xs
xsm
sm
md
lg

สุดทุกทาง จีนใช้เวลา 5 ปี จากผู้ตาม สู่ผู้นำตลาดอีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้เริ่มต้นอย่างเชื่องช้า แต่อุตสาหกรรมอีวีจีนสามารถปฏิรูปตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง จากผู้ที่ถูกทิ้งอยู่ท้ายแถวกลายมาเป็นผู้นำโลกในเวลาเพียง 5 ปี และเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่นๆ

ปี 2020 จีนเพิ่งเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านสู่รถพลังงานไฟฟ้าและล้าหลังประเทศอื่นๆ มาก ด้วยส่วนแบ่งตลาดแค่ 5.4% ของยอดขายรถทั้งหมดในประเทศ น้อยกว่ารัฐแคลิฟอร์เนียหรือแม้แต่ประเทศที่มีอัตราการยอมรับอีวีต่ำอย่างโรมาเนีย แม้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 4.6% ในปีนั้นก็ตาม

จีนกำหนดเป้าหมายถ่อมตัวแค่อีวีต้องมียอดขาย 50% ของยอดขายรถทั้งหมดในปี 2035 โดยที่ 50% นั้นอาจเป็นไฮบริดหรือปลั๊ก-อินไฮบริดด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นรถที่ไม่ใช้น้ำมันทั้งหมด ขณะที่ตอนนั้นทั้งแคลิฟอร์เนียและยุโรปตั้งเป้าสวยหรูว่า จะยุติการขายรถใช้น้ำมันภายในปี 2035

มาตอนนี้ขณะที่ปี 2025 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น มีแนวโน้มว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวก่อนเวลาถึง 10 ปี ความสำเร็จนี้สะท้อนว่า จีนสามารถทำอะไรได้บ้างถ้าตั้งใจจะทำ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ล้มเหลวในการไล่ตามให้ทันเพราะต้องเผชิญการโต้เถียงและคัดค้านจากบริษัทรถและภาครัฐที่เป็นศัตรูกับเทคโนโลยีที่ดีกว่า


อิเล็กเทร็ครายงานว่า ปี 2022 เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอีวีจีน ตอนนั้นจีนรับมือการเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น ส่งผลให้ยอดขายรถดิ่งฮวบเช่นเดียวกับทั่วโลก

แต่เมื่อยอดขายฟื้น จีนเริ่มหันกลับมามองในประเทศมากขึ้น ทว่า ขณะที่บริษัทอีวีจีนเร่งความเร็วและคุณภาพในการผลิต (หลังจากช่วงหนึ่งทศวรรษแห่งนโยบายอุตสาหกรรมอันชาญฉลาดที่โฟกัสที่ซัปพลายแร่และการส่งเสริมผู้ผลิตภายในประเทศ) ทั่วโลกกลับเอาแต่กล่าวโทษจีนทุกเรื่อง เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ตอนนั้นหาว่า ปักกิ่งไม่พยายามมากพอ แต่พักหลังกลับค่อนแคะว่า พยายามมากเกินไป

ขณะเดียวกัน การปิดกั้นเทคโนโลยีและการขู่รีดภาษีศุลกากรกระตุ้นให้เลือดรักชาติของพี่น้องจีนพุ่งพล่าน และผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าภายในประเทศมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวบวกกับกฎการปล่อยมลพิษใหม่ของจีนที่ผู้ผลิตรถจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไม่ได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม ทั้งที่มีการประกาศล่วงหน้าตั้งแต่ 7 ปีก่อนก็ตาม ส่งผลให้รถเครื่องยนต์สันดาปขายไม่ออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถแบรนด์นอก และเป็นสัญญาณเตือนทิศทางอนาคตของตลาดรถประเภทนี้



แม้สามารถขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎนี้ แต่ตัวแทนจำหน่ายรถในจีนกลับขอเวลา 6 เดือนในการเคลียร์รถค้างสต็อก และขอให้ผู้ผลิตรถกำหนดทิศทางและเร่งการผลิตอีวีให้เร็วขึ้น

ด้วยความมุ่งมั่นนี้ ปี 2024 จีนจึงกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของโลก แทนที่ญี่ปุ่นที่ยึดตำแหน่งนี้มานับสิบปี
ในทางกลับกัน ทั้งผู้ผลิตรถและภาครัฐของตะวันตกและญี่ปุ่นกลับพยายามถ่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสู่อีวี รวมทั้งใช้มาตรการกีดกันการค้าเพื่อสกัดอีวีจีน แทนที่จะเข้าเกียร์เดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเริ่มต้นขึ้นแล้ว

เพราะไม่ใช่จีนเท่านั้นที่ยอดขายและอัตราการยอมรับอีวีพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีบริษัทและรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้และใช้แนวทางที่ยืดหยุ่น แทนที่จะดึงดันต้านทานกระแส ตัวอย่างเช่นนอร์เวย์ที่กำหนดเป้าหมายยุติการขายรถใช้น้ำมันในปี 2025 และปี 2021 อีวีในประเทศนี้ครองยอดขายถึง 90% ของยอดขายรถทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนคือมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลและการแข่งขันที่ดุดันไม่มีวี่แววเบาลง

เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์คาดว่า มาตรการอุดหนุนที่รัฐบาลจีนมอบให้ผู้ซื้ออีวีมูลค่า 20,000 หยวน (93,000 บาท) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนั้น จะทำให้ยอดขายลดลงและสถานการณ์ทางการเงินของผู้ผลิตอีวีขนาดเล็กและผู้ผลิตที่ไม่มีกำไรเลวร้ายกว่าเดิม ท่ามกลางภาวะรถล้นตลาดและการแข่งขันรุนแรงที่นำไปสู่จุดต่ำสุดในอุตสาหกรรม



อิริก ฮั่น ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา Suolei ในเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า แบรนด์รถทุกแห่งเข้าใจว่า จำเป็นต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดในปี 2025 เนื่องจากสงครามราคาจะรุนแรงขึ้น และส่วนใหญ่จะเสนอส่วนลดเพื่อให้อยู่รอดจากสงครามนี้

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บีวายดี ผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดในโลก ลดราคาเอสยูวีไฮบริด Sealion 05 ลง 11.5% อยู่ที่ 99,800 หยวน (466,000 บาท) เพื่อดึงดูดลูกค้าก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่เทสลาลดราคา Model Y 10,000 หยวน (46,700 บาท) จาก 249,900 หยวน (1.1 ล้านบาท)

เถียน เหมาเว่ย ผู้จัดการฝ่ายขาย Yiyou Auto Service ในเซี่ยงไฮ้ คาดว่า กลยุทธ์การตัดราคาของผู้เล่นชั้นนำจะทำให้คู่แข่งขนาดเล็กต้องลดราคาตามเพื่อดึงลูกค้าไว้ เนื่องจากชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับราคามากขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ต้นเดือนธันวาคม กุ่ย เซิงเย่ว์ ซีอีโอจีลี่ ออโตโมบิล โฮลดิ้งส์ ให้สัมภาษณ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ว่า เมื่อมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลสิ้นสุดลง ยอดขายรถในจีนโดยรวมจะดิ่งลง และเสริมว่า ยอดขายปี 2024 อาจพุ่งสูงสุดจากมาตรการอุดหนุนนี้

อนึ่ง จากข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (ซีพีซีเอ) ยอดขายรถยนต์นั่งในช่วง 11 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 4.7% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็น 20.26 ล้านคัน



พอล กง นักวิเคราะห์ของยูบีเอส คาดการณ์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนว่า สงครามราคาที่จะเกิดขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนจะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2024

ซีพีซีเอระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2024 มีรถที่ลดราคาทั้งหมด 195 รุ่น ซึ่งรวมทั้งรถเครื่องยนต์สันดาป รถพลังงานไฟฟ้า 100% และไฮบริด จากกว่า 150 รุ่นในช่วงเดียวกันปี 2023 โดยราคารถพลังงานไฟฟ้าลดลง 10% หรือ 20,000 หยวน (93,000 บาท) ขณะที่ไฮบริดลดลง 4.3% หรือ 10,500 หยวน (49,000 บาท)

จากข้อมูลในอุตสาหกรรม ในบรรดาผู้ผลิตอีวีในจีน 50 รายหรืออาจมากกว่านั้น มีเพียงบีวายดี, หลี่ ออโต้ และไอโตะที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย เทคโนโลยีส์เท่านั้นที่ทำกำไรได้

ทั้งนี้ ขณะที่สงครามราคากำลังบีบเค้นส่วนต่างกำไร นักวิเคราะห์แนะนำว่า ค่ายรถควรร่วมมือกันและหลีกเลี่ยงการลดราคาเพื่ออุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากการลดราคาจะนำไปสู่การขาดทุนมหาศาล



กำลังโหลดความคิดเห็น