ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศหลายต่อหลายแห่ง ไม่เฉพาะแบรนด์ในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแบรนด์รถยนต์จากทั้งเอเชียและยุโรปอีกด้วย ดังนั้น การขึ้นกำแพงภาษีของรัฐบาล Donald Trump 2.0 กับบรรดาประเทศต่างๆ ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามว่า สุดท้ายแล้ว แบรนด์รถยนต์อเมริกันอย่างกลุ่มบิ๊กทรี คือ GM หรือ General Motors, Ford และ Chrysler รวมถึง Tesla ของ Elon Musk ได้รับผลกระทบในเชิงบวกหรือลบกันแน่ ?
แน่นอนว่า การเก็บภาษีนำเข้าที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ซึ่งจะเข้ามาขายและชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อประกอบในสหรัฐอเมริกานั้น ถูกกำแพงภาษีในระดับ 25% กั้นเอาไว้ ด้วยเป้าประสงค์ในการปรับสภาพและฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกัน พร้อมกับบีบบังคับกลายๆ ให้ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐอเมริกาย้ายฐานการผลิตกลับบ้านตัวเอง
แต่สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาของรถยนต์ในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างแน่นอน และมีโอกาสทำให้ยอดขายรถยนต์ในปี 2025 ลดลงอย่างแน่นอน
ในปี 2024 ตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้าไปได้ค่อนข้างดี โดยมีตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2023 ราวๆ 3-4% แต่ด้วยการตั้งกำแพงภาษี 25% นั้น จะมีผลต่อยอดขายอย่างแน่นอน เพราะอาจจะทำให้ราคารถยนต์ในสหรัฐอเมริการสูงขึ้นราวๆ 5,000-10,000 เหรียญสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา มีทั้งการนำเข้ามาจากโรงงานในแคนาดา และเม็กซิโกภายใต้เงื่อนไข Free Trade Area รวมถึงแม้ว่าบางรุ่นจะมีไลน์ผลิตในสหรัฐอเมริกา แต่ก็พึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนมาจากโรงงานนอกประเทศ โดยมีแค่ไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่อาจจะรอดพ้นจากปัญหาลักษณะนี้
Dan Ives นักวิเคราะห์ของ Wedbush Securities กล่าวว่า ‘ห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์มีความซับซ้อนอย่างมากและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยานยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนของแบรนด์ในสหรัฐฯ ภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเบาของ Trump ที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน ตามคำสั่งฝ่ายบริหาร และภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ 25% ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ "ไม่เกินวันที่ 3 พฤษภาคม"’
อุตสาหกรรมอเมริกัน เจองานหนัก
สำหรับในกรณีของ Tesla นั้น Musk ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่ปรึกษาในคณะรัฐบาลของ Trump แต่ธุรกิจของเขาก็ไม่รอดพ้นจากนโยบายนี้ เพราะถึงแม้ว่ารถยนต์ของ Tesla ส่วนใหญ่จะผลิตจากโรงงานในสหรัฐอเมริกา รวมถึงชิ้นส่วน ก็ผลิตจากซัพพลายเออร์ในประเทศ ยกเว้นชุดแบตเตอรี่ที่ยังต้องพึ่งพาผู้ผลิตแบตเตอรี่จากจีน ซึ่งตรงจุดนี้ จะทำให้มีผลต่อต้นทุนในการผลิตอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่น่ามากเท่ากับแบรนด์อื่นๆ
แต่สำหรับ Big Three ของอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันดูจะไม่น่ารอดจากเรื่องนี้สักเท่าไร โดยตามข้อมูลของ Cox Automotive ระบุว่า รถยนต์ของ Big Three มีแค่ราวๆ 45% เท่านั้นที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐอเมริกา อีก 55% มาจากโรงงานนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่ง GM มีการลงทุนใน 2 ประเทศนี้อย่างมากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับกับการผลิตรถยนต์เพื่อกาพาณิชย์
ส่วน Chrysler ภายใต้การทำงานในกลุ่ม Stellantis ซึ่งมีแบรนด์อย่าง Jeep, Chrysler, Dodge และ Ram น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะรถยนต์ที่ขายในสหรัฐอเมริกา 75% มาจากไลน์ผลิตนอกสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังใช้ชิ้นส่วนร่วมกับบางแบรนด์ที่อยู่ในเครือ เช่น Peugeot Fiat รวมถึง Vauxhall/Opel
นอกจากนั้น รถยนต์บางรุ่นที่ขายในสหรัฐอเมริกา ยังมีไลน์ผลิตอยู่ในเม็กซิโก และแคนาดา เช่น Ram Heavy Duty, Dodge Charger และ Chrysler Pacifica ซึ่งมีการประเมินว่ารถบรรทุกของ Ram จากเดิมราคาอาจจะอยู่ที่ 80,000 เหรียญสหรัฐฯ ในสภาวะปกติ แต่อาจจะเพิ่มเป็น 100,000 เหรียญสหรัฐฯ หลังกำแพงภาษีนี้เข้าไป
Ford น่าจะรอด แต่กลับโดนหัวใจสำคัญในการสร้างยอดขาย
ตอนแรก ดูเหมือนว่า Ford จะเป็นแบรนด์เดียวที่สถานการณ์ดีกว่าเพื่อนร่วมชาติ โดย Erin Keating นักวิเคราะห์ของ Cox Automotive กล่าวว่ารถยนต์ 80% ของบริษัทที่ขายในสหรัฐอเมริกาได้รับการผลิตในบ้านตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษี 25% สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนนำเข้าที่ใช้ในรถยนต์ของ Ford ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาอาจถูกเรียกเก็บภาษี 25% ซึ่งก็มีไม่กี่รุ่น เช่น Ford Maverick และ Bronco ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเม็กซิโก
เช่นเดียวกับ F-150 ทั้งรุ่นปกติ และรุ่นพลังไฟฟ้า ที่มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเพียง 32% และ 24% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือมาจากซัพพลายเออร์ในแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลต่อราคาจำหน่าย ก่อนที่จะต่อเนื่องไปยังยอดขายซึ่งมีความเป็นไปได้ว่างบัลลังก์กระบะขายดีในสหรัฐอเมริกาของ F-150 อาจจะสั่นคลอนได้
จริงอยู่ที่ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตส่วนประกอบ เช่น พวงมาลัยหรือถุงลมนิรภัย ดังนั้น จึงไม่สามารถคำนวณได้ว่าภาษีนำเข้า 25% ตามทฤษฎีจะทำให้ต้นทุนของ F-150 เพิ่มขึ้นเท่าใด แต่ Cars.com รายงานว่าเครื่องยนต์ 3.5 ลิตรของ F-150 ซึ่งรวมถึง Powerboost hybrid และ Raptor ผลิตในเม็กซิโก อันนี้โดนเต็มๆ แน่นอน และน่าจะทำให้ราคาของปิกอัพรุ่นนี้ขยับขึ้นราวๆ 10% โดยประมาณจากราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นี่คือความกังวลใจสำหรับ Ford เพราะปิกอัพ F-150 ถือเป็นรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุด และขายดีอยู่เป็นประจำ ดังนั้น เมื่อราคาเปลี่ยนเพราะนโยบายนี้ ยังไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายมากน้อยแค่ไหน
ทุกแบรนด์โดนกันถ้วนหน้า
รถยนต์ 1 คันมีส่วนประกอบมากมาย และบางชิ้นส่วนถูกนำเข้ามาจากประเทศต้นทางของรถยนต์แบรนด์นั้นๆ ซึ่ง Toyota และ Honda นำเข้าชิ้นส่วนบางอย่างจากญี่ปุ่นเข้ามาประกอบที่โรงงานของตัวเองในสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจากทั้งญี่ปุ่น และประเทศในแถบอเมริกาเหนือเช่น แคนาดาและเม็กซิโกเข้ามาจำหน่ายด้วย ซึ่งตรงนี้ Hyundai และ Kia ก็เช่นเดียวกัน
ในกลุ่มเยอรมนี ทั้ง BMW, Volkswagen และ Audi ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะรถยนต์มีทั้งนำเข้าจากเยอรมนี และในฐานการผลิตที่เม็กซิโก ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ลงทุนเอาไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังจะถูกนำเข้ามาจากเยอรมนี และ Mercedes-Benz ก็มีกระบวนการทำงานแบบเดียวกัน โดยส่งเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังจากเยอรมนีไปยังโรงงานประกอบในรัฐแอละแบมา
คันไหนรอดภาษี แต่ราคาก็อาจจะขยับด้วย
แม้แต่รถยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีและประกอบในสหรัฐฯ ก็อาจต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์พยายามกระจายต้นทุนใหม่ให้ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตน ในขณะที่ Cox Automotive คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 15-20% สำหรับรถที่อยู่ในเป้าหมายของภาษี แต่รถที่ได้รับการยกเว้นภาษีอาจยังเพิ่มขึ้นประมาณ 5% อยู่ดี
เช่น Hyundai Venue ซึ่งเป็นรถยนต์ SUV แบบครอสโอเวอร์ขนาดเล็กที่มีราคาขายเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 24,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายใต้ภาษีรถยนต์ของ Trump ราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 28,500 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
“รถยนต์ SUV และรถครอสโอเวอร์ขนาดเล็กที่ราคาต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐฯ ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นเกือบทั้งหมดเป็นรถที่ผลิตในต่างประเทศ ยกเว้นหนึ่งหรือสองคัน” Cox Automotive กล่าว “ดังนั้นรถเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องเสียภาษีนำเข้า 25% และกลายเป็นรถยนต์ราคาแพงไปโดยปริยาย”
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติอิตาลีอย่าง Ferrari ก็กล่าวว่าพวกเขาจะขึ้นราคารถยนต์บางรุ่น 10% หลังจากวันที่ 1 เมษายน โดยอ้างถึงภาษีนำเข้าของ Trump รถยนต์ที่จะถูกปรับขึ้น คือ 296, SF90 และ Roma
"ผมไม่คิดว่าจะมีแบรนด์ใดได้รับการยกเว้น เพราะไม่มีรถยนต์รุ่นไหนใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาแบบ 100%" Wheaton กล่าว “พวกเขาทั้งหมดนำเข้าชิ้นส่วนมาจากแคนาดา เม็กซิโก หรือที่อื่นๆ และแม้แต่ Tesla ซึ่งเป็นบริษัทที่อเมริกาที่สุด ก็ยังมีชิ้นส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐอเมริกาในรถยนต์ของพวกเขาด้วยเช่นกัน” Art Wheaton ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกากล่าวให้ความเห็น
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นโยบายการปรับตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ของ Trump ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบรอบด้าน และด้วยเป้าหมายในการดึงบริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์ให้กลับมาตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกา แต่ดูเหมือนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม และต้องรอดูว่าสุดท้ายคนที่เจ็บปวดจะเป็นผู้ผลิตในประเทศ หรือแบรนด์จากต่างแดนกันแน่