การร่วมมือเป็นพันธมิตรของ ฮอนด้า , นิสสัน และ มิตซูบิชิ อาจจะเป็นข่าวฮ็อตรับปลายปีสำหรับโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งเวลาผ่านไป หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นแล้วว่า การร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่ายอาจจะไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดนัก และยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้นมิตซูบิชิที่ในตอนแรกประกาศแบ่งรับแบ่งสู้ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร และจะให้คำตอบอีกครั้งช่วงต้นปี 2025 ว่าจะเซย์เยส หรือเซย์โนนั้น แหล่งข่าวยืนยันออกมาแล้วว่า มีโอกาสที่จะเป็นคำกล่าวข้อหลังสูงมาก เหลือเพียงแค่การประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง
Mitsubishi (อาจ) ไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ในการแถลงข่าวเมื่อปลายปี 2024 นั้น ดูเหมือนว่าสปอตไลท์จะจับจ้องเฉพาะ ฮอนด้า และ นิสสัน โดยที่มิตซูบิชิเป็นส่วนประกอบของความร่วมมือครั้งนี้ และพวกเขาเองก็ประกาศชัดเจนว่าจะขอดูความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งอีกทีในภายหลัง
และเมื่อปลายเดือนมกราคม แหล่งข่าวภายในของมิตซูบิชิ ได้กล่าวกับ Reuter ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่มิตซูบิชิ อาจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนี้ โดยมิตซูบิชิวางแผนที่จะยังคงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ขณะที่ยังคงมีความสัมพันธ์ความร่วมมือกับทั้ง 2 บริษัทในด้านต่างๆ ที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันมาก่อน
แม้ว่าฮอนด้า และ นิสสัน ประกาศว่า การร่วมมือในการเป็นพันธมิตรครั้งนี้อาจก่อให้เกิดกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมียอดผลิตประจำปี 7.4 ล้านคัน แต่สุดท้ายแล้ว กลับไม่ส่งผลต่อราคากหุ้นในระยะยาวได้เลย และเมื่อเข้าสู่ช่วงปีใหม่ โดยล่าสุดหุ้น มิตซุบิชิ ลดลง 3.9% ช่วงพักเที่ยง หลังจากร่วงลงกว่า 6% ในการซื้อขายช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนหุ้น นิสสัน ลดลง 0.7% และหุ้น ฮอนด้า ลดลง 0.1%
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผลในเรื่องการปฏิเสธเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้ แต่เชื่อว่า การที่ มิตซูบิชิ เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเล็ก และไม่ได้มีอิทธพลในการกำหนดแนวทางและทิศทางในเชิงนโยบายที่ชัดเจนของกลุ่มพันธมิตร น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอ
ตอกย้ำชัดถึงความเห็นของ Ghosn
ข่าวที่ยังไม่เป็นทางการในการไม่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรของ มิตซูบิชิ นั้น ยิ่งทำให้ความเห็นของ Carlos Ghosn อดีตนายใหญ่หนีคดีของ นิสสัน มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยในช่วงที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรเมื่อปลายปี 2024 นั้น Ghosn ได้ให้ความเห็นว่า ‘เป็นการจับมือที่สูญเปล่า’
“จากมุมมองด้านอุตสาหกรรม มีความซ้ำซ้อนในทุกที่ระหว่างทั้ง 2 บริษัท’ Ghosn กล่าว โดยยืนยันว่าการเสริมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นในการควบรวมกิจการ แต่ระหว่าง ฮอนด้า และ นิสสัน ไม่มีเลย “หากการควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น ... ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ” เขากล่าวเสริมทางออนไลน์จากเลบานอน ซึ่งเป็นที่ที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน
ที่สำคัญ คือ ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้มีศักยภาพในการส่งเสริมซึ่งกันและกันในการทำงานเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นแค่ผู้เล่นในตลาดระดับกลางๆ ที่จับมือกันเพื่อความหวังที่จะสร้างความได้เปรียบ
ทั้ง 2 บริษัทมีเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (191 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และมีการประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานอาจจะมีมากกว่า 3 ล้านล้านเยนผ่านการควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฮบริด (HV) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากสำหรับ นิสสัน ที่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจตกต่ำอย่างมากเนื่องมาจากไม่สามารถนำรถไฮบริดเข้ามาจำหน่ายในอเมริกาเหนือได้
The show must go on แม้ไม่มี Mitsubishi
แม้จะยังรอแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ และมีแนวโน้มสูงว่าจะไม่มีชื่อของ มิตซูบิชิ อยู่ในกลุ่มพันธมิตรนี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายก็เชื่อว่า การจับมือของ ฮอนด้า และ นิสสัน ยังจะต้องเดินหน้าต่อไป และเมื่อดูจากการแถลงข่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็พอจะบอกนัยๆ ถึงสิ่งที่ มิตซูบิชิ มีต่อการรวมตัวกันในครั้งนี้
‘จากแถลงการณ์ของ ฮอนด้า และ นิสสัน ในงานเมื่อปลายปี 2024 เราแทบจะไม่ได้เห็นบทบาทของ มิตซูบิชิ ที่อยู่ในนั้นเลย มันเหมือนกับว่า โปรเจ็กต์นี้เป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ค่ายมากกว่า 3 ค่าย’ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์รายหนึ่งให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่มีชื่อของ มิตซูบิชิ อยู่ในกลุ่มพันธมิตร แต่ ฮอนด้า และ นิสสัน ยังเดินหน้าต่อไป โดยตาม Timeline ที่ประกาศออกมานั้น ทั้ง ฮอนด้า และ นิสสัน มุ่งหวังที่จะสรุปการเจรจากันในเดือนมิถุนายน 2025 ก่อนที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาภายในเดือนสิงหาคม 2026 หรือหลังจากที่หุ้นของทั้ง 2 บริษัทจะถูกเพิกถอนออกจากการจดทะเบียน
งานช้างรออยู่ที่ตลาดจีน
มีการวิเคราะห์ว่า ถ้าการเดินหน้าในเรื่องความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี และมีแนวโน้มที่เป็นไปได้สูง แต่งานช้างที่รออยู่สำหรับทั้งคู่คือ การกอบกู้ยอดขายของตัวเองในตลาดรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนให้ได้โดยเร็วที่สุด
จากรายงานล่าสุดมการระบุว่า ช่วง 12 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทขายรถยนต์ได้ 2 ล้านคันในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นรองเพียงยอดขายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังน้อยกว่ายอดขายเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 1 ใน 3 ทั้งที่ตลาดรถยนต์ในจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อดูจากตัวเลขรายได้แล้ว พบว่า ปี 2023 บริษัทร่วมทุนระหว่าง นิสสัน และ Dongfeng Motor มีรายได้ลดลง 95% เหลือ 447 ล้านหยวน (61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ ฮอนด้า ซึ่งเปิดบริษัทร่วมทุนกับ Dongfeng Motor เช่นกัน ก็ลดลงถึง 90% เลยทีเดียว
การดำเนินการในจีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจช่วยให้ ฮอนด้า และ นิสสัน พยายามไล่ตามบรรดาคู่แข่งที่ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าออกมาขายให้ได้ โดยทั้ง 2 บริษัทกำลังพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 10 รุ่นเพื่อขายในจีน แต่เนื่องจากพวกเขามีฐานลูกค้าที่คล้ายคลึงกัน ตรงนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ แม้ว่าการเป็นพันธมิตรจะช่วยให้เอื้อต่อเรื่องของการลดต้นทุนทั้งเวลาและเงินในการพัฒนารถยนต์ได้ก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่าพันธมิตรร่วมทุนอาจกลายเป็นอุปสรรคได้ง่ายเช่นกัน เพราะเงื่อนไขความร่วมมือนั้นไม่ชัดเจน ทำให้ยากต่อการตัดสินว่าการปรับโครงสร้างนั้นเหมาะสมกับสภาพการณ์ของตลาดหรือไม่ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรในจีน แม้ว่า Dongfeng และ GAC จะเต็มใจในการเดินหน้าทำงานร่วมกับทั้ง นิสสัน และฮอนด้าต่อไปก็ตาม แต่กระบวนการนี้ก็ยังคงยุ่งยากและใช้เวลานาน จนทำให้อาจจะสายเกินไปในการกลับเข้ามาสู่ตลาดอีกครั้ง
นี่คืออีกโจทย์ที่ ฮอนด้า และ นิสสัน จะต้องรีบจัดการและหาความชัดเจนให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรกัน