xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายรถอเมริการ้องรัฐ ผ่อนภาษีก่อนอุตสาหกรรมทรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบายด้านภาษีนำเข้าที่แข็งกร้าว และท่าทีที่เอาจริงเอาจังของ Donald Trump ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสรัฐอเมริกา น่าจะกลายเป็นภาพในอดีตแล้ว เมื่อมีการยืนยันว่าทางรัฐบาลกำลังเร่งกระบวนการหาทางออกให้กับเรื่องนี้หลังจากที่บริษัทรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งยื่นเรื่องเพื่อขอให้ทางภาครัฐฯ ตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ในการผ่อนปรน เพราะไม่เช่นนั้น ราคาของรถยนต์ และรวมถึงสินค้านำเข้าอื่นๆ เช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศแต่ต้องนำเข้าสิ้นส่วนจากแหล่งผลิตนอกสหรัฐอเมริกาจะทำให้มีราคาแพงขึ้น และภาระทั้งหมดจะไปตกอยู่กับผู้บริโภค

การประกาศของ Trump เกี่ยวกับภาษีนั้นมีอยู่ 2 ส่วนที่สร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ภาษีนำเข้า 25% ที่ถูกบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ในกรณีที่เป็นรถยนต์ซึ่งถูกส่งมาจากนอกสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศที่มีข้อกำหนดร่วมในเชิง Free Trade Area กับสหรัฐอเมริกา เช่น แคนาดา และเม็กซิโก ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ส่วนอีกเรื่องคือ การเพิ่มภาษีนำเข้าอีก 25% สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

มีการประเมินว่ากำแพงภาษีนำเข้า 25% ของ Trump สำหรับรถยนต์ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนที่แล้วจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกา ทั้งยอดขายรถยนต์ที่จะต้องลดลงอย่างมากอันเป็นผลมาจากราคารถยนต์ที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลต่อเนื่องในการสร้างภาระทางด้านต้นทุนจำนวนมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ


แต่นั่นเป็นแค่ระลอกแรก เพราะในวันที่ 3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะมีระลอกที่ 2 ตามมา เพราะจะมีการบังคับใช้มาตรการที่ 2 คือ การเก็บภาษีนำเข้าสำหรับชิ้นส่วนจำนวน 25% ซึ่งระลอกนี้แหละที่ทำให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาทั้งแบรนด์เจ้าถิ่นและแบรนด์ต่างชาติที่มีโรงงานในประเทศนี้จำเป็นต้องออกมาดำเนินการ และเร่งเจรจา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก

Mark Delaney นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ประเมินว่า “ภาษีตามที่เสนอจะทำให้ต้นทุนทั้งการนำเข้าและการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างน้อยในระดับพันดอลลาร์ และคงยากมากที่จะผลักภาระทั้งหมดไปยังผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังซื้อกำลังอ่อนแรง” Goldman Sachs คาดว่าราคารถยนต์ใหม่จะพุ่งขึ้น 2,000-4,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า ส่วนรถยนต์นำเข้าที่โดนกรอบภาษีอีกชุดนั้น คาดว่าน่าจะขยับขึ้นอีกราวๆ 6,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้น จากนโยบาย 2 ชุดนี้ยังมีต้นทุนแฝงในเชิงภาษีที่ตามมาอีกด้วยนั่นคือ ภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่ได้รับผลกระทบซึ่งคาดว่าในส่วนนี้จะทำให้รถยนต์ผลิตในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นอีก 300-500 เหรียญสหรัฐฯ

แม้ว่า Howard Lutnick รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา จะกล่าวเปรยๆ ถึงชัยชนะของนโยบายที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ และแรงงานชาวอเมริกันทุกคน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสร้างผลกระทบที่รุนแรงกว่าให้กับตลาดรถยนต์ที่มีรากฐานและระบบนิเวศน์ของการผลิตซึ่งถูกสร้างขึ้นมามากกว่า 50 ปีแล้ว เพราะส่วนประกอบของรถยนต์ 1 คันมีมากกว่าพันชิ้น และบางอย่างถูกนำเข้ามาจากแหล่งผลิตอื่น ซึ่งมีราคาถูกกว่าการผลิตในประเทศ



บริษัทรถยนต์ร่อนจดหมายขอพิจารณาเรื่องภาษี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Trump ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ 25% พร้อมเตือนว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลง อันเนื่องมาจากการปรับขึ้นราคา โดยก่อนหน้านี้ Trump เคยกล่าวว่าเขาวางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ 25% ไม่เกินวันที่ 3 พฤษภาคมนี้

“ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ทั่วโลกและก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนที่จะส่งผลให้ราคารถยนต์ของผู้บริโภคสูงขึ้น ยอดขายที่ตัวแทนจำหน่ายลดลง และจะทำให้การซ่อมบำรุงและซ่อมแซมรถยนต์มีราคาแพงขึ้นและคาดเดาได้ยากขึ้น” กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวระบุในจดหมาย

จดหมายจากกลุ่มที่เป็นตัวแทนของ GM, Toyota Motor, Volkswagen, Hyundai และกลุ่มอื่นๆ ถูกส่งถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ Jamieson Greer, รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Scott Bessent และ Lutnick จากกระทรวงพาณิชย์ จดหมายฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า “ซัพพลายเออร์รถยนต์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินทุนเพียงพอสำหรับการหยุดชะงักอันเนื่องมาจากภาษีศุลกากรที่กะทันหัน หลายๆ รายอยู่ในภาวะที่เดือดร้อนอยู่แล้วและจะต้องเผชิญกับการหยุดการผลิต การเลิกจ้าง และการล้มละลาย เพียงแค่ซัพพลายเออร์รายเดียวที่ล้มลงก็สามารถนำไปสู่การปิดสายการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งได้เลยทีเดียว”


รัฐบาลรับข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วม

แหล่งข่าวภายในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเผยว่าในตอนนี้ทางรัฐบาลกำลังมองทางออกถึงเรื่องนี้ ซึ่งในขั้นแรกที่กำลังพิจารณาคือ ในปีแรกจะมีการมอบสิทธิ์ปลอดภาษีมูลค่าจำนวน 3.75% จากราคาป้ายของรถยนต์คันนั้น เพื่อใช้ในการหักภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ และขยับลดลงมา 2.5% สำหรับปีที่ 2 และจะไม่มีการต่อข้อเสนอนี้ออกไปในปีที่ 3 โดยสิทธิประโยชน์นี้จะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 3 เมษายน เพื่อผลักดันให้บริษัทต่างๆ ย้ายการผลิตชิ้นส่วนมายังสหรัฐฯ

นอกจากนั้น รถยนต์และชิ้นส่วนที่ถูกเก็บภาษีภายใต้กรอบนี้ จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรอื่นๆ ตามนโยบายของ Trump อีกต่อไป รวมถึงภาษี 25% ของสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ภาษี 25% ของเหล็กและอลูมิเนียม

แน่นอนว่าถ้าแนวทางเป็นเช่นนี้ รถยนต์นำเข้าทั้งคันจะเสียบเปรียบทันที เพราะจะโดนภาษีอย่างเต็มๆ แต่สำหรับกรณีรถยนต์ที่ประกอบจากโรงงานในสหรัฐอเมริกา แต่มีชิ้นส่วนนำเข้า การนำแนวทางนี้มาใช้จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการเก็บภาษีอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนเดิมระบุว่าการผ่อนปรนภาษีจะไม่ใช้กับชิ้นส่วนของจีน ซึ่งจะยังคงอยู่ภายใต้ภาษีล่าสุดของ Trump

แม้ว่ารายงานเกี่ยวกับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกจะไม่เปิดเผยออกมาในตอนนี้ แต่เชื่อว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น แต่ก็ลดลงราวๆ 2.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรสมาสสุดท้ายของปี 2024 แม้ว่าในช่วงก่อนที่นโยบายเก็บภาษีนำเข้าจะมีการบังคับใช้นั้น ทางผู้ผลิตจะมีการเร่งนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือวัตถุดิบเข้ามากักตุนอย่างมากก็ตาม


Big Three เชื่อการเจรจาเป็นเรื่องที่ดี

แม้ว่าในช่วงแรกของการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าและเริ่มการบังคับใช้ จะมีเสียงสะท้อนในเชิงลบออกมา แต่หลังจากที่แบรนด์รถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ทั้งเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM Ford และ Chrysler ได้มีโอกาสพูดคุยและประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าแต่ละฝ่ายจะได้ผลตอบรับจากการประชุมที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปรับภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์แบบใหม่ที่แหล่งข่าวภายในทำเนียบข่าวระบุออกมา

“เราเชื่อว่าความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีกำลังช่วยปรับสมดุลให้กับบริษัทอย่าง GM และช่วยให้เราสามารถลงทุนในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น” Mary Barra ซึ่งเป็น CEO ของ GM กล่าว ขณะที่ Jim Farley CEO ของ Ford กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ “จะช่วยบรรเทาผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อผู้ผลิตรถยนต์ ซัพพลายเออร์ และผู้บริโภค”

ขณะที่ John Elkann CEO ของ Stellantis บริษัทแม่ของ Chrysler กล่าวว่า ‘ทางบริษัทกำลังมองหาทางที่ดีที่สุดในการร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานร่วมกัน และแน่นอนว่าเป้าหมายของบริษัทคือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกากลับมาแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันต่อไปได้’


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ทว่าบรรดาแบรนด์ก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อยถึงการนำทางออกนี้มาใช้ และในการปฏิบัติงานของแบรนด์ก็ยังมีความไม่แน่นอนแฝงอยู่ เช่น GM ยกเลิกการประกาศการคาดการณ์รายปีของตัวเอง และอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาพวกเขาจะมีผลประกอบการที่ดี และเลือกที่จะเลื่อนการประชุมทางโทรศัพท์กับนักวิเคราะห์ออกไปเป็นช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากทราบรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงภาษีอย่างเป็นทางการแล้ว

“ผู้ผลิตรถยนต์ยินดีกับการได้รับการยกเว้น แต่ความผันผวนยังคงมีอยู่ เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ดังที่เราได้เห็น ภาษีสามารถเสนอและแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งยังไม่เปลี่ยนคำถามด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจในวงกว้างที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญ” Lenny LaRocca หัวหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์ของ KPMG ในสหรัฐอเมริกา กล่าว

ดูเหมือนว่างานนี้ยังต้องติดตามกันอีกสักระยะ เพราะแม้ว่าทางรัฐบาล Trump จะมีท่าทีตอบรับต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ทางออกและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งถึงตรงนี้ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในด้านบวกและลบ


กำลังโหลดความคิดเห็น