xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีรถทรัมป์เล่นงานญี่ปุ่น-โซลหนักหน่วง สะเทือนเสาหลักศก.-ความภูมิใจของชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มาตรการภาษีศุลกากรรถยนต์ของทรัมป์ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่โจมตีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นทั้งเสาหลักทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจของชาติ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกาเองเตือนมาตรการนี้บ่อนทำลายความสามารถแข่งขันของบริษัทรถอเมริกันในตลาดโลก แทนที่จะช่วยเสริมสร้างการผลิตและส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่วอชิงตันมุ่งหวัง

มูลค่าหุ้นของบริษัทอย่างโตโยต้าและฮอนด้าของญี่ปุ่น รวมทั้งฮุนได มอเตอร์ และเกียของเกาหลีใต้ หายไปทันตา 16,500 ล้านดอลลาร์ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา ประกาศเมื่อวันพฤหัสฯ (27 มี.ค.) เรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มจากรถยนต์และรถบรรทุกเล็กที่นำเข้าสู่อเมริกา 25% นับจากวันที่ 3 เมษายน

บนถนนในโตเกียวและโซล รวมทั้งควังจู “เมืองยานยนต์” ของเกาหลีใต้ ผู้คนต่างกังวลว่า มาตรการภาษีของทรัมป์อาจส่งผลกระทบกว้างขวาง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีบทบาทสำคัญในความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ช่วงหลังสงคราม

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ช่วยให้เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศสเปลี่ยนผ่านหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของการผลิตรถยนต์ยิ่งลึกซึ้งกว่านั้นสำหรับเอเชียที่ผู้ผลิตรถสร้างนิวเคลียสของเครือข่ายกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งผลเกือบทุกแง่มุมในชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

สำหรับญี่ปุ่นที่อุตสาหกรรมนี้คิดเป็นองค์ประกอบ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้น ผู้ผลิตรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโตโยต้า เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศผ่านการเจรจาประจำปีกับสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหาร

จากข้อมูลของบริษัทวิจัย เทโกกุ ดาต้าแบงก์ ห่วงโซ่อุปทานด้านยานยนต์ในญี่ปุ่นจนถึงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วครอบคลุมบริษัทราว 60,000 แห่ง ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นชี้ว่า อุตสาหกรรมนี้รองรับการจ้างงานกว่า 5 ล้านตำแหน่ง หรือ 8% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นนายจ้างรายใหญ่สุดในเกาหลีใต้ รถและชิ้นส่วนยานยนต์คิดเป็นองค์ประกอบ 14% ของยอดส่งออกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งมีจุดหมายปลายทางที่อเมริกา


ฮิโรชิ โคจิมะ นักธุรกิจวัย 56 ปีจากบริษัทวัสดุแห่งหนึ่ง บอกว่า อุตสาหกรรมรถเป็นสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อพูดถึงการผลิต และเขากังวลว่า มาตรการภาษีของอเมริกาจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการผลิตของญี่ปุ่น

ที่ควังจู ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานที่ส่งออกสปอร์ตเทจ โซล และเซลโทสของเกียไปยังอเมริกา พนักงานคนหนึ่งของซัพพลายเออร์ของเกีย บอกว่า กังวลกับปริมาณการผลิตและงาน และเสริมว่า โรงงานของเขามีแผนให้พนักงานทำงานกะวันเสาร์ในเดือนเมษายน แต่ดีมานด์ดูเหมือนไม่แน่นอน

เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ของอเมริกามีโรงงานหลายแห่งในเกาหลีใต้ที่ส่งออกรถที่ผลิตกว่า 80% ซึ่งรวมถึงเชฟโรเล็ต แทร็กซ์ และเทรลเบลสเซอร์ไปยังอเมริกา โรงงานเหล่านี้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักกว่าโรงงานของบริษัทรถท้องถิ่นที่ผลิตรถขายในประเทศมากกว่า

พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคนหนึ่งบอกว่า เครียดมาก แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารแจ้งกับสหภาพแรงงานว่า เป้าหมายการผลิตปี 2025 จะพอๆ กับปีที่ผ่านมา และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม

เขายังกังวลที่ตอนนี้เกาหลีใต้ไม่มีประธานาธิบดีที่สามารถจัดการปัญหาจากมาตรการภาษีศุลกากรได้ ซึ่งหมายถึงวิกฤตการเมืองที่เริ่มต้นจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเดือนธันวาคมและส่งผลให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้



อัน ด๊อก-กึน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ประชุมกับผู้บริหารจากบริษัทรถและซัปพลายเออร์เมื่อวันพฤหัสฯ และแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างไรก็ดี เขารับปากว่า จะออกมาตรการลดผลกระทบในเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงการกระตุ้นดีมานด์และการลงทุนภายในประเทศ

ที่โตเกียว นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ แถลงว่า จะพิจารณาทางเลือกทั้งหมด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญสำหรับอเมริกา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐบาลพยายามย้ำเตือนกับวอชิงตัน

ทั้งนี้ ปี 2023 ญี่ปุ่นส่งออกรถ 4.4 ล้านคันที่รวมถึงรถบรรทุกและรถบัส โดย 1 ใน 3 ส่งออกไปยังอเมริกา

มาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อเม็กซิโก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรถส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ช่วงหลายปีมานี้ต่างเข้าไปตั้งฐานการผลิตรถต้นทุนต่ำในประเทศนี้

เม็กซิโกเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ไปยังอเมริกา สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโกเผยว่า ปี 2023 เม็กซิโกส่งออกรถไปอเมริกา 2.5 ล้านคัน โดย 10% ในจำนวนนี้เป็นรถของนิสสัน มากที่สุดในหมู่บริษัทรถเอเชียด้วยกัน แต่น้อยกว่าบิ๊กทรีแห่งดีทรอยต์ ได้แก่ จีเอ็ม สเตลแลนทิส และฟอร์ด


เอสึโกะ ฟูกะดะ บริกรวัย 57 ปี บอกว่า ภาษีศุลกากรตอกย้ำไดนามิกที่มีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกา และว่า โตเกียวคงไม่กล้าโวยวายมากเพราะยังต้องพึ่งพิงวอชิงตันด้านการทหาร

อุตสาหกรรมรถมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนขณะที่อิทธิพลของญี่ปุ่นในด้านอื่นๆ เช่น คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครชิปเสื่อมมาหลายปี นอกจากนี้บริษัทรถยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับบัณฑิตจบใหม่

มายู โมริกาวะ นักศึกษาปริญญาโทวัย 24 ปีที่กำลังหางานทำ บอกว่า ภาษีศุลกากรทำให้เธอกังวลกับอนาคตของตัวเอง รวมถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มทำงานในบริษัทรถ

ที่เกาหลีใต้ ฮยอน ซัง-จิน บอกว่า ภาษีศุลกากรอาจคุกคามคุณภาพชีวิตผู้คนมากมายและอาจมีการลดการจ้างงานครั้งใหญ่ โดยอ้างอิงฮุนไดที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศ

ไม่เฉพาะต่างชาติเท่านั้นที่หวาดหวั่นกับภาษีศุลกากรของทรัมป์ แม้แต่บิ๊กทรีแห่งดีทรอยต์และผู้เชี่ยวชาญในอเมริกายังตกใจที่เป้าหมายของมาตรการภาษีไม่ได้อยู่ที่รถนำเข้าเท่านั้น แต่รวมถึงชิ้นส่วนรถด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้พึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่บางครั้งการผลิตรถแต่ละคันอาจต้องใช้ชิ้นส่วนจากหลายประเทศ

อาร์เธอร์ ลาฟเฟอร์ นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐฯ จากทรัมป์ในปี 2019 จากการสร้างทฤษฎีเศรษฐกิจแบบไหลรินด้านอุปทาน วิเคราะห์ว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะทำให้ราคารถในอเมริกาแพงขึ้นคันละ 4,711 ดอลลาร์ และไม่ใช่แค่ทำให้ส่วนต่างกำไรหดเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายความสามารถแข่งขันของบริษัทรถอเมริกันในตลาดโลก แทนที่จะช่วยเสริมสร้างการผลิตและส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่คณะบริหารของทรัมป์มุ่งหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น