ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ข่าวและกระแสของรถยนต์พลังไฟฟ้าถูกโหมกระหน่ำ จนตลาดเกิดดีมานด์แบบฟองสบู่ แถมผู้ผลิตรถยนต์ป้อนซัพพลายเข้าสู่ตลาดก็พร้อมใจกันกระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้แบบไม่รอบคอบเพียงเพราะกลัวตกขบวน ซึ่งในที่สุด ตัวแปรที่ไม่มีใครคาดคิดอย่างรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนที่มีราคาเข้าถึงได้ จะทำให้ทุกคนเริ่มคิดว่าคู่แข่งไม่ได้มีแค่หน้าเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน แต่ยังมีจีนที่พร้อมรบและชิงตลาดด้วยกลยุทธ์ที่จัดเต็มเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ
ประมาณปีที่แล้ว มีการวิเคราะห์ว่า แนวโน้มว่าตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในจีนสำหรับปี 2025 น่าจะเริ่มอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น การเติบโตน่าจะเป็นในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่การก้าวออกสู่ตลาดข้างนอกอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกาของบรรดาแบรนด์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกับบางภูมิภาคหรือบางประเทศ น่าจะเป็นข้อจำกัดที่พวกเขาต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และในช่วงเดียวกันนั้น เราก็ได้เห็นหลายบริษัทรถยนต์เริ่มมองหาสิ่งที่จะเป็น ‘ทางเชื่อม’ ของยุคสมัยในการใช้รถยนต์กันมากขึ้น และไม่ตะบี้ตะบันกันทุ่มงบประมาณลงไปในโปรเจ็กต์ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบบ้าเลือดเหมือนกับที่ผ่านมา
ไฮบริดรูปแบบต่างๆ และการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงสะอาดอย่าง e-Fuel ถูกจับตามองมากขึ้นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยุคที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบ 100% มาเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ 100% หรืออย่างล่าสุดทางโตโยต้า เองที่เคยมุ่งมั่นกับเทคโนโลยีไฮโดรเจนก็ต้องเบรกและกระจายความเสี่ยงออกสู่ทางเลือกสำหรับการขับเคลื่อนในอนาคตด้วยรูปแบบอื่นๆ และล่าสุดก็มีคำว่า Green Fuel ปรากฏขึ้นมา
หาทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการพึ่งพลังไฟฟ้า
ด้วยแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ และผู้บริโภคในการลดการปล่อยมลพิษและความต้องการรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จึงพยายามสร้างเครื่องยนต์ทางเลือกที่จะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทหลายแห่งไม่เพียงแต่เน้นที่รถยนต์พลังไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเท่านั้น แต่ยังมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพและเชื้อเพลิงสังเคราะห์ เข้ามาทดแทนอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นชื่อ e-Fuel หรือ Green Fuel แต่ทั้ง 2 แบบมีเป้าหมายคือ การเป็นทางเลือกในการขับเคลื่อนโดยที่โลกของการเดินทางไม่ต้องเปลี่ยนผ่านแบบพลิกฝ่ามือ เพราะอย่าลืมว่า จริงอยู่ที่ข้อกำหนดต่างๆ จากการประชุมขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ จะมีการระบุในเรื่องของกรอบในการทำงานที่ทุกประเทศจะต้องเดินตามในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะต้องเป็น 0 ในปี 2050 แต่การไปถึงจุดนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบเฉียบพลัน ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมาแน่นอน เพราะโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ประกอบไปด้วยหลายส่วนหลายภาคธุรกิจ และในบางประเทศ ส่วนประกอบเหล่านี้คือ ตัวขับเคลื่อนหลักในภาคเศรษฐกิจกันเลยทีเดียว
นวัตกรรมเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่ง ในขณะที่ยังคงมอบสมรรถนะสูงและความสามารถในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้าและไฮโดรเจนยังคงได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และกว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและง่ายดายเหมือนกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในยังต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้น การนำโซลูชันทางเลือกเหล่านี้มาใช้จึงคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตของยานยนต์ที่สะอาดขึ้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป็นไปได้สำหรับผู้บริโภคทั่วโลก
โตโยต้า เริ่มต้นด้วยไฮโดรเจนเพื่อปลายทางที่เป็นไฮโดรเจน
ไม่ใช่ว่าโตโยต้าไม่สนใจรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ 100% แต่พวกเขาเลือกกระจายความเสี่ยงออกไปยังเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจจะสามารถเติบโตได้ในอนาคตเมื่อมีความพร้อมของปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้งานได้อย่างสะดวก เทคโนโลยีไฮบริด และไฮโดรเจนยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ที่น่าสนใจคือ พวกเขาหันกลับมามองเครื่องยนต์สันดาปภายในมากขึ้น
โตโยต้า มุ่งมั่นที่จะเปิดตัวเครื่องยนต์สันดาปภายในรุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ Green Fuel หรือเชื้อเพลิงสีเขียว เช่น ไฮโดรเจนและไบโอเอธานอล ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างไม่ธรรมดา โดย Suzuki Motors ยกย่องโครงการนี้ว่าเป็น "การฟื้นคืนชีพให้กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน" โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเชื้อเพลิงที่หลากหลายยิ่งขึ้นในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเครื่องยนต์แบบดั้งเดิม
เครื่องยนต์สันดาปภายในรุ่นใหม่จากโตโยต้าจะมีน้ำหนักเบากว่า กะทัดรัดกว่า ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมและออกแบบมาเพื่อเสริมการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าในรถยนต์ไฮบริด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโตโยต้าไม่ใช่บริษัทแรกที่ดำเนินการดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงสีเขียว แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่รายแรกที่ดำเนินการด้วยการนำเสนอทางเลือกของการลดมลพิษที่แตกต่างจากที่ผ่านมา
“เครื่องยนต์ได้รับการปรับให้เหมาะสมสำหรับยุคที่รถยนต์พลังไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยม” Koji Sato ซีอีโอของโตโยต้ากล่าวว่า โดยเขาคาดหวังว่าเครื่องยนต์ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ทั่วโลก
นอกจากนั้น Green Fuel ไม่ต้องการอะไรมากมายในแง่ของการผลักดันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้า ดังนั้นบริษัทจึงไม่จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะตัวเชื้อเพลิงนี้มีประสิทธิภาพและเข้ากันได้กับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่แล้วในตลาด อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของรถยนต์ประเภทไฮบริดให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
แน่นอนว่าขุมพลังรุ่นใหม่นี้จะมอบประสิทธิภาพที่สะอาดขึ้นในขณะที่ยังคงความรู้สึกคุ้นเคยและประสบการณ์การขับขี่ของเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิมไว้ ที่น่าสนใจคือ การที่โตโยต้าเลือกใช้ไฮโดรเจนมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการเผาไหม้ ซึ่งทั้งหมดถูกมองว่าเป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่ปลายทางนั้น คือ การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Fuel Cell ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานีบริการเพื่อเติมไฮโดรเจน
‘แผนงานของพวกเขาค่อนข้างชัดเจนและมีเส้นทางที่เห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วปลายทางคืออะไร’ นักวิเคราะห์ของ eldiario 24สื่อทางด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมกล่าว ‘ในปัจจุบัน ไฮโดรเจนยังไม่สะดวกในเรื่องของการใช้งาน เพราะนอกจากจำนวนรถยนต์ที่อยู่บนท้องถนนยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการสร้างสถานีบริการแล้ว ยังมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ไฮโดรเจนในรูปแบบของเซลล์เชื้อเพลิงคือสิ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้เท่านั้นเอง’
จุดเริ่มต้นที่เป็นจริงเพื่อการผลักดันในวงกว้าง
หลังจากผ่านช่วงเวลาของความวุ่นวายจากการเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้าในช่วง 3-4 ปีผ่านมา ในตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่รูปแบบของการขับเคลื่อนของคนใช้รถยนต์ทั่วโลกจะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในช่วงเวลาของรอยต่อแห่งการเปลี่ยนผ่าน การนำเสนอของโตโยต้ากับโปรเจ็กต์ Green Fuel Engine จะมีส่วนอย่างมากในการปรับแนวคิดของทั่วโลก ไม่เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนใช้รถใช้ถนน
Takahiro Fujimoto ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ เชื่อว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าเป็นโซลูชันสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ เช่น การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักปล่อยมลพิษในปริมาณมาก และในญี่ปุ่นเอง มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย เช่น ผู้คนหันมาใช้รถไฟในการเดินทางทั้งระยะสั้นและในเมือง รถไฟอาจเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสำหรับการขนส่ง ฟูจิโมโตะกล่าว
“อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่าการขยายตัวและนวัตกรรมของรถยนต์ไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ใช่แบบปัจจุบันทันด่วน” เขากล่าว “ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงสภาพสังคม การเมือง และตลาด ซึ่งความเป็นกลางทางคาร์บอนที่โลกกำลังมุ่งหวังนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า มันจะเป็นการแข่งขันมาราธอนแน่ๆ และเราจะเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีสักอย่างเข้ามาช่วยเติมเต็มในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน”
แน่นอนว่า การวางแผนและผลักดันให้โปรเจ็กต์เดินหน้าและกลายเป็นจริงของ โตโยต้า มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อแบรนด์อื่นๆ ให้หันมาสนใจ Green Fuel ซึ่งจะเป็นทางสายกลางระหว่างไฟฟ้าและเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีหลากหลายทางเลือกของขุมพลังเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มีความราบรื่น
ที่สำคัญจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากับทั้งองคายพของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั่วโลก เพราะแค่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ในญี่ปุ่น มีแรงงานรวมกันอยู่ถึง 5.5 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว นี่คืออีกโจทย์ที่ท้าทายและมองข้ามไม่ได้เลย