองเป็นแบรนด์รถยนต์ในชื่อ Xiaomi Automotive หรือ XA และผลผลิตแรกอย่าง SU7 ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากชาวจีนด้วยยอดจองแบบถล่มทลาย
แน่นอนว่า Xiaomi ต้องการรุกสู่ตลาดรถยนต์ และรถยนต์ถือเป็นผลผลิตหนึ่งที่อยู่ภายใต้แบรนด์ของพวกเขา ซึ่งจะไม่ได้มีแค่การทำตลาดในจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดนอกประเทศจีนด้วย พร้อมกับตั้งเป้าหมายในการเดินหน้าออกสู่ตลาดต่างประเทศภายในปี 2027 โดยที่มียุโรปเป็นจุดหมายปลายทาง และได้มีการนำรถยนต์รุ่นยอดนิยมอย่าง SU7 ไปจัดแสดงที่งาน MWC2025 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มาแล้ว
ในงานนี้ทาง William Lu หรือ Lu Weibing ประธานบริษัทได้กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของ XA ที่เริ่มมองหาตลาดต่างประเทศ และรถยนต์ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถผลิตได้ แต่ยังเป็นผลผลิตในระยะยาวของทางแบรนด์อีกด้วย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ตัวเขาเองยังเดินทางไปประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เพื่อหยั่งเสียงและมองหาโอกาสในการที่บริษัทรถยนต์จีนจะสามารถเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในตลาดเหล่านี้ รวมถึงการได้พูดคุยกับบรรดานักลงทุนในประเทศต่างๆ แถบยุโรป ซึ่งแม้ว่าจะมีเสียงตอบกลับในเชิงว่าเรามาช้าไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า โอกาสของเรากับการแนะนำตัวเองในภูมิภาคนี้จะหมดลง
‘ผมได้มีโอกาสคุยกับนักลงทุนต่างๆ ในยุโรป หลายคนมีความเห็นว่า เรามาช้าไป และช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของรถยนต์จากจีนได้ผ่านไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสของเราในการรุกออกสู่ตลาดนอกประเทศจะปิดตัวลง’ Lu กล่าว
แน่นอนว่าเป็นจริงอย่างที่นักลงทุนหลายคนให้ความเห็น เพราะ Xiaomi ประกาศว่าจะกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ตั้งแต่ปลายปี 2021 แต่กว่ารถยนต์คันแรกของพวกเขาจะเปิดตัวออกสู่ตลาดต้องรอจนถึงปี 2023 ก่อนที่จะเริ่มรับจองในปี 2024 ในขณะที่หลายแบรนด์จากจีนปูพรมและออกสตาร์ทไปก่อนหน้านี้หลายช่วงตัวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปทรงที่ดูดี และราคาที่จับต้องได้ คือ 215,900 หยวน ทำให้ SU7 ได้รับการตอบรับที่ดี โดยในปีที่แล้ว SU7 กวาดยอดจองไปได้ 248,000 คัน แต่ทว่าด้วยการที่ทาง BAIC เข้ามารับหน้าที่ในการผลิตให้ และ Xiaomi ไม่ได้มีโรงงานผลิตของตัวเอง ทำให้การส่งมอบเริ่มมีปัญหา และสามารถส่งรถยนต์ได้เพียง 150,000 คันเท่านั้น ซี่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะเมื่อต้องรองรับกับการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งอาจจะไม่ทันกับความต้องการ
เพื่อยืนยันถึงการเดินหน้ารุกออกสู่ตลาดนอกจีนของ Xiaomi นั้น สิ่งหนึ่งคือ การจับมือเป็นพันธมิตรกับสนามแข่ง Nurburgring ในเยอรมนี พร้อมกับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยในการทำให้ชื่อเป็นที่รู้จัก เช่น การใช้ชื่อแบรนด์ในการตั้งชื่อโค้งของสนามแข่ง รวมถึงการติดตั้งป้ายโฆษณา อีกทั้งยังใช้รถ SU7 รุ่นโปรดักชั่นในการเป็นรถสำหรับทดลองขับในสนามฝั่งเหนือ หรือ Nordschleife
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Xiaomi เพื่อให้แผนการรุกออกสู่ตลาดโลกของพวกเขาสัมฤทธิ์ผล
อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ และแบรนด์จากจีนก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญ โดยมี BYD และ Xiaomi เป็นหัวหอกในการปูทางสู่เวทีสากล