xs
xsm
sm
md
lg

คลังชงภาษีรถ PHEV-ภาษีแบตฯ ใช้ บสย.ค้ำประกันรถกระบะใหม่ คาดเริ่มสงกรานต์ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง สั่ง บสย.เข้าค้ำประกันรถยนต์กระบะมือหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาประชาชนถูกปฏิเสธสินเชื่อ พร้อมปรับเกณฑ์ภาษีรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน (PHEV) เข้าที่ประชุม ครม.เดือน เม.ย.นี้ และเขียนกฎหมายปรับปรุงภาษีแบตเตอรี่เสนอรัฐบาลไตรมาส 2/2568.

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ตลาดยานยนต์ที่เกิดปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ จากดูตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวพบว่า กำลังซื้อไม่ได้แย่ สิ่งที่แย่คือการปล่อยสินเชื่อ คนไทยถูกปฏิเสธการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าดำเนินการโดยวันนี้ โดยเน้นค้ำประกันรถยนต์กระบะใหม่มือหนึ่งเพื่อการพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเรื่องการดำรงชีพของประชาชน


“จะเข้าค้ำประกันด้านผู้ปล่อยสินเชื่อรถกระบะใหม่เท่านั้น ทำให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกที่เป็นรีสซิ่งไม่ต้องรับภาระตามเงื่อนไข วงเงินที่ใช้ค้ำมาจากเงินทุนของ บสย. ทำให้เรื่องไม่ต้องผ่านที่ประชุม ครม.สามารถทำได้ทันที โดยไม่ใช้วงเงินจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.SMEs ยั่งยืน (PGS ระยะที่ 11) ซึ่งกำลังดูข้อกฎหมายขั้นสุดท้าย

คาดเริ่มได้ก่อนวันสงกรานต์ปี 2568 นี้


ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมตามมาตรการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้า Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV)

รถยนต์ PHEV เป็นรถยนต์ที่ไทยสนับสนุน เนื่องจากเป็นลูกผสมระหว่างรถสันดาปกับรถยนต์ EV ซึ่งเมื่อพิจารณากระบวนการผลิตพบว่ามีการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จำนวนมาก ซึ่งมากกว่าสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ทำให้เกิดซัพพลายเชนสูงมากจากผู้ผลิตต่างๆ เพื่อนำมาประกอบ ทำให้มีสายการผลิตที่กว้างและสนับสนุนการจ้างงานของคนไทย จึงเห็นควรปรัโครงสร้างภาษี PHEV โดยมี 3 ประเด็นพิจารณา (1) แยกรถยนต์ PHEV ออกจาก HEV(2) ปรับเกณฑ์การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เปลี่ยนเป็นมองที่ระยะวิ่งต่อการชาร์ต 1 ครั้ง เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ผลิตสนใจเพียงแต่ผลิตรถยนต์ที่ผลิตการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนน้อย แล้วมองข้ามการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และ (3) ตัดเงื่อนไขเรื่องถังน้ำมันออกเพื่อให้การติดตั้งถังน้ำมันเกิดความเหมาะสม ไม่เล็กจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนการตั้งราคาขายต้องขึ้นอยู่กับระยะการวิ่งต่อการชาร์ต 1 ครั้งเป็นหลัก หากสามารถผลิตรถที่วิ่งได้ระยะไกลขึ้นจะถูกเก็บภาษีสรรพสามิตที่ลดลง มากกว่าผู้ผลิตที่ผลิตรถยนต์วิ่งได้สั้นกว่า


ส่วนเรื่องภาษีแบตเตอรี่ ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ ปัจจุบันภาษีแบตเตอรี่ทุกประเภทจัดเก็บอัตราเดียวที่ 8% ทำให้ไม่จูงใจการผลิตและไม่ปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่ความจุน้อยและแบบความจุมากก็เก็บภาษีเหมือนกัน จะเปลี่ยนเป็นระบบภาษีขั้นบันได โดยอิงจาก 2 ปัจจัย (1) การชาร์ต (2) ประจุต่อน้ำหนัก จะต้องนำไปสู่การมีแบตเตอรี่น้ำหนักน้อยแต่จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้จำนวนมาก และเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนจะมีขั้นบันไดสำหรับแบตเตอรี่ทุกประเภทอย่างไร อยู่ระหว่างดำเนินการเขียนกฎหมายพิจารณา คาดว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ช้ากว่าภาษีรถยนต์ PHEV หรือประมาณช่วงไตรมาสที่ 2/2568 ซึ่งไทยคาดหวังว่าจะเกิดการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น