xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดรถเมืองลุงแซมระส่ำ นโยบายขึ้นภาษี Trump แผลงฤทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่มีการเปิดเผยออกมาอย่างไม่เป็นทางการในช่วงที่ Donald Trump ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาว่า เขาจะรื้อแผนการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ Joe Biden วางเอาไว้ ในตอนนี้ Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว และเขาก็เริ่มแผนการทำงานทันที โดยแม้ว่านโยบายที่ประกาศออกมาจะเป็นเรื่องของการขยับระดับของกำแพงภาษีที่จะมีผลต่อแคนาดา เม็กซิโก และจีนในเชิงการค้า แต่ทว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เต็มๆ เช่นกัน

ประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน อาจสร้างความเจ็บปวด "ในระยะสั้น" ให้กับชาวอเมริกัน เนื่องจากตลาดโลกสะท้อนถึงความกังวลว่าการจัดเก็บภาษีอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและกระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดย Trump กล่าวว่าเขาจะหารือกับผู้นำของแคนาดาและเม็กซิโกในต้นเดือนกุมภาพันธ์

เม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ 2 อันดับแรกของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ทันที ขณะที่จีนระบุว่าจะท้าทายการเคลื่อนไหวของทรัมป์ต่อองค์การการค้าโลก และจะใช้ "มาตรการตอบโต้" อื่นๆ

นอกจากนั้น เขายังกล่าวอีกว่าภาษีศุลกากรจะเกิดขึ้น “อย่างแน่นอน” กับสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อใด และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวว่าแผนของประธานาธิบดีพรรครีพับลิกันที่จะจัดเก็บภาษี 25% กับแคนาดาและเม็กซิโก และ 10% กับจีน จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงและส่งผลให้ราคาสินค้าของอเมริกันสูงขึ้น


Nissan, GM และ Volk เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

บริษัทวิจัย S&P Global Mobility ประมาณการว่ารถยนต์และปิกอัพขนาดเล็ก 3.6 ล้านคันที่ขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 22% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่ขายในอเมริกาปี 2024 ได้รับการผลิตในแคนาดาหรือเม็กซิโก และนั่นหมายความว่า งานนี้เจอกับผลกระทบจากนโยบายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

S&P Global ระบุว่าผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ "แทบทั้งหมด" จะได้รับผลกระทบจากนโยบายในครั้งนี้ โดยเชื่อว่าสัดส่วนของยอดขายรถยนต์แต่ละแบรนด์ในสหรัฐอเมริกาล้วนมีที่มาจากโรงงานในเม็กซิโก อย่าง Stellantis ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Jeep มีการนำเข้ารถยนต์ที่ประกอยในเม็กซิโกมาขายในสหรัฐอเมริกาถึง 23% ส่วน GM หรือ General Motors อยู่ที่ 22% Nissan 27% และ Volkswagen หนักสุด คือ 43%

โฆษกของ Nissan กล่าวว่าบริษัท "ไม่สามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่อาจเกิดขึ้นหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้" โฆษกของ Volkswagen Group เน้นย้ำถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในภาคการผลิตของสหรัฐฯ โดย Volkswagen ยังคง "สนับสนุนการค้าเสรีและเป็นธรรมอย่างแข็งขัน" และ "หวังที่จะสานต่อความร่วมมืออันยาวนานและสร้างสรรค์กับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป" พวกเขากล่าว

Stellantis ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ อีกหลายรายไม่ได้ตอบกลับคำขอแสดงความคิดเห็น



อุตสาหกรรม EV ได้รับผลกระทบแน่นอน

อุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการนี้ นอกจากนี้ การตัดสินใจดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ อีกด้วย

แนวโน้มดังกล่าวเป็นฝันร้ายอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งพึ่งพาเม็กซิโกและแคนาดาเป็นอย่างมากในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ทั้งคันมานานหลายทศวรรษ ภายใต้ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือก่อนหน้านั้น) ไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่ผ่านระหว่างสามประเทศ

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ผลิตรถยนต์หลายรายรายงานยอดขายเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีราคาจับต้องได้จำนวนมาก ปัจจุบัน การเติบโตดังกล่าวเสี่ยงที่จะหยุดชะงักหาก Trump ดำเนินการตามมาตรการภาษีที่เสนอไว้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย เช่น GM, Tesla, Ford, Honda, BMW และ Audi พึ่งพาโรงงานผลิตในพื้นที่ชายแดนทางใต้เป็นหลัก ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นอย่างยิ่ง

รถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมในปัจจุบัน เช่น Ford Mustang Mach-E, Chevrolet Equinox EV, Blazer EV และ Honda Prologue กำลังประกอบขั้นสุดท้ายในเม็กซิโก แม้ว่า Tesla จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา แต่ชิ้นส่วนบางส่วนมาจากเม็กซิโก เช่น Cybertruck ซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานในเม็กซิโกมากถึง 25% ขณะที่ Audi Q5 55e ใช้มากถึง 51%

ตามปกติแล้ว รถยนต์หลายรุ่นที่จำหน่ายอยู่ในสหรัฐอเมริกาจะมีฐานการผลิตอยู่ที่เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งสามารถนำเข้ามาได้ตามข้อกำหนดของเขตการค้าเสรี โดยจากรายงานของปี 2023 มีรถยนต์จำนวนมากถึง 2.55 ล้านคันที่นำเข้าจากโรงงานในเม็กซิโกมาขายในตลาดสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีของ Trump มากนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เนื่องจากรถยนต์เหล่านี้ยังคงใช้ชิ้นส่วนจากจีนเป็นส่วนประกอบในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าผลกระทบน่าจะมีไม่มาก เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่ของ 2 ชาตินี้จะผลิตที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เช่น Hyundai Ioniq 5 ผลิตขึ้นที่โรงงาน Metaplant ของ Hyundai Motor Group ในเมืองซาวันนา รัฐจอร์เจียแล้ว นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ของ Hyundai และ Kia ยังจะผลิตในสหรัฐอเมริกาในปีนี้ด้วย

CEO Rivian กังวลมาตรการนี้จะทำให้ตลาดชะงัก

R.J. Scaringe ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Rivian แบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้า กังวลต่อนโยบายที่ประธานาธิบดี Trump ประกาศออกมา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงไม่เฉพาะเรื่องอัตราการเติบโตของตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตของบรรดาซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ที่อยู่ในเม็กซิโก และแคนาดาด้วย

“ในบางแง่แล้ว เรื่องนี้มีผลกระทบที่ใหญ่กว่ามาก ใหญ่กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเครดิตภาษี IRA เสียอีก” Scaringe กล่าวกับนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างถึงกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อปี 2022 ซึ่งมีนโยบายที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า และ Trump โจมตีนโยบายนี้มาแล้วหลายครั้ง “มีการลงทุนเงินจำนวนมากมายมหาศาลในเม็กซิโกสำหรับกำลังการผลิตสำหรับห่วงโซ่อุปทานที่จัดหาสินค้าให้กับเราทุกคน ซึ่งจะต้องมีการสร้างแผนใหม่ มิฉะนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น”

“ถึงตอนนี้ คงไม่มีบริษัทผลิตรถยนต์แห่งใดในโลกที่จะไม่คิดถึงเรื่องการย้ายห่วงโซ่อุปทานกันแล้ว” Scaringe กล่าวเสริม

Scaringe กล่าวว่า Rivian โชคดีที่ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าของแบรนด์ ส่วนใหญ่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐอเมริกา แต่รถยนต์พลังไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นคือ R1S SUV รถกระบะ R1T และรถตู้เชิงพาณิชย์ EDV ก็ผลิตจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในมลรัฐอิลลินอยส์ และทางแบรนด์ยังมีแผนสร้างโรงงานแห่งที่สองในจอร์เจีย

ถือเป็นข่าวใหญ่รับต้นปี 2025 เลยสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์โลก และแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ใช่ตลาดเบอร์ 1 ของโลกในแง่ตัวเลขยอดขาย แต่ก็ยังเป็นตลาดใหญ่ที่มียอดขายในระดับกว่า 10 ล้านคันต่อปี และมีบริษัทรถยนต์จากทั่วทุกมุมโลกไปตั้งโรงงาน หรือ R&D อยู่ที่นี่ ซึ่งจากนโยบายตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ของ Trump น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตลาดรถยนต์อเมริกันปั่นป่วนอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น